แม้ว่าจีนไม่ได้เป็นสมาชิกในการพัฒนา “สถานีอวกาศนานาชาติ” แต่ยักษ์ใหญ่แดนมังกรก็พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นเองและประสบความสำเร็จอย่างมั่นคง ซึ่งหลังจากส่งโมดูลอวกาศขึ้นสู่วงโคจรและส่งยานขึ้นไปทดสอบการเชื่อมต่อกับโมดูลสำเร็จได้แล้ว ก้าวต่อไปคือการส่งยานพร้อมมนุษย์ขึ้นไปเชื่อมต่อโมดูลอวกาศ ปูทางสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง
สเปซด็อทคอมรายงานความเห็นทั้งสื่อจีนและผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศว่าภารกิจที่จีนจะส่งมนุษย์ 3 คนไปพร้อมกับยานเสินโจว (Shenzhou 9) เพื่อเชื่อมต่อกับโมดูลอวกาศเทียนกง 1 (Tiangong 1) ในวงโคจร ตามกำหนดวันที่ 16 มิ.ย.2012 นี้ถือเป็นอีก “ก้าวสำคัญ” ของจีน ในการทดสอบระบบต่างๆ ก่อนสร้างสถานีอวกาศของตัวเอง โดยเทียนกง1 มีกำหนดตกสู่ชั้นบรรยากาศในปี 2013
ทั้งนี้ จรวดฉังเจิง (ChangZheng) หรือจรวดลองมาร์ช 2 เอฟ (Long March 2 F) จะนำยานเสินโจว 9 ทะยานขึ้นจากศูนย์ปล่อยจรวดจิ่วเฉวียน (Jiuquan Satellite Launch Center) ทางฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ซึ่งปฏิบัติการครั้งนี้เป็นครั้งแรกของจีนในการส่งมนุษย์ขึ้นไปเชื่อมต่อยานอวกาศในวงโคจร และยังเป็นเที่ยวบินแรกสำหรับมนุษย์อวกาศจีนซึ่งเป็นผู้หญิง
ตอนนี้จีนเข้าสู่ช่วงเตรียมพร้อมสุดท้ายก่อนส่งจรวด โดยประสบความสำเร็จในการฝึกซ้อมอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการต่อยอดความสำเร็จนับตั้งแต่การส่งโมดูลเทียนกง 1 ขึ้นสู่วงโคจรได้เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่ผ่านมา และถัดจากนั้นไม่นานในเดือน พ.ย.จีนได้ส่งยานอวกาศไร้คนขับเสินโจว 8 ขึ้นไปเชื่อมต่อกับโมดูลอวกาศสำเร็จ
จากรายงานทั้งของสื่อจีนและอีกหลายเว็บไซต์ที่จับตาภารกิจอวกาศของจีนในครั้งนี้ สเปซด็อทคอมระบุว่าเสินโจว 9 จะทะยานฟ้าในวันที่ 16 มิ.ย.พร้อมกับมนุษย์อวกาศหญิงวัย 32 ปี คือ หวัง ย่าผิง (Wang Yaping) ซึ่งเป็นกัปตันกองทัพอากาศ และลูกเรืออีก 2 คน โดยมี หลิว หยัง (Liu Yang) จากกองทัพอากาศจีนเช่นกันเป็นตัวสำรองลูกเรืออวกาศหญิงคนแรกของจีน
ในมุมของ มาร์เซีย สมิธ (Marcia Smith) นักวิเคราะห์นโยบายอวกาศ ผู้ก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการเว็บไซต์ SpacePolicyOnline.com ให้ความเห็นว่าโมดูลเทียนกง 1 ของจีนนั้นถือเป็นสถานที่พักพิงในวงโคจรราคาถูก เพราะมีขนาดประมาณรถโดยสารคันหนึ่งและหนักเพียง 8.5 ตัน ขณะที่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) นั้นมีน้ำหนักประมาณ 400 ตัน
สมิธกล่าวว่า เทียนกง1 นั้นมีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับสถานีอวกาศนานาชาติ หรือแม้แต่สถานีอวกาศลำแรกของอดีตสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ แต่ถึงอย่างนั้นก็นับเป็นจุดเริ่มต้นสำหรับภารกิจระยะยาวของจีนในวงโคจร ซึ่งหากทำได้สำเร็จก็จะเป็นความภาคภูมิใจของจีนเอง และบอกด้วยว่าจีนเยื่องย่างอย่างช้าๆ ในโครงการอวกาศแต่ก็มั่นคง ซึ่งสหรัฐฯ เองก็ควรเรียนรู้ยุทธศาสตร์ระยะยาวของจีน เลือกสิ่งที่จะเป็นโครงการระยะยาวและแน่วแน่ในสิ่งที่เลือก
ด้าน โจอัน จอห์นสัน ฟรีส (Joan Johnson-Freese) ศาตราจารย์จากกิจการความมั่นคงสหรัฐฯ แห่งวิทยาลัยการรบนาวิกโยธิน (Naval War College) ในนิวพอร์ท สหรัฐฯ ให้ความเห็นส่วนตัวว่า การส่งยานอวกาศของจีนในครั้งนี้มีความสำคัญในแง่การรักษาพันธกิจของจีนในการวางเป้าหมายโครงการอวกาศ 3 ขั้นมาตั้งแต่ยุค 90 ซึ่งความอดทนนั้นช่วยหนุนการดำเนินโครงการระยะยาวของจีนได้เป็นอย่างดี ส่วนในแง่เทคโนโลยีนั้นไม่มีอะไรมาก เพราะจีนได้สาธิตให้เห็นเทคโนโลยีการเชื่อมต่อยานในอวกาศไปแล้ว
“การส่งผู้หญิงขึ้นไปในภารกิจนี้ก็เพื่อดึงความสนใจจากสื่อต่างชาติได้มากกว่าวิธีใดๆ และยังสร้างความสุขใจให้แก่ประชากรครึ่งหนึ่งของประเทศที่มีคนมากถึง 1.3 พันล้านคน และเหมา (Mao) เคยพูดไว้ว่าผู้หญิงครองสวรรค์อยู่ครึ่งหนึ่งด้วย” จอห์นสัน-ฟรีสให้ความเห็นแก่สเปซด็อทคอม
ขณะที่ ดีน เฉิง (Dean Cheng) ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองและความมั่นคงจีนจากมูลนิธิมรดก (The Heritage Foundation) ของสหรัฐฯ ให้ความเห็นว่า การส่งจรวดของจีนครั้งนี้เป็นเรื่องใหญ่ เพราะจีนมีเป้าหมายสำคัญในการสร้างสถานีอวกาศให้ได้ภายในปี 2020 และการส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์ ซึ่งเป้าหมายเหล่านั้นต้องอาศัยความสามารถในการเชื่อมต่อยานบนวงโคจร และการทดลองในสภาพแรงโน้มถ่วงต่ำ
แม้ว่าจีนจะสาธิตให้เห็นความสามารถในการเชื่อมต่อยานแบบไร้คนขับแล้ว แต่จีนยังต้องสาธิตความสามารถของยานที่มีคนขับด้วย หากต้องการใช้เทียนกง 1 เป็นสะพานไปสู่การสถานีอวกาศ หรือแม้กระทั่งการเดินทางสู่ดวงจันทร์ ซึ่งการส่งจรวดครั้งนี้เป็นภารกิจส่งมนุษย์ขึ้นสู่วงโคจรครั้งที่ 4 ของจีน ดังนั้น ยังมีก้าวต่อๆ ไปบนทางเส้นทางอันยาวไกลกว่าที่จีนจะไปถึงเป้าหมาย
ส่วน เกรเกอรี กูแลคกี (Gregory Kulacki) นักวิเคราะห์อาวุโสและผู้จัดการโครงการจีนจากโครงการความมั่นคงโลก (Global Security Program) แห่งสภาพนักวิทยาศาสตร์ที่มีจิตสำนึกทางสังคม (Union of Concerned Scientists) กล่าวถึง ภารกิจอวกาศที่กำลังจะเกิดขึ้นว่า เป็นก้าวตรงกลางในโครงการก่อสร้างสถานีอวกาศจีนที่มีแผนนาน 30 ปี
ทั้งนี้ จีนได้ก้าวตามแผนระยะยาวที่ได้วางไว้เมื่อ 2 ทศวรรษที่แล้ว ซึ่งมีเป้าหมายในการสร้างสถานีอวกาศที่จะมีขนาดใกล้เคียง “สกายแล็บ” (Skylab) สถานีอวกาศแห่งแรกของสหรัฐฯ ที่โคจรรอบโลกอยู่ในยุค 70 โดยแผนสร้างสถานีอวกาศของจีนนี้เริ่มต้นในปี 1986 จากการระดมความคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญจีนหลายร้อยคนในหลายสาขาและหลายสถาบันชั้นนำของจีน
อย่างไรก็ดี กูแลคกีคาดว่าต้องใช้เวลาอีกเป็นศตวรรษกว่าที่จีนจะสร้างสถานีอวกาศของตัวเองได้สำเร็จ เพราะยังมีงานยากๆ และเสี่ยงอันตรายอีกมากที่รออยู่ และผู้นำในโครงการอวกาศจีนก็ไม่ได้แสดงอาการเร่งรีบในการทำโครงการ และไม่ต้องแข่งกับสหรัฐฯ ในการไปเยือนดวงจันทร์หรือที่อื่นๆ ในอวกาศ
***อัพเดต!***
ในปฏิบัติการจริง หลิว หยัง วัย 34 ปี คือ นักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีนที่เดินทางสู่วงโคจรไปพร้อมยานเสินโจว 9