xs
xsm
sm
md
lg

แคปซูล “ดรากอน” กลับโลกพร้อม “เลือด” และ “ฉี่”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แคปซูลดรากอนตกที่มหาสมุทรแปซิฟิก (สเปซเอกซ์)
เที่ยวบินประวัติศาสตร์ของ “ดรากอน” แคปซูลเอกชนปฏิบัติภารกิจในวงโคจรสมบูรณ์แบบ และกลับสู่โลกอย่างปลอดภัย พร้อมทั้งขนตัวอย่าง “ฉี่” และ “เลือด” ของมนุษย์อวกาศกลับโลกกว่า 100 ตัวอย่าง ซึ่งจะใช้ในศึกษาด้านโภชนาการสำหรับมนุษย์อวกาศที่อาศัยอยู่ในวงโคจรเป็นเวลานาน

แคปซูลดรากอน (Dragon) ของสเปซเอ็กซ์ (SpaceX) เพิ่งปลดตัวอย่างจากสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) และกลับสู่โลกอย่างปลอดภัยเมื่อคืนวันที่ 28 ต.ค.2012 ตามเวลาประเทศไทย พร้อมทั้งขนสัมภาระกว่า 90 กิโลกรัมกลับมาด้วย ในจำนวนนั้นสเปซด็อทคอม ระบุว่า มีตัวอย่างปัสสาวะที่เก็บไว้ในกระบอกฉีดยา 384 หลอด และตัวอย่างเลือดที่เก็บไว้ในหลอดทดลองอีก 112 ตัวอย่าง

บางตัวอย่างเลือดและปัสสาวะนั้นมีนักวิทยาศาสตร์บนโลกรอนำไปศึกษานานกว่าปี ซึ่งการเก็บตัวอย่างของเหลวจากร่างกายของมนุษย์อวกาศบนสถานีอวกาศนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการทดลองเพื่อเรื่องโภชนาการของมนุษย์อวกาศ และยังเป็นการศึกษาว่าอาการที่พวกเขากินนั้นจะช่วยต้านผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจากการอาศัยอยู่ในอวกาศเป็นเวลานาน อย่างเช่น การสูญเสียมวลกระดูก เป็นต้น

นักวิทยาศาสตร์ต่างตื่นเต้นและตั้งหน้าตั้งตารอคอยเลือดและปัสสาวะที่เที่ยวบินพาณิชย์นำกลับมาโลก โดย สก็อตต์ สมิธ (Scott Smith) นักโภชนาการขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) จากศูนย์อวกาศจอห์นสัน (Johnson Space Center) กล่าวว่า สำหรับคนอื่นแล้วอาจเห็นว่านั่นเป็นเพียงปัสสาวะ และสำหรับพวกเขาในฐานะนักวิทยาศาสตร์แล้วนั่นคือสิ่งที่มีค่ามาก เพราะมีข้อมูลวิทยาศาสตร์มากมายที่จะได้รับจากปัสสาวะและเลือดเหล่านั้น

ทั้งสมิธและทีมของเขาได้รับตัวอย่างเลือด และปัสสาวะของมนุษย์อวกาศบนสถานีอวกาศมาตั้งแต่เดือน ก.ค.2011 ซึ่งเป็นเดือนที่นาซาส่งกระสวยอวกาศเป็นเที่ยวบินสุดท้ายก่อนปลดระวางฝูงบินทั้งหมด และนับแต่นั้นตัวอย่างทั้งหมดจึงถูกเก็บรักษาไว้ในตู้แช่เพื่อรอคอยดรากอนซึ่งเป็นยานอวกาศของเอกชนมาขนกลับโลก และระหว่างที่ไม่มียานขนส่งอวกาศนั้นนักบินอวกาศอเมริกันจึงต้องอาศัยแคปซูลโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซีย ทำหน้าที่รับส่งสู่สถานีอวกาศแทน

สมิธ กล่าวว่า ภารกิจของยานจากสเปซเอกซ์นี้เป็นเที่ยวบินแรกที่กลับมาพร้อมตัวอย่างเหล่านี้ ซึ่งแม้เราจะนำลูกเรือจากสถานีอวกาศกลับบ้านได้ด้วยยานโซยุซ แต่ความจุของแคปซูลอวกาศจากรัสเซียนั้นค่อนข้างจำกัด

สำหรับยานขนส่งอวกาศไร้คนขับที่สร้างขึ้นโดยรัสเซีย ญี่ปุ่น และยุโรป นั้น ล้วนออกแบบมาสำหรับเดินทางเพียงเที่ยวเดียว ซึ่งหลังจากขนส่งสัมภาระเสร็จแล้ว ก็จะเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลก ส่วนแคปซูลดรากอนของสเปซเอกซ์นั้นเป็นยานอวกาศพาณิชย์ลำแรกที่ขึ้นไปสถานีอวกาศ

ภารกิจที่เพิ่งผ่านพ้นนี้เรียกว่า “บริการขนส่งสัมภาระ 1” (Commercial Resupply Service 1) ซึ่งเป็นเที่ยวบินแบบไป-กลับเที่ยวบินแรกภายใต้สัญญามูลค่ากว่า 4.8 หมื่นล้านบาทระหว่างสเปซเอกซ์และนาซา และเป็นเที่ยวบินที่ต่อเนื่องจากความสำเร็จของเที่ยวบินทดลองเมื่อเดือน พ.ค.ที่ผ่านมา และยังเหลืออีก 11 เที่ยวบินที่มีกำหนดขนส่งสัมภาระและนำกลับจากสถานีอวกาศ

ทั้งนี้ สเปซเอ็กซ์เป็นหนึ่งใน 2 บริษัทเอกชนที่ทำสัญญากลับนาซาเพื่อส่งยานขนส่งสัมภาระแบบไร้คนขับสุ่สถานีอวกาศ โดยอีกบริษัทที่ได้ทำสัญญากับนาซา คือ ออร์บิทัลไซน์คอร์ป (Orbital Sciences Corp.) ที่ทำสัญญาด้วยมูลค่ากว่า 5.7 หมื่นล้านบาท เพื่อขนส่งสัมภาระด้วยเที่ยวบินอวกาศอย่างน้อย 8 เที่ยว โดยมีจรวดแอนทาเรส (Antares) ทำหน้าที่นำส่งยานอวกาศซิกนัส (Cygnus) ซึ่งออกแบบมาให้ใช้งานครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งเที่ยวบินทดสอบแรกของจรวดดังกล่าวจะมีขึ้นในปลายปีนี้



แคปซูลดรากอน ขณะเข้าใกล้สถานีอวกาศเมื่อ 10 ต.ค.2012 (นาซา/สเปซด็อทคอม)
แคปซูลดรากอนถูกยึดไว้ด้วยแขนกลของสถานีอวกาศนานาชาติ (สเปซเอกซ์)
เชื่อมต่อสถานีอวกาศอย่างปลอดภัย (สเปซเอกซ์)
ร่มชูชีพค่อยๆ พาแคปซูลตกสู่ทะเลอย่างปลอดภัย (สเปซเอกซ์)
ทีมกู้แคปซูลนำเรือออกไปลำเลียงแคปซูลขึ้นจากทะเล (สเปซเอกซ์)






กำลังโหลดความคิดเห็น