xs
xsm
sm
md
lg

ลุ้นส่ง “ดรากอน” เปิดศักราชใหม่เอกชนนำส่งยานสู่สถานีอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แคปซูลดรากอนก่อนนำไปฐานปล่อยจรวด (สเปซด็อทคอม)
สหรัฐฯ กำลังลุ้นการส่งแคปซูลอวกาศสู่สถานีอวกาศ เพราะเที่ยวบินดังกล่าวจะเปิดศักราชใหม่ในการขนส่งสัมภาระสู่อวกาศโดยเอกชน

ตามกำหนดนั้นแคปซูลอวกาศ “ดรากอน” (Dragon) ที่พัฒนาโดยบริษัท “สเปซเอ็กซ์” (SpaceX) จะถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรเพื่อลำเลียงสัมภาระไปยังสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station) เวลา 07.35 น.ของวันที่ 8 ต.ค.2012 ตามเวลาประเทศไทย

ตามรายงานของสเปซดอตคอมแคปซูลไร้คนขับนี้จะทะยานฟ้าไปกับจรวดฟอลคอน 9 (Falcon 9) จากสถานีกองทัพอากาศเคปคานาเวอรัล (Cape Canaveral Air Force Station) ฟลอริดา สหรัฐฯ พร้อมทั้งขนสัมภาระหนัก 453 กิโลกรัมขึ้นไปด้วย และจะใช้เวลา 3 วันในการเดินทางไปพบกับสถานีอวกาศ และลูกเรือบนสถานีอวกาศวางแผนรับแคปซูลอวกาศโดยใช้แขนกลของสถานีจับแคปซูลเข้ายึดติดกับสถานีอวกาศ

ปฏิบัติการครั้งนี้จะเป็นเที่ยวบินแรกของเที่ยวบินทั้งหมดอย่างน้อย 12 เที่ยวบินตามที่สเปซเอกซ์ได้ทำสัญญากับองค์การบริหารการบินอวกาสสหรัฐฯ (นาซา) ด้วยงบประมาณกว่า 50,000 ล้านบาท เพื่อลำเลียงสัมภาระ 20 ตันสู่สถานีอวกาศ

นอกจากนี้ สเปซเอ็กซ์ยังกำลังพัฒนาแคปซูลดรากอนและจรวดฟอลคอน 9 เพื่อส่งนักบินอวกาศ 7 คนขึ้นสู่วงโคจร ซึ่ง อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ผู้บริหารระดับสูงและเศรษฐีพันล้านผู้ก่อตั้งบริษัทดังกล่าวเมื่อปี 2002 กล่าวว่า แคปซูลอวกาศนี้ถูกออกแบบเพื่อเป็นจุดเริ่มต้นไปสู่เที่ยวบินขนส่งนักบินอวกาสในอนาคตด้วย

สเปซเอ็กซ์เป็นหนึ่งใน 2 บริษัทเอกชนที่ทำสัญญากับนาซาในการส่งยานอวกาศสำหรับลำเลียงสัมภาระสู่สถานีอวกาศ โดยอีกบริษัทคือ “ออร์บิทัลไซน์ส” (Orbital Sciences) ซึ่งจะใช้จรวดแอนทาเรส (Antares) นำส่งยานซิกนัส (Cygnus) สู่สถานีอวกาศ แต่มีเพียงยานดรากอนของสเปซเอกซ์เท่านั้นที่ขนของกลับมายังโลกได้

ทั้งนี้ นับแต่นาซาปลดระวางฝูงกระสวยอวกาศ องค์การอวกาศของสหรัฐฯ ก็ต้องพึ่งพิงยานอวกาศของเอกชนอย่างแคปซูลดรากอนของสเปซเอ็กซ์ เพื่อขนส่งสัมภาระ รวมทั้งมนุษย์อวกาศ ทั้งไปและกลับจากวงโคจรระดับต่ำ โดยระหว่างที่ต้องอาศัยเอกชนนี้ทางองค์การอวกาศก็พัฒนาจรวดและยานอวกาศแบบใหม่เพื่อเดินทางท่องไปในอวกาศที่ไกลกว่าเดิม
จรวดฟอลคอน 9 เตรียมพร้อมทะยานฟ้าเพื่อส่งแคปซูลฟอลคอนสู่วงโคจร (สเปซด็อทคอม)









กำลังโหลดความคิดเห็น