xs
xsm
sm
md
lg

จีนทะยานขึ้นสู่ความเป็นเจ้าอวกาศ(ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เบรนดัน โอไรลีย์

(เก็บความจากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

China floats towards space dominance
By Brendan O'Reilly
18/06/2012

ความสำเร็จของจีนในการนำยานอวกาศ “เสินโจว-9” ที่มีมนุษย์เป็นผู้บังคับควบคุม เข้าเชื่อมต่อกับห้องแล็ปอวกาศ “เทียนกง-1” เมื่อวันจันทร์(18 มิ.ย.)ที่ผ่านมา ต้องถือเป็นหลักหมายของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีก้าวยักษ์ ในแผนการมุ่งไปสู่การก่อตั้งสถานีอวกาศของจีนเองขึ้นมาภายในปี 2020 ทั้งนี้ในปีเดียวกันนั้น สถานีอวกาศระหว่างประเทศ (ไอเอสเอส) ที่เกิดจากความร่วมมือของสหรัฐฯ, รัสเซีย, และชาติอื่นๆ น่าที่จะถูกปลดเกษียณหมดอายุการใช้งาน ในขณะที่จีนกำลังมองเขม้นไปที่เกียรติยศของการที่จะได้กลายเป็นตัวแทนมนุษยชาติแต่เพียงผู้เดียวในอวกาศในช่วงหลังปี 2020 ปักกิ่งย่อมสามารถที่จะวาดหวังผลกำไรทั้งทางวิทยาศาสตร์, การเงิน, และการทหาร จากโครงการอวกาศของตนที่กำลังขยายตัวไปเรื่อยๆ ขณะที่ความพยายามในเรื่องนี้ของชาติอื่นๆ ล้วนแต่กำลังหดตัวลงมา

*ข้อเขียนชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ความสำเร็จของจีนในการนำยานอวกาศ “เสินโจว-9” ที่มีมนุษย์เป็นผู้บังคับควบคุม เข้าเชื่อมต่อกับห้องแล็ปอวกาศ “เทียนกง-1” ของประเทศตนเอง เมื่อวันจันทร์(18 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ได้รับการป่าวร้องยกย่องว่านี่คือการย่างก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ การปรับเปลี่ยนระเบียบโลกครั้งใหญ่กำลังบังเกิดขึ้นเหนือพื้นพิภพ จากการที่โครงการอวกาศของจีนกำลังขยายตัวออกไปเรื่อยๆ ขณะที่ความพยายามในเรื่องนี้ของชาติอื่นๆ กำลังหดตัวลงมา

ชาวจีนหลายสิบหลายร้อยล้านคนเฝ้าชมอยู่หน้าจอโทรทัศน์ที่กำลังมีการถ่ายทอดสัญญาณภาพสดๆ ขณะที่ยานเสินโจว-9 พุ่งทะยานขึ้นสู่วงโคจรในวันเสาร์(16 มิ.ย.) ที่ผ่านมา ตัวอักษรภาษาจีนเขียนเป็นคำว่า “ฟู่” ซึ่งถือเป็นคำมงคลโดยเป็นสัญลักษณ์ของความสวัสดีมีโชค ถูกนำมาประดับตกแต่งอยู่ภายในห้องนักบินของยานอวกาศ

กำหนดเวลาครั้งสุดท้ายของการปล่อยยาน มิได้มีการเปิดเผยต่อสาธารณชน จวบจนกระทั่ง 1 วันก่อนหน้าวันลงมือปฏิบัติการจริง เรื่องนี้บางทีอาจจะมีสาเหตุจากสภาพอากาศซึ่งยากที่จะทำนายพยากรณ์ แหล่งข่าวในแวดวงรัฐบาลที่ขอให้สงวนนามรายหนึ่งระบุว่า กรอบระยะเวลาสำหรับการปล่อยยานคราวนี้นั้น วางเอาไว้ว่าอย่างเร็วที่สุดคือในวันที่ 16 มิถุนายน [1] ปรากฏว่าข้อมูลนี้ได้รับการพิสูจน์ว่าถูกต้องแม่นยำ และยานเสินโจว-9 เริ่มต้นการพุ่งละลิ่วขึ้นสู่เวหาของตน ณ วันที่ 16 มิถุนายน เวลา 18.37 น.ตามเวลากรุงปักกิ่ง

บุคคลผู้ที่กลายเป็นสตรีจีนคนแรกที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ ก็ได้รับการเปิดเผยตัวในนาทีสุดท้ายเช่นเดียวกัน รายงานข่าวก่อนหน้านั้นได้ขีดวงให้แคบลงมาว่า จะเป็นการแข่งขันกันระหว่างผู้หญิง 2 คน นั่นคือ ระหว่าง ร้อยเอก หวัง ย่าผิง กับ พันตรี หลิว หยาง การคัดเลือก หลิว หยาง จากมณฑลเหอหนาน ได้รับการประกาศในที่ประชุมแถลงข่าวซึ่งจัดขึ้น 1 วันก่อนการปล่อยยาน

หลักเกณฑ์ในการคัดเลือกที่นำมาใช้กับสตรี 2 คนนี้ เปิดเผยให้ทราบพอสมควรทีเดียวเกี่ยวกับค่านิยมที่จีนยึดถืออยู่ ทั้งคู่ต่างเป็นนักบินทหารที่มีเกียรติประวัติโดดเด่น พันตรี หลิว เคยนำเครื่องบินร่อนลงอย่างลำบากยากยิ่งในสถานการณ์ฉุกเฉิน ภายหลังเครื่องบินลำดังกล่าวชนปะทะกับฝูงนกพิราบระหว่างการทะยานขึ้น ส่วน ร้อยเอก หวัง ก็เป็นนักบินที่ปฏิบัติภารกิจกู้ภัยหลายต่อหลายเที่ยวในระหว่างเกิดภัยพิบัติแผ่นดินไหวใหญ่ที่มณฑลเสฉวนเมื่อปี 2008

และก็เช่นเดียวกับมนุษย์อวกาศจีนทุกๆ คน สตรีทั้ง 2 ต้องมีคุณสมบัติข้ออื่นๆ ทั้งในเรื่องการมีผิวดี, ไม่มีกลิ่นตัว, ลมหายใจสดชื่น, และฟันไม่ผุ สิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือ ผู้หญิง 2 คนนี้ต่างก็มีฐานะเป็นแม่ด้วยกันทั้งคู่ ทั้งนี้มีข่าวลือแพร่หลายว่า สตรีที่เคยผ่านการมีบุตร 1 คนแล้วจึงจะได้รับการพิจารณาให้เป็นมนุษย์อวกาศ สืบเนื่องจากทางการจีนกลัวว่า การเดินทางในอวกาศอาจจะมีผลกระทบกระเทือนในเรื่องการเจริญพันธุ์ของสตรี [2]

**ภารกิจ**

ยานเสินโจว-9 ขึ้นสู่อวกาศ ตามหลังการปฏิบัติภารกิจของยานอวกาศที่มีมนุษย์เป็นผู้บังคับควบคุมลำอื่นๆรวม 3 เที่ยว ได้แก่ เสินโจว-5 ซึ่งปล่อยสู่ห้วงเวหาในปี 2005 และถือเป็นเที่ยวเดินทางสู่อวกาศที่มีลูกเรือขึ้นเป็นด้วยเป็นเที่ยวแรกของจีน จากนั้นจึงติดตามด้วย เสินโจว-6 ในปี 2005 และ เสินโจว-7 ในปี 2008 ซึ่งได้เห็นกิจกรรมการเดินในอวกาศเป็นครั้งแรกของแดนมังกร

ต่อมา เสินโจว-8 ก็ถูกปล่อยขึ้นไปในเดือนตุลาคม 2011 ยานอวกาศลำนี้ไม่มีมนุษย์ขึ้นไปด้วย อย่างไรก็ดี มันได้ปฏิบัติภารกิจด้วยความสำเร็จ กลายเป็นการนำยานอวกาศเชื่อมต่อกับ “โมดูล ห้องแล็ปอวกาศ” เทียนกง-1 ในแบบใช้เครื่องมืออุปกรณ์อัตโนมัติเป็นครั้งแรกของจีน โดยที่ เทียนกง-1 ซึ่งวางโครงการเอาไว้ให้เป็นรากฐานของสถานีอวกาศต่อไปนั้น ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจร 1 เดือนก่อนหน้านั้น

สำหรับ เสินโจว-9 ได้รับมอบภารกิจให้ดำเนินการเชื่อมต่อยานอวกาศเข้ากับ เทียนกง-1 โดยใช้มนุษย์เป็นผู้ดำเนินการเป็นครั้งแรกของแดนมังกร กระบวนการเชื่อมต่อนี้มีความสลับซับซ้อนมากทีเดียว และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องยืนยันว่ากระทำได้สมบูรณ์แล้ว ก็เมื่อเวลาล่วงเลยพ้น 14.00 น. ของวันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน ตามเวลากรุงปักกิ่ง ไปเล็กน้อย

การต่อเชื่อมอย่างประสบความสำเร็จเช่นนี้ หมายความว่า “ยานอวกาศของจีนจะกลายเป็นอุปกรณ์บังคับควบคุมโดยมนุษย์ ซึ่งสามารถใช้ในการเดินทางไปมาระหว่างอวกาศกับโลกได้อย่างแท้จริง เป็นการยืนยันว่ายานอวกาศของจีนสามารถที่จะส่งมนุษย์ไปยังสถานีอวกาศหรือห้องแล็ปอวกาศได้” โจว เจี้ยนผิง (Zhou Jianping) สถาปนิกหลักของโครงการอวกาศประเภทดำเนินการโดยมนุษย์ของประเทศจีน บอกกับสื่อมวลชนแดนมังกร ก่อนหน้าการปล่อยเสินโจว-9 [3]

ภารกิจคราวนี้ไม่ได้เป็นกระบวนวิธีปฏิบัติอันง่ายดายแต่อย่างใดเลย การที่ยาน 2 ลำซึ่งต่างกำลังเคลื่อนที่ด้วยความเร็วสูง สามารถเชื่อมต่อกันได้ขณะที่ต่างกำลังโคจรรอบโลกนั้น เป็นเรื่องที่ต้องใช้การคำนวณรายละเอียดและเทคโนโลยีขั้นสูงอย่างมากมาย แล้วถ้าหากเกิดความบกพร่องผิดพลาดขึ้นมาแม้เพียงในจุดเล็กน้อยที่สุด ก็อาจทำให้ภารกิจนี้ล้มเหลวไปทั้งหมด และกระทั่งอาจทำให้มนุษย์อวกาศทุกคนในยานอวกาศเสียชีวิตด้วย

รัฐบาลจีนได้ลงทุนทรัพยากรต่างๆ อย่างมากมายมหาศาลทีเดียวในโครงการอวกาศประเภทดำเนินการโดยมนุษย์ ตามตัวเลขข้อมูลของสำนักวิศวกรรมอวกาศประเภทดำเนินการโดยมนุษย์แห่งประเทศจีน (China Manned Space Engineering Office) แดนมังกรใช้จ่ายงบประมาณไป 35,000 ล้านหยวน (ราว 5,400 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 1.75 ล้านล้านบาท) ในช่วงเวลาระหว่างปี 1992 ถึง 2011 เวลานี้จีนกลายเป็น 1 ในจำนวนเพียง 3 ประเทศของโลก ซึ่งมีความสามารถอย่างเป็นอิสระในการควบคุมใช้งานเทคโนโลยีอันจำเป็นสำหรับการเดินทางไปในอวกาศประเภทดำเนินการโดยมนุษย์, การเดินในอวกาศ, และการเชื่อมต่อกับยานหรือห้องแล็ปที่กำลังเคลื่อนที่อยู่ในวงโคจร

การลงทุนอย่างมากมายมหาศาลทั้งทางด้านการเงิน, เทคโนโลยี, และทางการเมือง ในเรื่องอวกาศของแดนมังกรนั้น ส่วนสำคัญมากทีเดียวมุ่งตรงไปที่งานการก่อสร้างสถานีอวกาศอิสระของจีนเอง ซึ่งจะเป็นสถานีที่มีมนุษย์ประจำอยู่อย่างถาวร และกำหนดจะให้แล้วเสร็จภายในปี 2020 ปัจจุบันโลกเรามีเพียงสถานีอวกาศระหว่างประเทศ (International Space Station หรือ ISS) ที่กำลังโคจรรอบโลก ไอเอสเอสนี้เป็นโครงการร่วมของสหรัฐฯ, รัสเซีย, ญี่ปุ่น, แคนาดา, และองค์การอวกาศแห่งยุโรป (European Space Agency)

ค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นของโครงการไอเอสเอส ประมาณกันคร่าวๆ ว่าอยู่ในระดับ 100,000 ล้านดอลลาร์ [4] และเวลานี้ไอเอสเอสกำลังประสบกับปัญหาเรื่องเงินทุนไม่ใช้น้อยๆ เลย สืบเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจของหลายๆ รัฐที่เข้าร่วมในโครงการนี้ ต้องเผชิญกับวิกฤตมาอย่างยืดเยื้อยาวนาน แต่แม้กระทั่งได้รับเงินทุนสนับสนุนอย่างเพียงพอ ก็ใช่ว่าสถานีอวกาศแห่งนี้จะสามารถอยู่ยงคงกระพันตลอดไป การประมาณการแบบมองโลกแง่ดีของหลายๆ ฝ่ายมีข้อเสนอแนะออกมาว่า ไอเอสเอสน่าที่จะใช้งานได้ไปจนกระทั่งถึงปี 2028 แต่พวกผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ต่างเชื่อว่า โครงการนี้คงจะต้องถูกโยนทิ้งไปในช่วงเวลาราวๆ ปี 2020

องค์การอวกาศแห่งยุโรปนั้น แสดงท่าทีเปิดกว้างต้อนรับความเป็นไปได้ที่จีนจะเข้ามาร่วมมือกับโครงการไอเอสเอส ทว่าท่าทีของสหรัฐฯไม่ได้เป็นเช่นนั้นด้วย สหรัฐฯแสดงความหวาดระแวงว่าการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่โครงการอวกาศของจีน อาจกลายเป็นการมอบเทคโนโลยีที่สามารถประยุกต์ใช้ได้ทั้งสองด้าน นั่นคือ ทั้งในด้านกิจการพลเรือนและในด้านกิจการทหาร ให้แก่แดนมังกร ในเวลานี้โครงการอวกาศของจีนเอง ได้รับความช่วยเหลือจากเทคโนโลยีของรัสเซียและของเยอรมนี เพื่อเป็นการแลกเปลี่ยน จีนจึงกำลังอนุญาตให้รัสเซียและเยอรมนีทำโครงการทดลองต่างๆ ในยานอวกาศของจีนได้

โครงการอวกาศของจีน ตั้งกำหนดเวลาเอาไว้ว่า จะจัดสร้างสถานีอวกาศซึ่งมีมนุษย์ประจำอยู่เป็นการถาวรให้สำเร็จในปี 2020 แล้วถ้าหากสิ่งต่างๆ ดำเนินไปตามเงื่อนไขในปัจจุบัน โดยที่สหรัฐฯ, ยุโรป, หรือรัสเซีย ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายอย่างสำคัญๆ ใดๆ เลย ภายในระยะเวลา 10 ปีจากนี้ไป คนจีนก็อาจจะกลายเป็นมนุษย์เพียงพวกเดียวที่ยังคงปรากฏตัวอยู่ในอวกาศ

เบรนดัน พี โอไรลีย์ เป็นนักเขียนและนักการศึกษาที่มาจากเมืองซีแอตเติล, สหรัฐอเมริกา แต่ปัจจุบันพำนักอยู่ในจีน เขาเป็นผู้เขียนหนังสือเรื่อง
The Transcendent Harmony


(อ่านต่อตอน2 ซึ่งเป็นตอนจบ)
กำลังโหลดความคิดเห็น