xs
xsm
sm
md
lg

จีนเตรียมส่งโมดูลแรกสร้าง “สถานีอวกาศ” ของตัวเอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จีนพร้อมส่งเทียนกงไปกับจรวดลองมาร์ช 2เอฟ จากฐานปล่อยจรวดจิ่วเฉวียน (เอเอฟพี)
จีนเตรียมส่งโมดูลแรกรองรับการสร้าง “สถานีอวกาศ” ของตัวเองก่อนปี 2020 ฉลองวันชาติ! และปลายปีนี้จะทดลองเชื่อมต่อยานอวกาศไร้มนุษย์เป็นครั้งแรก หากทุกอย่างไปได้สวยจะเดินหน้าเชื่อมต่อยานอวกาศอีก 2 ลำที่จะมีนักบินอวกาศเดินทางไปด้วยอย่างน้อยเที่ยวละ 1 คนในปี 2012

ทั้งนี้ การส่งโมดูลไร้มนุษย์ที่ชื่อเทียนกง-1 (Tiangong-1) หรือ “ปราสาทสวรรค์” เป็นก้าวแรกของจีนเพื่อเตรียมพร้อมสร้างสถานีอวกาศก่อนปี 2020 โดยเอเอฟพีอ้างคำแถลงของเจ้าหน้าที่องค์การอวกาศจีนว่า โมดูลดังกล่าวจะถูกส่งไปพร้อมกับจรวดฉังเจิง (ChangZheng) หรือจรวดลองมาร์ช 2 เอฟ (Long March 2 F) จากฐานปล่อยจรวดในทะเลทรายโกบี (Gobi desert) ทางตะวันตกเฉียงเหนือของจีน ก่อนวันชาติจีนซึ่งตรงกับวันที่ 1 ต.ค.นี้

โมดูลเทียนกง -1 ที่ยาว 10.4 เมตร หนา 3.35 เมตร และ หนัก 8.5 ตันนี้จะถูกใช้เพื่อทดสอบการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในอวกาศ โดยโมดูลที่มีอายุใช้งาน 2 ปีในอวกาศนี้จะรอรับการเชื่อมต่อยานอวกาศไร้มนุษย์เสินโจว 8 (Shenzhou VIII) ในช่วงปลายปีนี้ ซึ่งจะเป็นครั้งแรกของจีนในการเชื่อมต่อยานอวกาศในวงโคจร หากความพยายามดังกล่าวประสบความสำเร็จจีนจะเชื่อมต่อยานอวกาศอื่นอีก 2 ลำ นั่นคือ เสินโจว 9 และ 10 ในปี 2012 ซึ่งยานอวกาศแต่ละลำจะมีมนุษย์เดินทางไปด้วยอย่างน้อย 1 คน

เอเอฟพีระบุว่าเทคโนโลยีการเชื่อมต่อในอวกาศนี้เป็นเรื่องยาก เพราะยานอวกาศ 2 ลำที่อยู่ในวงโคจรระดับเดียวกัน และโคจรรอบโลกด้วยความเร็ว 28,000 กิโลเมตรต่อชั่วโมงนั้นต้องค่อยๆ เชื่อมต่อกันอย่างช้าๆ เพื่อเลี่ยงการพุ่งทำลายกันและกัน โดย ชุย จี๋จวิ้น (Cui Jijun) ผู้อำนวยการศูนย์ปล่อยจรวดจิ่วเฉวียน (Jiuquan launch centre) ในมณฑลกันซู่ (Gansu) บอกทางสำนักข่าวซินหัวว่า มีการปรับปรุงจรวดนำส่งโมดูลกว่า 170 เทคนิค รวมถึงการปรับปรุงฐานปล่อยจรวดซึ่งเป็นที่ตั้งศูนย์คอมพิวเตอร์ เพื่อเตรียมรับเหตุไม่คาดคิดระหว่างปฏิบัติภารกิจ

ทั้งนี้ จีนเพิ่งเปิดประเทศมาประมาณ 30 ปี แต่ก็ก้าวสู่สังเวียนการแข่งขันอวกาศได้ทัน โดยเอเอฟพีได้ยกตัวอย่างกรณีการส่งมนุษย์อวกาศคนแรกของจีนเมื่อปี 2003 และแผนการเชื่อมต่อโมดูลในอวกาศปลายปีนี้ของจีน จะเป็นการตามอย่างความสำเร็จที่สหรัฐฯ และรัสเซียเคยทำไว้เมื่อช่วงทศวรรษ 1960

อิซาแบลล์ ซูร์-แวร์แซร์ (Isabelle Sourbes-Verger) นักวิจัยฝรั่งเศสบอกว่า จีนใช้เทคโนโลยีเชื่อมต่อแบบเดียวกับที่รัสเซียใช้ เนื่องจาก โครงการเสินโจวนี้รับการถ่ายทอดมาจากเทคโนโลยีส่งยานโซยุซ (Soyuz) ซึ่งยานโซยุซนั้นเป็นเทคโนโลยีที่คิดขึ้นโดยสหภาพโซเวียตตั้งแต่ทศวรรษ 1960 และยังคงใช้งานอยู่ถึงทุกวันนี้

จีนนั้นตั้งเป้าสร้างสถานีอวกาศที่มนุษย์อวกาสสามารถใช้ชีวิตอยู่ได้เป็นเวลาหลายเดือนเหมือนสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) หรือสถานีอวกาศมีร์ (Mir) ของรัสเซียในอดีต ให้ได้ก่อนปี 2020 แต่การจะบรรลุเป้าหมายดังกล่าว จีนยังต้องประสบความสำเร็จในการยิงจรวดทดสอบอื่นๆ อีก หลังจากโมดูลเทียนกง-1 ตกสู่โลกในปี 2013

“หากจีนแสดงได้ว่าพวกเขามีระบบเชื่อมต่อที่ทำงานได้อย่างแม่นยำ ความสำเร็จดังกล่าวจะส่งให้พวกเขาไปยืนในตำแหน่งที่จีนจะเข้าร่วมในโครงการสถานีอวกาศนานาชาติได้ในสักวันหนึ่ง” ซูร์-แวร์แชร์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษประจำโครงการอวกาศจีนกล่าว แต่เธอเตือนว่า ความสำเร็จดังกล่าวคงยังไม่เกิดขึ้นในอีก 5 ปีข้างหน้า

อย่างไรก็ดี ในความเห็นของ มอร์ริส โจนส์ (Morris Jones) ผู้เชี่ยวชาญอวกาศออสเตรเลีย กล่าวว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางจีนไม่ให้เข้าร่วมในโครงการสถานีอวกาศจะเป็นเรื่องทางการเมืองมากกว่า โดยสหรัฐฯจะคัดค้านอย่างแข็งขัน แต่ก่อนที่จะมีประเด็นเรื่องความร่วมมือระดับนานาชาติ ก็จะมีเทียนกง2 และ 3 ที่มีล้ำหน้าทางด้านเทคโนโลยีมากขึ้น และจีนจำเป็นต้องทดสอบเทคโนโลยีสำหรับสถานีอวกาศที่มีขนาดใหญ่ขึ้น

ปักกิ่งเริ่มต้นโครงการส่งมนุษย์ไปอวกาศเมื่อปี 1990 หลังซื้อเทคโนโลยีจากรัสเซีย ซึ่งทำให้จีนกลายเป็นชาติที่ 3 ที่สามารถส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศได้ ตามหลังอดีตสหภาพโซเวียตและสหรัฐฯ และในวันชาติจีนเมื่อปีที่ผ่านมา จีนได้ส่งยานสำรวจดวงจันทร์ฉางเอ๋อ-2 (Chang'e-2) และยานอวกาศลำแรกของจีนที่จะส่งไปสำรวจดาวอังคารมีกำหนดส่งขึ้นไปในช่วงฤดูใบไม้ร่วงนี้โดยจรวดของรัสเซีย

ซูร์ แวร์แชร์บอกอีกว่า ยังไม่ชัดเจนว่าจีนมีแผนที่จะส่งมนุษย์ไปดวงจันทร์หรือไม่ โดยเฉพาะหลังจากที่สหรัฐฯ ประกาศว่าไม่ส่งคนกลับไปดวงจันทร์ แต่เธอบอกว่าข้อสงสัยนี้น่าจะได้รับการคลี่คลายในเอกสารรายงานของทางการในช่วงฤดูใบไม้ร่วงที่จะมาถึงนี้

อ่านข่าวโครงการอวกาศจีน คลิกที่นี่

จีนเตรียมฉลองวันชาติพร้อมกับการส่งโมดูลทดสอบความพร้อมสร้างสถานีอวกาศ (เอเอฟพี)

โมดูลเทียนกงบนจรวดลองมาร์ช 2 เอฟ ในโรงเก็บจรวด (สเปซด็อทคอม)

กำลังโหลดความคิดเห็น