xs
xsm
sm
md
lg

“สวยและสยอง” ภาพ “เหมืองธาตุหายาก” บนโลกจากดาวเทียม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพเหมืองธาตุหายากที่ันทึกโดยดาวเทียมเทอร์ราเมื่อปี 2001 (ภาพทั้งหมดจากไลฟ์ไซน์/นาซา)
นาซาเผยภาพจากดาวเทียมที่สวยจนน่าจะเป็นงานศิลปะมากกว่า หากแต่ภาพดังกล่าวสื่อถึงการขยายตัวของอุตสาหกรรมเหมืองเพื่อผลิต “ธาตุหายาก” ที่มีอยู่บนโลกนี้เพียง 17 ธาตุเท่านั้น ซึ่งโครงสร้างและคุณสมบัติของธาตุเหล่านี้ ถูกนำไปผลิตเป็นสินค้าจำพวกแม่เหล็ก เลนส์สำหรับกล้องถ่ายรูป และ แบตเตอรี แต่ก็ทิ้งปัญหามลพิษไว้จนน่ากลัว

ไลฟ์ไซน์ ระบุว่า ในปี 2010 นั้น ประมาณ 96% ของธาตุหายากที่มีอยู่ตลาดผลิตมาจากจีน โดยครึ่งหนึ่งของปริมาณดังกล่าวมาจากไป๋อวิ๋นเอ้อปั๋ว (Bayan Obo) ที่ตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกลเลียใน (Nei Mongol Autonomous Region) ของจีน ซึ่งอุปกรณ์ที่ติดตั้งบนดาวเทียมเทอร์รา (Terra) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) เผยสีจริงของการทำเหมืองแร่ธาตุหายากเมื่อวันที่ 2 ก.ค.2001 และ 30 มิ.ย.2006

จากภาพเราเห็นเหมืองเปิดกลมๆ 2 แห่ง รวมถึงบ่อทิ้งกากแร่และกองกากแร่จำนวนหนึ่ง ซึ่งไลฟไซน์ ระบุว่า การทำเหมืองธาตุหายากนี้เติบโตอย่างเห็นได้ชัดมาตั้งแต่ปี 2001 และจากรายงานขององค์การสำรวจทางธรณีวิทยาสหรัฐฯ (U.S.Geological Survey) หรือ ยูเอสจีเอส (USGS) ในปีดังกล่าวจีนผลิตโลหะธาตุหายากได้ประมาณ 81,000 ตัน และกระโดดเป็น 120,000 ตัน ในปี 2006 นอกจากนี้ ในภาพเรายังเห็นพื้นที่การปลูกพืชผักปรากฏเป็นสีแดง พื้นทุ่งหญ้าเป็นสีน้ำตาล หินเป็นสีดำ และ ผิวน้ำเป็นสีเขียว

การทำเหมืองนี้หนีไม่พ้นปัญหา โดยทุกๆ ตันของธาตุหายากที่ผลิตได้จะมีก๊าซเสียถูกปลดปล่อยออกมาประมาณ 9,600-12,000 ลูกบาศก์เมตร และยังมีของเสียอื่นๆ เหลือตกค้างอย่างน้ำเสียที่เป็นกรดและขยะรังสี

แม้จะชื่อว่า ธาตุหายาก (rare earth element) แต่ ไลฟ์ไซน์ ระบุว่า อันที่จริงธาตุเหล่านี้ไม่ได้หายากเกินไปนัก ถึงแม้ว่าในบางพื้นที่การทำเหมืองธาตุหายากเหล่านี้ จะไม่คุ้มค่าทางเศรษฐกิจ ตัวอย่างที่ชี้ว่า ธาตุหายากไม่ได้เป็นธาตุหายาก คือ ซีเรียม (cerium) ซึ่งเป็นธาตุที่มีมากเป็นอันดับที่ 25 ของธาตุพื้นฐานทั้งหมด 78 ธาตุ โดยพบในเปลือกโลกเป็นอัตรา 60 ส่วนต่อล้านส่วน ขณะที่ ธูเลียม (thulium) และ ลูเทเลียม (lutelium) ซึ่งเป็นธาตุหายากที่มีจำนวนน้อยกว่าพบในเปลือกโลกเพียง 0.5 ส่วนต่อล้านส่วน

รายงานของ ยูเอสจีเอส ยังระบุอีกว่า สหรัฐฯ มีธาตุหายากใต้พื้นดินเพียงพอกับความต้องการทั่วโลกในอีกหลายศวรรษข้างหน้า และเมื่อเร็วๆ นี้ เหมืองเมาน์เทนพาสไมน์ (Mountain Pass Mine) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ได้เปิดทำเหมืองเหล่านี้ในสหรัฐฯ อีกครั้ง
ภาพเหมืองธาตุหายากที่ันทึกโดยดาวเทียมเทอร์ราเมื่อปี 2006
กำลังโหลดความคิดเห็น