เอเอฟพี - จีนลั่น พร้อมแล้วที่จะเรียกร้องให้องค์การการค้าโลกหรือ WTO พิจารณาเรื่องที่สั่งให้จีนคลายข้อจำกัดส่งออกธาตุหายากใหม่อีก หลังจากที่ WTO ตัดสินว่าการจำกัดการส่งออกธาตุหายากของจีนนั้นละเมิดกฎการค้าโลก
สำนักข่าวไชน่าเดลีรายงาน (1 ก.พ.) องค์การการค้าโลกบอกว่าต้องการรักษากฎฯ จึงตัดสิน (30 ม.ค.) ว่า “จีนจะต้องกำหนดมาตรการเก็บภาษีและโควต้าการส่งออกธาตุหายาก อันได้แก่ แมกนีเซียม และสังกะสี เป็นต้น ให้สอดคล้องกับข้อผูกพันขององค์การการค้าโลก”
ขณะที่จีนแย้งว่า มาตรการหลายอย่างที่จีนบังคับใช้นั้นก็เพื่อให้สอดคล้องกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งก็เป็นเหตุผลเดียวกับที่จีนใช้ในการปกป้องข้อจำกัดด้านการส่งออกธาตุหายากของตน ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของการผลิตสินค้าไฮเทคฯ
“พวกเราพร้อมสู้แล้ว” อี๋ว์ ฟัง รองผู้อำนวยการสำนักงานด้านสนธิสัญญาและกฎหมายภายใต้กระทรวงพาณิชย์จีนเผย
ประเทศที่พัฒนาแล้วอาจจะเรียกร้องให้จีนผ่อนคลายมาตรการจำกัดการส่งออกธาตุหายากในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และจะต้องยื่นเรื่องนี้ไปฟ้อง WTO
“แต่พวกเราก็ไม่กลัว เพราะพวกเราเตรียมมาดี”
จีนเป็นประเทศผู้ผลิตธาตุหายากใหญ่สุดของโลก จีนครอบครองตลาดธาตุหายากถึง 95 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้ธาตุหายากเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ไฮเทค อาทิ รถยนต์ไฮบริดพรีอุส (ของโตโยตา) ไอแพด กังหันลมผลิตกระแสไฟฟ้า โรงงานกลั่นน้ำมัน ไปถึงสมาร์ทบอมบ์ เมื่อจีนระงับการส่งออกธาตุหายาก ส่งผลให้คู่ค้าทั้งหลายโกรธเคืองไปตาม ๆกัน
คาเรล เดอ กัชต์ ประธานสภาการค้าสหภาพยุโรป ได้วิจารณ์การคุมการส่งออกธาตุหายากของจีนว่า คำตัดสินของWTO แสดงให้เห็นความสำเร็จที่ได้พยายามทำให้เกิดกระบวนการเข้าถึงวัตถุดิบได้อย่างป็นธรรมสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตในอียูด้วย
นอกจากนั้นเขายังได้เรียกร้องให้จีนจัดข้อบังคับการส่งออกทั้งหมดใหม่ ซึ่งหมายรวมถึงธาตุหายากด้วย ให้สอดคล้องต้องตามกฎฯของ WTO
ฝ่ายคณะกรรมการที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงกับWTO ของจีน ออกแถลงการณ์ว่า จีนผิดหวังกับคำตัดสินดังกล่าวอย่างมาก แต่จีนก็ชี้ว่ามีความเคารพต่อกฎฯของWTO และจะนำนโยบายมาใช้อย่างมีเหตุมีผลกับสินค้าส่งออก
นักวิเคราะห์เผยว่า การบังคับกฎฯนี้ จะทำให้สหรัฐฯ สหภาพยุโรปและอีกหลายประเทศสามารถท้าทายนโยบายจำกัดธาตุหายากของจีนในส่วนของการค้าได้ แต่ในด้านของการตลาดนั้นไม่มีความจำเป็น เพราะในไม่ช้าแหล่งผลิตธาตุหายากเปิดเพิ่มมากขึ้น หลายประเทศก็มีทางเลือกไม่จำเป็นต้องพึ่งพาจีนแต่ฝ่ายเดียว
“การกำหนดราคาธาตุหายากถือว่าอยู่ในระดับสูงสุดนับแต่เดือนมิ.ย หรือก.ค.ที่ผ่านมา และก็เชื่อว่าจะลดต่ำลงในอีกในช่วง 2 ปีข้างหน้า เมื่อแหล่งธาตุหายากที่ไม่ได้ผลิตในจีนเริ่มเปิดตัวมากขึ้น” จอห์น มาเธอร์โซล นักวิเคราะห์ด้านสินค้าของ IHS Global Insight ระบุ
“หากมองต่อไปใน 3-5 ปีข้างหน้า พวกเราจะเห็นตลาดธาตุหายากนั้นมีส่วนเกินเพิ่มขึ้น เมื่อผู้ซื้อเริ่มหาสิ่งทดแทนธาตุหายาก กอปรกับแหล่งผลิตนอกประเทศจีนเริ่มกระบวนการผลิต”