ส.ส.ปชป.ชำแหละรัฐบาลปล่อยลอยตัวราคาพลังงาน ทำคนไทยแบกภาระหนัก เปิดช่องของบอ้างนำไปอุดหนุน เผย รมต.เกษตรมะกัน รุดพบปลัดพาณิชย์ หารือโครงการจำนำข้าวเข้าข่ายผิดกฎการค้าโลก เตือนโดนฟ้องหากส่งออกข้าวไป ตปท.อัด “กิตติรัตน์” ข้าวไม่ใช่หุ้นยิ่งเก็บยิ่งขาดทุน เผย รุมของบเตรียมความพร้อมเออีซีกว่า 4 พัน ล.แต่ไม่คืบหน้า ด้าน “บุญยอด” แฉเอกชน สุ่มพบแท็บเล็ตผิดสเปกจำนวนมาก แถมศูนย์บริการมีไม่เพียงพอ
วันนี้ (15 ส.ค.) การประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2556 จำนวน 2.4 ล้านล้านบาท ในวาระที่ 2 และ 3 นายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ อภิปรายว่า รัฐบาลระบุว่า เศรษฐกิจจะโตขึ้น 5.5-6% แต่ครึ่งปีเพิ่มขึ้นแค่ 0.1% ภาคส่งออกก็มีปัญหา รัฐบาลบอกเป้าหมายจะโต 15% อยากถามว่าจะใช้วิธีไหน บอกว่า ไตรมาส 3-4 ตัวเลขการสั่งซื้อจะสูงมากกว่าช่วงครึ่งปีแรก แต่ทุกสำนักประเมินแล้วว่าคงได้ไม่ถึง 15% ปัญหาของแพงเพราะน้ำมันแพง และน้ำมันแพงเพราะนโยบายผิด ที่ห่วงคือ เกษตรกร เพราะการขึ้นราคาน้ำมันตอนนี้ ไม่สัมพันธ์กับราคาน้ำมันในตลาดโลก ภายในเดือนเดียวตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.- 10 ส.ค.ขึ้นน้ำมันเบนซิน 91 และ 95 ไปทั้งหมด 10 ครั้ง เป็นเงิน 4.80 บาท เกษตรกรที่ใช้น้ำมันกับเครื่องมือการเกษตรกรกว่า 1 ล้านครัวเรือน ที่ไม่สามารถใช้แก๊สโซฮอล์ได้ แอลพีจีภาคขนส่งขึ้นไปแล้ว 4 ครั้ง เพราะราคาที่ประกาศโดยกระทรวงพลังงาน อยู่ที่ 21.13 บาทต่อกิโลกรัม แต่เวลาไปเติมเขาเก็บเป็นลิตร หากตามราคาประกาศควรอยู่ที่ลิตรละ 11.40 บาท แต่ตามปั๊มขายอยู่ที่ลิตรละ 12.50-14.10 บาท กระทรวงพลังงาน ต้องตอบว่า ส่วนต่างหายไปไหนไปอยู่ในกระเป๋าใคร ไม่เคยประกาศให้สังคมรู้
นายเกียรติ กล่าวว่า วันนี้กองทุนน้ำมันติดลบอยู่กว่า 1.4 หมื่นล้านบาท ก๊าซภาคครัวเรือนมีการลักลอบนำออกไปขายชายแดนสูงเท่ากับที่เราใช้ในประเทศ แต่รัฐกลับมาตั้งงบไปดูแลเรื่องลักลอบแค่ 5 แสนบาท ค่าอาหารกลางวันเจ้าหน้าที่ก็ไม่พอแล้ว ซึ่งหลังจากที่มีการไปทบทวนกันในชั้น กมธ.ก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง หากตราบใดที่รัฐบาลไม่สามารถแก้ปัญหาลักลอบได้ จะไปขอเงินจากสภาเพื่อไปชดเชยการนำเข้าจะเป็นธรรมกับประชาชน หรือ นโยบายของรัฐบาลยังแก้ปัญหาไม่ถูกจุด อ้างว่า จะต้องลอยตัวราคาก๊าซอยู่เรื่อยๆ ไป วันหนึ่งอยู่ดีๆ รัฐมนตรีก็ออกมาพูดว่าจะลอยตัวราคาก๊าซ ไปดูหุ้นในตลาดหลักทรัพย์เลยว่ามีหุ้นตัวไหนขยับขึ้น ใครได้ประโยชน์ จะมาพูดกันสุ่มสี่สุ่มห้าต้นอาทิตย์บอกขึ้นปลายอาทิตย์ลงนายกฯ บอกไม่ขึ้นแล้ว ระหว่างทางมันมีคนได้ประโยชน์จากคำพูดของรัฐมนตรี ในส่วนของภาคอุตสาหกรรม ก๊าซที่ใช้ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ไม่เคยมีการเปิดเผยกันว่ามีการซื้อขายในราคาเท่าไหร่ ทั้งที่ใช้เพิ่มขึ้นเยอะมากกว่า 250% ไม่โปร่งใสแล้วทำไมต้องของบประมาณไปชดเชยนำเข้าเพื่ออุดหนุดอุตสาหกรรมเพียงไม่กี่อุตสาหกรรมที่ไม่จำเป็น
ในส่วนของก๊าซธรรมชาตินั้น ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเราใช้ก๊าซธรรมชาติในการผลิตสูงถึง 63% ในการผลิตกระแสไฟฟ้าในประเทศไทย วันที่ 1 พ.ค.ที่ผ่านมา มีการขึ้นค่าเอฟที 30 สตางค์ ดูเหมือนไม่มาก แต่กระทบกับต้นทุนภาคการผลิต ภาคธุรกิจทั้งหมด 10% ซึ่งตนตรวจสอบพบว่า ราคาก๊าซที่ใช้ในการคำนวณ 15-16 บาทต่อกิโลกรัม ทั้งๆ ที่ราคาทุนไม่เคยมีการเปิดเผย ซึ่งมีผลการวิจัยของจุฬาฯ ราคาเนื้อก๊าซที่ปากหลุม 8.05 บาท บวกค่าบริหารจัดการเต็มที่ 2 บาท แต่วันนี้ค่าบริหารจัดการต่อกิโลอยู่ที่ 5.56 บาท แสดงว่าเราบริหารอย่างอุ้ยอ้าย เพราะเป็นธุรกิจที่ผูกขาด ต้นทุนที่ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ต้นทุนที่ขายปั๊มก๊าซธรรมชาติเอ็นจีวีมันก็สูง อ้างว่า ขาดทุนก็มาขอเงินงบประมาณไปชดเชย อย่างนี้ไม่เป็นธรรมกับประชาน วันนี้ก๊าซธรรมชาติหากขายประมาณ 10.50-12 บาทก็กำไรแล้ว หากบริหารจัดการมีประสิทธิภาพ จนถึงวันนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง แถมยังมาของบประมาณมาชดเชยการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพ
นายเกียรติ กล่าวว่า การจำนำสินค้าเกษตรมีเป้าหมายต้องการเพิ่มรายได้ แต่การรับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดโลกนั้นขยับขึ้น ได้พิสูจน์แล้วว่าราคาในตลาดโลกไม่ได้ขยับขึ้นตาม ราคาข้าวที่ขายในตลาดโลกขึ้นอยู่กับอุปสงค์อุปทานของทั้งโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย ไทยปลูกข้าวเพียง 6% ของทั้งโลก คิดได้อย่างไรว่าจะไปโน้มน้าวให้ราคาตลาดโลกขยับขึ้นได้ เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของไทยที่เราถูกประจานไปทั่วโลก ทราบมาว่า สหรัฐฯเองจะส่งคนมาพูดคุยรัฐบาล เพราะมองว่านโยบายนี้เข้าข่ายผิดกติกาองค์การการค้าโลก โดยจะส่งเจ้าหน้าที่กระทรวงเกษตรของสหรัฐฯ มาพูดคุยกับปลัดพาณิชย์ วันนี้เขายังไม่ฟ้อง แต่วันไหนที่เราระบายข้าวขึ้นมา และข้าวที่ระบายออกมาส่งออกไปต่างประเทศวันนั้นจะเกิดเรื่อง จนถึงวันนี้ใช้งบประมาณไปแล้ว 2 แสนล้านบาท ขาดทุนเห็นชัดๆ 5-6 หมื่นล้านบาท
“รมว.ออกมาให้สัมภาษณ์ว่าถ้ายังไม่ขายข้าวก็ยังไม่ขาดทุน ท่านจะมองข้าวเป็นหุ้นได้อย่างไร ถ้าเป็นหุ้นน่ะใช่ เพราะหุ้นราคาตก ไม่ขายก็ไม่ขาดทุนทางบัญชี วันที่ขายถึงจะขาดทุน แต่ข้าวเก็บไว้ยิ่งนานยิ่งเสื่อม มีค่าเก็บรักษาที่ของบไว้เอามาจ่ายดอกเบี้ย จ่ายค่าโกดัง จ่ายค่าไซโล 4 หมื่นกว่าล้านบาท ยังไม่ได้พูดถึงเงินขาดทุน แต่โครงการประกันรายได้ไม่ต้องเสียค่าโกดัง ไม่ต้องเสียค่าปรับปรุงข้าว ไม่ต้องมีค่าดอกเบี้ย ไม่ต้องมีค่าบริหารจัดการ มันต่างกันอย่างเห็นได้ชัด 4.1หมื่นล้านบาทเพียงแค่ค่าเก็บรักษาข้าว แล้วท่านพูดได้อย่างไรว่ายังไม่ขายก็ไม่ขาดทุน แล้วกระทรวงพาณิชย์จะมาของบประมาณทำโครงการนี้ต่อ 2.6 แสนล้านบาท เดินนโยบายนี้ต่อไปไม่ได้มีแต่เจ๊งกับเจ๊งใครจะรับผิดชอบ” นายเกียรติ กล่าว
ส่วนเรื่องประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน มีการของบประมาณไว้ทั้งหมด 4.1 พันล้านบาท ขอเข้ามาทุกกระทรวง เช่น กระทรวงการต่างประเทศ ขอไว้ 476 ล้านบาท ในฐานะที่กระทรวงการต่างประเทศ เป็นประธานคณะกรรมการอาเซียนแห่งชาติ ไม่เคยจัดประชุมเลย ไม่บอกด้วยว่างบที่ขอจะเอาไปทำอะไร กรอบเวลา โครงการ ผลลัพธ์จะเป็นอย่างไรไม่มีเขียนไว้ กระทรวงพาณิชย์ ขอไว้ 416 ล้านบาท เพื่อเตรียมความพร้อมทุกหน่วยงานจัดฝึกอบรมอย่างเดียวทั้งปีฝึกได้ 10,000 ราย ถามว่า ผู้ประกอบการในไทยมีกี่ล้านราย กระทรวงแรงงาน ขอไว้ 135 ล้านบาท เพื่อพัฒนาฝีมือแรงงาน 18,000 คน ตามกรอบเออีซีที่เราต้องดำเนินการต้องมีการปรับปรุงสวัสดิการและกฎระเบียบที่เกี่ยวกับแรงงาน เพื่อรองรับการโยกย้ายแรงงาน ก็ไม่มีนโยบายไปดำเนินการเรื่องนี้แต่อย่างใด การของบจึงไม่ตอบโจทย์การเตรียมความพร้อมไปสู่ประชาคมอาเซียน
ด้าน นายบุญยอด สุขถิ่นไทย ส.ส.ระบบบัญชีรายชื่อ ในฐานะกรรมาธิการงบประมาณ เสียงข้างน้อย พรรคประชาธิปตย์ กล่าวว่า ในการอภิปรายงบประมาณรายจ่ายปี 56 ตนเพิ่งได้รับข้อมูลจากภาคเอกชนถึงการดำเนินการโครงการแท็บเล็ตให้เด็ก ป.1 ซึ่งรัฐบาลได้ทำสัญญาซื้อเครื่องแท็บเล็ตที่ซื้อจากบริษัท เสิ่นเจิ้น สโคป ของจีน เฉพาะบริษัทนี้ได้รับงานไปรวมเป็นเงินจำนวน 2,460 ล้านบาท โดยในสัญญากำหนดให้ทางบริษัท ต้องเปิดศูนย์บริการ 30 แห่งภายในเวลา 6 เดือน ซึ่งสามารถให้ครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด โดยต้องเปิดบริการ 24 ชั่วโมง กรณีส่งเครื่องที่มีปัญหาหรือเสียมาซ่อมต้องจัดส่งคืนเจ้าของภายในเวลา 5 วันทำการ
โดยในประเทศไทย มีการอ้างว่าได้จัดตั้ง บจก.สโคป ไทยแลนด์ ซึ่งเป็นชื่อที่จดในประเทศไทย เป็นบริษัทตัวแทนที่ดูแลแท็บเล็ตกวา 1 ล้านเครื่อง ที่ได้แจกจ่ายให้เด็ก ป.1 ไปแล้ว 5 หมื่นเครื่อง โดยออฟฟิศอยู่ที่อาคารทีซีซี เยื้องกับ ม.ธุรกิจบัณฑิตย์ เป็นตึกเก่า บริษัทอยู่ชั้น 8 ด้านหน้าบริษัทยังไม่มีป้ายชื่อบริษัท ส่วนความพร้อมในการรับประกันสินค้า มีเพียงเจ้าหน้าที่ประจำออฟฟิศ 4 คน ทำหน้าที่ช่างซ่อม 1 คน มาจากประเทศจีน พูดไทยและอังกฤษ จึงเกิดคำถามว่า เมื่อแท็บเล็ตถึงมือเด็ก ป.1 แล้ว หากเกิดของเสียหาย จะทำอย่างไร ติดต่อเพื่อขอรับซ่อมบริการได้หรือไม่ นี่ขนาดเป็นเมืองหลวงที่แท็บเล็ตล็อตแรกจำนวน 55,000 เครื่อง ที่กระจายให้เด็กไปแล้ว คือ กทม. กระบี่ กาฬสินธุ์ กาญจนบุรี ขอนแก่น จันทบุรี กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา จะทำอย่างไร
นอกจากนี้ หลักเกณฑ์การสุ่มตรวจสินค้า ระบุว่า ในจำนวน 500 เครื่อง เสียได้ไม่เกิน 7 เครื่อง ถือว่าผ่าน แต่จากการสุ่มตรวจเกือบทุกครั้ง ทุก 500 เครื่อง พบเครื่องเสียหรือมีปัญหา 7 เครื่องทุกครั้ง คือ อัตราเสียสูงสุดตามที่กำหนด ไม่มีต่ำกว่า ถามว่า คุ้มค่ากับงบประมาณหรือไม่ และข่าวที่ลือก่อนหน้านี้ ว่า มีการล็อกสเปกเพื่อให้จัดทำแท็บเล็ตในโครงการนี้ จริงหรือไม่อย่างไร หรือใช้เสร็จ ป.1 ปีนี้แล้วเสียต้องทิ้งไปเลย