xs
xsm
sm
md
lg

จีนจัดตั้งสมาคมวิชาชีพ "ธาตุหายาก" แล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เหมืองแร่ธาตุหายากแห่งหนึ่ง ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน ซึ่งเป็นพื้นที่อุดมไปด้วยธาตุล้ำค่าหลากหลายชนิด อันเป็นทรัพยากรสำคัญของอุตสาหกรรมไฮเทค (ภาพเอเยนซี)
เอเยนซี - สื่อจีนรายงาน (9 เม.ย.) ว่า สมาคมวิชาชีพแร่ธาตุหายาก แห่งประเทศจีนได้จัดตั้งขึ้นอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 8 เมษายนนี้ ที่กรุงปักกิ่ง ซึ่งสมาคมนี้ จะทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมมาตรฐานวิชาชีพฯ และแก้ไขข้อพิพาททางการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับธาตุหายากฯ

นายกาน หย่ง รองประธานสภาวิศวโยธาแห่งประเทศจีน ผู้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมฯ สมัยแรก ได้กล่าวว่า หน้าที่ของสมาคมฯ คือ การสนับสนุนและให้บริการแก่หน่วยงานและทางการท้องถิ่น ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการแร่ธาตุหายาก เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ และประสานงานระหว่างหน่วยงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ผู้ผลิต และลูกค้า รวมถึงการกำกับดูแลให้ผู้ประกอบการดำเนินกิจการตามระเบียบวิชาชีพอย่างเข้มงวด

รายงานข่าวกล่าวว่า การส่งเสริมการบุกเบิกและการบริหารด้านการส่งออกแร่ธาตุหายากของจีน มีจุดประสงค์เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษาการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับข้อบังคับเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ที่ไม่สามารถทดแทนได้ขององค์การการค้าโลก เนื่องจากอุปทานและตลาดแร่ธาตุหายากของโลกไม่สมดุล และไม่สมเหตุสมผลมาเป็นเวลานาน ทำให้การบุกเบิกแร่ธาตุหายากของจีนไม่มีความเป็นระบบระเบียบ เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม อีกทั้งไม่สัมพันธ์กับอุปทานและความมั่นคงของตลาดแร่ธาตุหายากของโลกในระยะยาวด้วย

สมาคมฯ ที่จัดตั้งนี้ ประกอบไปด้วยสมาชิกซึ่งเป็นผู้ประกอบการทั่วประเทศทั้งหมด 155 ราย โดยมีผู้ประกอบการรายใหญ่ 13 ราย ซึ่งจะประชุมและรายงานตรงต่อ กระทรวงอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศจีน

ทั้งนี้ ข้อมูลระบุว่า ประเทศที่มีปริมาณแหล่งแร่หายากสำรองเป็นอันดับหนึ่งของโลกคือ จีนซึ่งครองสัดส่วนร้อยละ 48 ของโลก ขณะที่รองลงมาสหรัฐฯ (ร้อยละ 13) ซึ่งเคยเป็นผู้นำฯ ในอุตสาหกรรมนี้มาตลอดจนกระทั่งจีนหันมาพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ของตน นอกจากนี้ ยังมีรัสเซีย ออสเตรเลีย แคนาดา ตามลำดับ โดยปัจจุบัน จีนเป็นผู้ส่งออกแร่หายากคิดเป็นปริมาณถึงร้อยละ 97 ของโลก ซึ่งคาดว่าในช่วงสิบปีข้างหน้า จีนจะลดการส่งออกแร่หายากลงอย่างต่อเนื่อง เพื่อสำรองไว้ให้อุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็วของตน และเหตุผลทางด้านอนุรักษ์ทรัพยากรและรักษาสิ่งแวดล้อม ซึ่งทำให้เกิดความวิตกเกี่ยวกับความขาดแคลนในอนาคต เพราะการจำกัดโควตาการส่งออกธาตุหายาก และเพิ่มภาษีการส่งออกฯ จนส่งผลให้ราคาแร่หายากพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ และชาติอุตสาหกรรมไฮเทคอื่นๆ ไม่สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมของตนได้

นายกาน หย่ง นายกสมาคมฯ กล่าวว่า "ในความจริง หลายๆ ประเทศ ต่างก็มีแร่ธาตุหายากในพื้นที่ของตนเอง ไม่จำเป็นต้องมาพึ่งการส่งออกของจีนเพียงผู้เดียว"

ทั้งนี้ ธาตุหายากเป็นองค์ประกอบที่สำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ไฮเทคต่างๆ อาทิ รถยนต์ไฮบริด ไอแพด สมาร์ทโฟน กังหันลม ระบบขีปนาวุธนำวิถี ฯลฯ
กำลังโหลดความคิดเห็น