ผลสำรวจความหลากหลายทางชีวภาพใน “ซูรินาเม” ประเทศเล็กๆ ในอเมริกาใต้พบสิ่งมีชีวิต 46 สปีชีส์ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าน่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตใหม่
บีบีซีนิวส์รายงานว่าการสำรวจป่าเขตร้อนอันบริสุทธิ์ในซูรินาเม (Suriname) ประเทศเล็กๆ ของอเมริกาใต้นี้ นำโดย กลุ่มอนุรักษ์สากล (Conservation International) องค์กรการกุศลที่มีความร่วมมือกับนักวิทยาศาสตร์ ชาวพื้นเมือง และนักศึกษา ซึ่งได้บันทึกข้อมูลสิ่งมีชีวิตกว่า 1,300 ชนิดหรือสปีชีส์
ตอนนี้ทีมสำรวจกำลังทำงานเพื่อยืนยันสิ่งมีชีวิตแปลกๆ หรือน่ามหัศจรรย์นี้ว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่เพิ่งค้นพบใหม่หรือไม่ 46 สปีชีส์ เป็นสปีชีส์ใหม่ ซึ่งในจำนวนสิ่งมีชีวิตที่พวกเขาเชื่อว่าน่าจะเป็นชนิดใหม่สำหรับวงการวิทยาศาสตร์คือ “กบคาวบอย” (cowboy frog) สัตว์สะเทินน้ำทะเทินบกที่มีแถบสีขาวเป็นแนวยาวตลอดขา และโครงสร้าง “ส้นเท้า” เหมือนเดือยไก่
อีกสิ่งมีชีวิตที่มีสีสันสำหรับวงการวิทยาศาสตร์คือ “ตั๊กแตนยักษ์” ซึ่งถูกตั้งชื่อว่า “เครโยลา เคทีดิด” (crayola katydid) เนื่องจากมีสีสันอันสดใส ขณะที่สิ่งมีชีวิตใหม่สำหรับทีมสำรวจคือปลาดุกที่มีเกราะหุ้มเป็นแผ่นกระดูกที่เต็มไปด้วยหนามแหลมทั่วร่างกาย ซึ่งมีไว้เพื่อช่วยป้องกันตัวเองจากปลาปิรันย่ายักษ์ที่อาศัยอยู่ในแหล่งน้ำเดียวกันนั้น ก็ถูกหนึ่งในไกด์นำทางจับกินไปเกือบหมด
โชคดีว่าก่อนที่ไกด์นำทางจะมีโอกาสได้กินปลาดุกดังกล่าวด้วยความหิวโซ ทีมนักวิทยาศาสตร์ก็สังเกตเห็นว่าลักษณะอันจำเพาะของปลาและเก็บรักษาไว้เป็นตัวอย่างในการศึกษา
โครงการสำรวจนาน 3 สัปดาห์เป็นส่วนหนึ่งของโครงการประเมินอย่างเร่งด่วน (Rapid Assessment Program: RAP) ของกลุ่มอนุรักษ์สากล ซึ่งดำเนินงานมากว่า 20 ปี ซึ่ง ดร.ทรอนด์ ลาร์เซน (Dr.Trond Larsen) ผู้อำนวยการโครงการอธิบายว่า การดำเนินงานที่ยาวนานนี้คือเหตุผลว่าทำไมพื้นที่ของซูรินาเมจึงพิเศษมาก พร้อมทั้งบอกด้วยว่าหากเราเดินทางไปยังพื้นที่ดังกล่าวเราแทบจะไม่เจอถนนเลย นอกจากป่าที่ต่อเนื่องกัน
“มันคือสถานที่สุดท้ายในโลกที่คุณจะได้พบป่ารกชัฏเช่นนี้” ดร.ลาร์เซนกล่าว และบอกว่านักอนุรักษ์มักจะพุ่งความสนใจไปยังสถานที่ซึ่งอยู่ในสภาพ “ย่ำแย่” แล้ว และเราก็ใช้ประโยชน์จากป่าเหล่านี้จนเคยตัว แต่หากเราไม่ใส่ใจป่าเหล่านี้ตั้งแต่ตอนนี้ ป่าเหล่านั้นก็จะคงอยู่ต่อไปไม่นาน
ตอนนี้ทีมสำรวจได้ช่วยเหลือคนในท้องถิ่นเพื่อจำกัดพื้นที่ป่าให้เป็น “เขตห้ามยึดครอง” โดยแผนในขั้นสุดท้ายคือทำให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตสงวนทางธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยปกป้องสัตว์ป่าประจำถิ่น และสร้างความมั่นใจได้ว่าผู้คนในท้องถิ่นจะสามรรถล่าสัตว์อย่างยั่งยืนและรวมถึงการกระตุ้นให้เกิดการท่องเที่ยวเชิงนิเวศด้วย