xs
xsm
sm
md
lg

รับทุนออสซี่ไปวิจัยสัตว์ป่าเพื่อกลับมาดูแล “ช้างไทย”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์
ขณะที่สัตว์ป่ามีจำนวนชนิดที่หลากหลายมากกว่าสัตว์เลี้ยง แต่งานวิจัยและการศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่ากลับมีน้อยกว่ามาก และยิ่งเป็นสัตว์ป่าไทยด้วยแล้วยิ่งมีงานวิจัยที่น้อยเข้าไปอีก จึงเป็นเหตุผลให้ “สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์” สนใจศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่ามากขึ้น และอีกไม่กี่เดือนเธอกำลังจะไปศึกษาต่อที่ออสเตรเลียเพื่อนำความรู้กลับมาดูแลช้างไทย

“ที่ออสเตรเลียมีสัตว์ประจำถิ่นอยู่เยอะ อย่างเช่น แทสมาเนีย จิงโจ้ หมีโคอาลา และมีชื่อเสียงเรื่องการอนุรักษ์สัตว์ป่า และยังเพาะพันธุ์เพื่อให้จำนวนประชากรสัตว์ป่าเพิ่มขึ้น” สุภาเพ็ญ ศรีพิบูลย์ อาจารย์จากภาควิชาสัตว์ใหญ่และสัตว์ป่า คณะสัตว์แพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กำแพงแสน บอกทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงเหตุผลที่เลือกไปศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ป่าที่ออสเตรเลีย โดยจะเดินทางในเดือน ก.ย.55นี้

สุภาเพ็ญกล่าวว่าสนใจศึกษาเรื่องสัตว์ป่าเพราะเป็นศาสตร์ที่ขาดแคลนในเมืองไทย มีความท้าทายและได้ทำในสิ่งที่ได้ช่วยประเทศชาติ ซึ่งการศึกษาสัตว์ป่านั้นจำเป็นต้องมีพื้นความรู้ทางด้านสัตว์เลี้ยงมาก่อน ซึ่งเป็นเรื่องยากเพราะสัตว์ป่ามีจำนวนชนิดหรือสปีชีส์ค่อนข้างมาก แต่ยังมีข้อมูลอยู่น้อยเพราะมีคนศึกษาน้อย และยิ่งเป็นสัตว์ป่าเมืองไทยแล้วยิ่งมีการศึกษาน้อยเข้าไปอีก แต่แนวโน้มตอนนี้ก็เริ่มมีคนศึกษามากขึ้นและเพิ่งมีชมรมสัตวแพทย์สัตว์ป่าเกิดขึ้น

“การทำงานของเราจะเน้นเรื่องสุขภาพ และทำงานเชื่อมโยงกับนักวิทยาศาสตร์ สำหรับความยากในการทำงานคือการเก็บตัวอย่าง เพราะมีกระบวนการที่ค่อนข้างยาก” สุภาเพ็ญกล่าว โดยสัตว์ป่าที่เธอสนใจศึกษาคือช้าง แต่เมื่อการเก็บตัวอย่างเป็นไปได้ลำบาก จึงต้องเริ่มจากการศึกษาช้างบ้านเป็นหลักก่อน

ตอนนี้เธอกำลังศึกษาโรคติดต่อในช้างที่เป็นผลจากเชื้อไวรัสเฮอร์ปีส์ (Herpes virus) ซึ่งเป็นโรคที่เพิ่งพบไม่เกิน 10 ปี โดยในต่างประเทศพบว่าเชื้อดังกล่าวทำให้ลูกช้างอายุไม่เกิน 10 ปีตายอย่างกะทันหันในเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังไม่มีวิธีวินิจฉัยล่วงหน้า เพราะเมื่อติดไวรัสแล้วจะไม่แสดงอาการที่เด่นชัด โดยทั่วไปจะมีอาการซึม กินอาหารน้อยลงและหน้าบวม ซึ่งตอนนี้มีเพียงรายงานพบในการติดเชื้อดังกล่าวในช้างเลี้ยง แต่ยังไม่พบรายงานในช้างป่า และเป็นไปได้ว่าอาจใรการติดเชื้อในช้างป่าแต่ไม่สามารถเก็บตัวอย่างมาตรวจได้ทัน

จะไปเรียนรู้กับเขาแล้วมาพัฒนาแล็บที่ไทย และเก็บตัวอย่างที่เมืองไทย หากเป็นไปได้ก็อยากไปเก็บตัวอย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านด้วยโดยเรื่องเทคนิคนั้นจะไปเรียนรู้เรื่องการตรวจระดับภูมิคุ้มกันที่จำเพาะต่อโรค เพื่อให้รู้ว่าช้างตัวไหนเคยสัมผัสโรค หรืออยู่ในระยะแพร่เชื้อเพื่อจะได้ทำการป้องกันอีกทั้งการไปเรียนรู้จากเขายังจะทำให้เราได้เห็นกระบวนการที่นำมาประยุกต์ในเรื่องการปล่อยสัตว์คืนสู่ป่า ซึ่งออสเตรเลียมีความโดดเด่นในเรื่องนี้มาก” สุภาเพ็ญกล่าว

ทั้งนี้ สุภาเพ็ญ ได้รับทุนการศึกษาจากรัฐบาลออสเตรเลียเพื่อไปศึกษาปริญญาเอกทางด้านสัตวแพทยศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยเมอร์ดอช (Murdoch University) โดยได้รับทุนเอนเดฟเวอร์อะวอร์ด (Endeavour Awards) พร้อมทุนพิเศษคือทุนไพรม์มินิสเตอร์สออสเตรเลีย-เอเชียอะวอร์ด (Prime Minister's Australia-Asia Award) ซึ่งทุนหลังนั้นมอบให้แก่นักศึกษาทุนเอนเดฟเวอร์อะวอร์ดที่มีความโดดเด่นเพียง 20 คนจากทั่วโลก
การไปเรียนรู้เทคนิคดูแลสัตว์ป่าจากออสเตรเลียอาจช่วยในการอนุรักษ์สัตว์ป่าของไทยได้
กำลังโหลดความคิดเห็น