พบสัตว์กินเนื้อพันธุ์ใหม่เป็น “ฟองน้ำ” ชนิดหนึ่งรูปร่างหน้าตาเหมือนพิณ อยู่ในทะเลน้ำลึกของมหาสมุทรทางฝั่งแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ และเป็นครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์เห็นวัฏจักรชีวิตของสัตว์ชนิดนี้ไปจนถึงการขยายพันธุ์
ฟองน้ำดังกล่าวถูกพบโดยทีมจากสถาบันวิจัยสัตว์น้ำมอนเทอร์เรย์เบย์ (Monterey Bay Research Aquarium Institute in) ในมอสส์แลนดิง แคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2000 ระหว่างออกสำรวจโดยใช้ยานควบคุมระยะไกล
อาวเออร์อะเมซิงแพลเนต รายงานว่า ฟองน้ำดังกล่าวซึ่งมีรูปร่างเหมือนพิณตะแคงข้างนั้นอาศัยอยู่ใต้พื้นผิวมหาสมุทรลงไป 3.5 กิโลเมตร ในอ่าวมอนเทอร์เรย์เบย์ของแคลิฟอร์เนีย และด้วยรูปร่างเช่นนั้นจึงได้ถูกเรียก “ฟองน้ำพิณ”
“เราเพียงแต่แปลกใจ ไม่มีใครเคยเห็นสัตว์ชนิดนี้ด้ยวตาตัวเองมาก่อน” ลอนนี ลุนด์สเตน (Lonny Lundsten) นักชีววิทยาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังจากสถาบันวิจัยดังกล่าว และเป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ได้เห็นฟองน้ำดังกล่าวเป็นชุดแรก กล่าว
ทีมวิจัยได้เก็บตัวอย่างฟองน้ำพิณมา 2 ตัวอย่าง และบันทึกวิดีโอการสำรวจไว้ 10 ชุด และเมื่อเปรียบเทียบกับฟองน้ำกินสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็ยืนยันได้ว่า ฟองน้ำนี้ซึ่งได้ชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ชอนโดรคลาเดีย ไลลา (Chondrocladia lyra) เป็นสิ่งมีชีวิตสปีชีส์ใหม่ พร้อมทั้งเผยวัฏจักรชีวิตที่น่าสนใจของฟองน้ำชนิดนี้ลงวารสารอินเวอร์ทีเบรตไบโอโลจี (vertebrate Biology)
กิ่งก้านของฟองน้ำเต็มไปด้วยตะขอโค้งงอคล้ายตะขอเวลโคร ซึ่งทำหน้าที่ดักจับสัตว์น้ำเปลือกแข็งเมื่อเหยื่อเหล่านั้นถูกกระแสน้ำในทะเลลึกกวาดต้อนเข้าไปอยู่ในกิ่งก้านดังกล่าว เมื่อฟองน้ำพิณได้เหยื่อมาเป็นอาหาร มันจะหุ้มเหยื่อด้วยเหยื่อบางๆ และเริ่มกลืนกินอาหารอันโอชะของตัวเองอย่างช้าๆ
ฟองน้ำพิณยึดติดกับตะกอนโคลนนิ่มๆ บนพื้นมหาสมุทรด้วย “ไรซอยด์” (rhizoids) ที่มีลักษณะคล้ายราก และอาศัยอยู่ท่ามกลางสิ่งมีชีวิตลึกลับอื่นๆ โดยฟองน้ำตัวแรกที่นักวิทยาศาสตร์เห็นนั้นมีเพียง 2 กิ่งก้าน ซึ่งพวกเขาเรียกกิ่งก้านนั้นว่า “ใบ” จากนั้นยานสำรวจระยะไกลก็พบสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ตัวอื่นๆ อีก ซึ่งบางตัวมีถึง 6 ใบ ตัวใหญ่สุดสูง 36 เซนติเมตร
ทีมวิจัยเชื่อว่า ฟองน้ำชนิดนี้มีวิวัฒนาการสู่รูปร่างที่แปลกประหลาดคล้ายเชิงเทียนหลายกิ่ง เพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการสัมผัสกระแสน้ำ เพื่อให้สามารถจับเหยื่อได้มากขึ้นนั่นเอง
สำหรับฟองน้ำพิณนี้เป็น 1 ใน 4 สปีชีส์ใหม่ที่ลุนด์สเตนได้ช่วยจำแนก ซึ่งเขากล่าวว่าพวกเขาเพิ่งสำรวจอ่าวมอนสเตอร์เรย์เบย์ได้เพียง 1% และพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในพื้นที่ดีที่สุดสำหรับศึกษาทะเลน้ำลึกแห่งหนึ่งของโลก เมื่อมองออกไปจากสถาบันเขาสามารถจินตนาการถึงสิ่งมีชีวิตอีกหลายพันสปีชีส์ในทะเลลึกบริเวณนั้นที่รอการค้นพบ
ครั้งแรกที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบฟองน้ำที่กินสัตว์นั้นคือเมื่อไม่ถึง 20 ปีก่อน และส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในมหาสมุทรลึก ซึ่งทำให้ยากที่จะทำความเข้าใจถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของฟองน้ำเหล่านั้นได้อย่างเต็มที่ แต่ฟองน้ำพิณที่ทีมวิจัยเก็บมานี้เป็นตัวอย่างแรกที่พวกเขาได้วงจรชีวิตอย่างสมบูรณ์ของฟองน้ำกินเนื้อ ซึ่งรวมถึงการขยายพันธุ์โดยอาศัยเพศ
ในรายงานนั้นนักวิจัย ระบุว่า ฟองน้ำส่วนใหญ่จะปล่อยอสุจิที่ว่ายน้ำได้อย่างคล่องแคล่วไปในน้ำทะเลรอบๆ แต่ปรากฏว่า ฟองน้ำกินเนื้อทั้งหมดจะถ่ายอสุจิไปในถุงหนาๆ ที่เรียก “สเปิร์มาโตฟอร์” (ermatophore) และลูกบอลพองๆ ที่ปลายกิ่งของฟองน้ำนั้นจะยึดถุงอสุจิไว้
ลูกบอลดังกล่าวจะปล่อยสเปิร์มาโทฟอร์ไปกับกระแสน้ำที่ผ่านมา จากนั้นฟองน้ำที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะจับถุงอสุจินั้นไว้ด้วยเส้นใยละเอียดที่ตามกิ่งก้าน จากอสุจิก็จะทำหน้าที่เข้าไปผสมกับไข่ของฟองน้ำที่เป็นเจ้าบ้าน