xs
xsm
sm
md
lg

เซอร์ไพรส์! พบ “แมวป่า” สปีชีส์ใหม่ในบราซิล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

พบแมวป่าสปีชีส์ใหม่ในบราซิล (บีบีซี)
นักวิจัยใช้เทคนิคทางพันธุกรรมตรวจพบแมวป่าสปีชีส์ใหม่ในอเมริกาใต้ โดยผลจากการตรวจดีเอ็นเอพบว่า ประชากรแมวป่า 2 กลุ่มที่เคยชื่อว่าเป็นสปีชีส์เดียวกัน กลายเป็นแมวป่าต่างสปีชีส์ และไม่เคยผสมข้ามพันธุ์กันมานาน แล้วยังมีวิวัฒนาการที่แยกกันอย่างชัดเจน

การค้นพบแมวป่าดังกล่าวตีพิมพ์ลงวารสารเคอร์เรนท์ ไบโอโลจี (Current Biology) โดยข้อมูลจากบีบีซีเนเจอร์ระบุว่า มีแมวป่าอย่างน้อย 7 สปีชีส์ในสกุลลีโอพาร์ดัส (Leopardus) ในทวีปอเมริกากลางและอเมริกาใต้ ซึ่งเชื่อว่าเป็นกลุ่มแรกที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวช่วงปลายสมัยไพลโอซีน (Pliocene) เมื่อ 2.5-3.5 ล้านปีมาแล้ว

ทีมวิจัยนำโดย ดร.เอดูอาร์โด ไอซีริค (Dr.Eduardo Eizirik) จากมหาวิทยาลัยคาธอลิคแห่งองค์สันตะปาปาริโอกรันเดโดซุล (Pontifical Catholic University of Rio Grande do Sul) ที่ปอร์ตูอาเลเกร บราซิล ได้เก็บตัวอย่างดีเอ็นเอจากแมวป่าปัมปัส (pampas cat) หรือ ลีโอพาร์ดัส โคโลโคโล (Leopardus colocolo) ในทางตอนเหนือของบราซิล และแมวป่าจอฟรัวส์ (Geoffroy's cat) หรือ ลีโอพาร์ดัส จอฟรัวยี (L.geoffroyi) จากทางตอนใต้ของบราซิล และประชากร 2 กลุ่มของแมวป่าไทกรีนา (tigrina) หรือ ลีโอพาร์ดัส ไทกรีนัส (L.tigrinus) ที่อาศัยอยู่แยกกันจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ของบราซิล

ดร.ไอซีริค อธิบายว่า พวกเขาใช้เครื่องหมายบนโมเลกุลหลายแบบเพื่อศึกษาประวัติการวิวัฒนาการของสายพันธุ์เหล่านี้ เครื่องหมายโมเลกุลเหล่านี้มีอัตราวิวัฒนาการที่แตกต่างกัน ซึ่งให้ข้อมูลที่มีกรอบเวลาแตกต่างกัน และเมื่อเปรียบเทียบลำดับเครื่องหมายดีเอ็มเอเชิงโครโมโซม และการลำดับเครื่องหมายดีเอ็มเอเชิงโมโตคอนเดรีย หลายๆแบบ นักวิทยาศาสตร์ก็ตรวจสอบย้อนกลับไปดูรูปแบบการผสมข้ามสายพันธุ์ระหว่างสปีชีส์และประชากรของแมวป่าเหล่านี้ได้

เครื่องหมายดีเอ็นเอเผยว่าประชากรแมวป่าไทกรีนาทางภาคใต้มีการผสมพันธุ์กับแมวชอฟรัวส์ในบริเวณที่แมวทั้ง 2 สปีชีส์มีการติดต่อกัน ในทางตรงกันข้ามพวกเขาพบหลักฐานว่ามีการผสมข้ามสายพันธุ์ในสมัยโบราณระหว่างแมวป่าไทกรีนาทางตะวันออกเฉียงเหนือและแมวป่าปัมปัส แต่สิ่งที่ทำให้ ดร.ไอซีริค และทีมวิจัยประหลาดใจมากที่สุดคือ ไม่มีหลักฐานใดๆ แสดงให้เห็นว่ามีการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างแมวป่าไทกรีนาที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือและตะวันออกเฉียงใต้

“การสังเกตการณ์นี้เป็นบ่งชี้ว่า ประชากรแมวป่าไทกรีนาเหล่านี้ไม่ได้ผสมข้ามพันธุ์ ซึ่งทำให้เรายอมรับว่า แมวป่าเหล่านั้นเป็นสปีชีส์ที่แยกกันอย่างชัดเจน ซึ่งการแยกอย่างชัดเจนในระดับสปีชีส์ระหว่างประชากรแมวป่าไทกรีนานี้ ไม่ใช่สิ่งที่เราคาดว่าจะได้พบ” ดร.ไอซีริคกล่าว   
 
ทั้งนี้ ตามกฎการตั้งชื่อวิทยาศาสตร์สำหรับสัตว์ประชากรแมวป่าทางตะวันออกเฉียงเหนือที่หาได้ยากกว่า จะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ตามเดิมคือ ลีโอพาร์ดัส ไทกรีนัส เพราะในเชิงภูมิศาสตร์เป็นแมวป่าที่มีความเป็นชนิดพันธุ์ท้องถิ่นมากกว่า ขณะที่ประชากรทางตอนใต้ซึ่งพบได้ทั่วไปจะขอใช้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า ลีโอพาร์ดัส กัตตูลัส (Leopardus guttulus)

“การยอมรับถึงสปีชีส์ที่แตกต่างอย่างชัดเจนของแมวป่าไทกรีนาในบราซิลนั้น เน้นย้ำความจำเป็นที่ต้องประเมินสถานภาพเชิงอนุรักษ์ของพวกมันอย่างเร่งด่วน และอาจได้พบว่าพวกมันกำลังถูกคุกคามให้สูญพันธุ์ ผลลัพธ์ของกรณีศึกษานี้แสดงให้เห็นว่า มีเรื่องที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับธรรมชาติอีกมาก แม้กระทั่งพวกที่เราคิดว่าเราน่าจะรู้เรื่องดีที่สุดแล้ว อย่างพวกแมว จริงๆ แล้วยังมีเรื่องพื้นฐานที่เรายังไม่รู้เกี่ยวกับแมวป่าอยู่เยอะ ตั้งแต่การกระจายตามสภาพภูมิศาสตร์ที่ถูกต้อง อาหารของพวกมัน และแม้แต่การแบ่งแยกในระดับสปีชีส์อย่างเช่นกรณีนี้เป็นต้น'” ดร.ไอซีริคกล่าว
ประชากรแมวป่าไทกรีนาทางตะวันออกเฉียงเหนือของบราซิลยังคงใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดิม ตามกฎการตั้งชื่อสัตว์ (บีบีซี)






กำลังโหลดความคิดเห็น