xs
xsm
sm
md
lg

นักวิทย์พบโลมาหลังโหนกสปีชีส์ใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นักวิทยาศาสตร์จำแนกโลมาหลังโหนกแถบชายฝั่งออสเตรเลียว่าเป็นสปีชีส์ใหม่ เพิ่มเป็น 4 สปีชีส์
นักวิทยาศาสตร์พบโลมาหลังโหนกที่ชายฝั่งออสเตรเลียเป็นสปีชีส์ใหม่ เดิมเข้าใจว่าโลมาประเภทนี้มีเพียง 3 สปีชีส์ แต่เพิ่งประกาศพบอีกสปีชีส์ ชี้จะเป็นหลักฐานทางวิทยาศาสตร์เพื่อนำไปสู่การจัดการอนุรักษ์สัตว์ที่ถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์เหล่านี้

อาวเออร์อะเมซิงแพลเนตและไลฟ์ไซน์เผยว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์จากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน (American Museum of Natural History) และสมาคมอนุรกัษ์สัตว์ป่า (Wildlife Conservation Society) ประกาศพบว่าประชากรโลมาหลังโหนก (Humpback dolphin) ทางชายฝั่งตอนเหนือของออสเตรเลียเป็นสปีชีส์ใหม่ สปีชีส์ที่ 4 ซึ่งเดิมนักวิทยาศาสตร์เข้าใจว่าโลมาประเภทนี้มีเพียง 3 สปีชีส์ และได้ตีพิมพ์ผลวิจัยลงวารสารโมเลกูลาร์อีโคโลจี (Molecular Ecology)

สำหรับโลมาหลังโหนกที่ได้ชื่อตามลักษณะหลังนั้น มีพื้นที่แหวกว่ายตั้งแต่สามเหลี่มปากแม่น้ำ แหล่งน้ำกร่อย ไปจนถึงชายฝั่งทะเลต่างๆ จากมหาสมุทรอินเดีย แปซิฟิกไปและแอตแลนติกตะวันออก โดยสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมในน้ำนี้สามารถโตได้ถึง 2.4 เมตร และมีสีผสมผสานตั้งแต่ สีเทา สีชมพูและสีขาว ซึ่งนักวิจัยระบุว่า การมีพื้นที่กระจายตัวกว้างดังกล่าวเป็นเหตุให้กลุ่มประชากรที่แยกตัวมีวิวัฒนาการไปสู่สปีชีส์ที่แยกต่างหาก แล้วปรับตัวให้เข้ากับแหล่งอาศัยท้องถิ่นนั้นๆ






มาร์ติน เมนเดซ (Martin Mendez) นักวิจัยจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า และพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน กล่าวว่า ทีมวิจัยรู้สึกประหลาดใจ ทั้งนี้ในแง่โครงสร้างโลมาเหล่านั้นก็ดูไม่แตกต่างจากโลมาสปีชีส์อื่นๆ แต่ผลจากการตรวจพันธุกรรมทำให้พวกเขาประหลาดใจ เนื่องจากผลแสดงให้เห็นว่ามีความแตกต่าง

ในการศึกษาเผ่าพันธุ์วิวัฒนาการของโลมานั้น ทีมวิจัยได้ตรวจพันธุกรรมและรายละเอียดเชิงโครงสร้างจากโลมาทั่วบริเวณถิ่นอาศัยของโลมาหลังโหนกทั้งหมด รวมถึงตัวอย่างเนื้อเยื่อจากโลมา 235 ตัว และลักษณะทางกายภาพอื่นๆ กว่า 20 ลักษณะจากกะโหลกโลมาอีก 180 กะโหลก รายงานของไลฟ์ไซน์ระบุ และนักวิจัยยังกล่าวว่า การเข้าใจถึงขอบเขตถิ่นอาศัยของประชากรโลมาที่แตกต่างกันอย่างชัดเจนนั้น จะช่วยปรับปรุงความพยายามในการจัดการเพื่อปกป้องสัตว์ชนิดนี้



โลมาหลังโหนกสปีชีส์ใหม่ที่ชายฝั่งออสเตรเลีย (เอเอฟพี)



สหพันธ์นานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for Conservation of Nature: IUCN) ได้จัดบัญชีโลมาแอตแลนติก 2 สปีชีส์ที่มีสถานะน่าห่วง คือ โลมาทีมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เซาซาทิสซี (Sousa teuszii) ว่าอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ (vulnerable) และโลมาอินโดแปซิฟิก (Indo-Pacific) หรือโลมาขาวจีน (Chinese white dolphin) ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า เซาซาไชเนนซิส (Sousa chinensis) ว่าอยู่ในสถานะถูกคุกคามสู่การสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นสถานะที่ดีกว่าเสี่ยงสูญพันธุ์ขั้นหนึ่ง โดยสาเหตุหลักที่คุกคามโลมาเหล่านี้คือการสูญเสียแหล่งอาศัยและการทำประมง

ด้านโฮเวิร์ด โรเซนบวม (Howard Rosenbaum) นักวิจัยจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าและพิพิภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาอเมริกัน กล่าวว่าข้อมูลเกี่ยวกับสปีชีส์ใหม่ของโลมาหลังโหนกนี้จะเพิ่มหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เพื่อการตัดสินใจในการจัดการสู่การปกป้องความหลากหลายทางพันธุกรรมที่จำเพาะ ซึ่งเชื่อมโยงกับถิ่นอาศัยที่มีความสำคัญต่อโลมานั้นๆ












กำลังโหลดความคิดเห็น