ก่อนหน้านี้เกสรดอกไม้เก่าแก่ที่สุดเท่าที่มนุษย์รู้จักมีอายุย้อนไปถึงยุคครีเตเชียสตอนต้น แต่ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสวิตเซอร์แลนด์และเยอรมนีได้ศึกษาฟอสซิลละอองเกสร 6 ตัวอย่าง พบว่ามีอายุย้อนไปถึงยุคไทรแอสซิกตอนกลางที่เก่าแก่กว่า ชี้ว่ากำเนิดพืชดอกบนโลกอาจเร็วกว่าที่เคยเข้าใจมากกว่า 100 ล้านปี
บีบีซีนิวส์รายงานว่างานวิจัยดังกล่าวตีพิมพ์ลงวารสารฟรอนเทียร์อินแพลนท์ไซน์ (Frontiers in Plant Science) โดยพืชดอกหรือ แองจิโอเสปิร์ม (angiosperm) นั้นเป็นกลุ่มพืชมีเมล็ดที่หลากหลายและมีมากที่สุดบนโลก ซึ่งพืชที่ผลิตเมล็ดพันธุ์ได้นี้จะสร้างละอองเกสร แต่ละละอองจะห่อหุ้มเซลล์ตัวผู้ที่ใช้ในการสืบพันธุ์แบบอาศัยเพศ
“นั่นคือเหตุผลทำไมพืชจึงพัฒนาผนังอินทรีย์ที่แกร่งและทนทานเพื่อปกป้องเซลล์เหล่านั้น ในการเก็บรักษาโดยฟอสซิล เราเจอแค่ผนังปกป้องละอองเกสรเหล่านั้น” บีบีซีนิวส์ระบุคำกล่าวของ ศ.ปีเตอร์ โฮชูลิ (Prof Peter Hochuli) จากมหาวิทยาลัยซูริค (University of Zurich) สวิตเซอร์แลนด์
จากพื้นความรู้ที่ว่าการเพิ่มจำนวนอย่างมหาศาลและหลากหลายของพืชดอกระว่างยุคครีเตเชียสตอนต้น (Early Cretaceous) ซึ่งเป็นยุคอดีตเมื่อราว 140 ล้านปีก่อน และสันนิษฐานว่าพืชดอกเริ่มกำเนิดขึ้นในยุคนี้ ทว่าตัวอย่างละอองเกสรล่าสุดมีอายุย้อนไปถึงยุคไทรแอสซิกตอนกลาง (Middle Triassic) ที่เก่าแก่กว่ายุคครีเตเชียส โดยทีม ศ.โฮชูลิ ได้ใช้กล้องจุลทรรศน์ส่องกราดแบบเลนส์รวมแสงเพื่อบันทึกภาพสามมิติความละเอียดสูงของฟอสซิลละอองเกสรพืชคล้ายพืชดอก 6 ชนิด ที่จำแนกตามขนาด การจัดเรียงและโครงสร้าง
“ด้วยความแตกต่างเพียงเล็กน้อยละอองเกสรจากยุคไทรแอสซิกตอนกลางดูคล้ายละอองเกสรแองจิโอสเปิร์มจากยุคครีเตเชียสตอนต้น” ศ.โฮชูลิอธิบาย
เมื่อผนวกเข้ากับรายงานก่อนหน้าเกี่ยวกับการพบละอองเกสรในตะกอนดินยุคไทรแอสซิกจากทะเลบาเรนต์ส (Barents Sea) ที่มีคุณลักษณะเหมือนกับละอองเกสรเหล่านี้ บ่งชี้ว่าพืชดอกมีกำเนิดมานานกว่าที่คาดราว 100 ล้านปี อยู่ในยุคไทรแอสซิกตอนกลางที่ย้อนกลับไปได้ราว 243 ล้านปีก่อน
ศ.โฮชูลิยังเชื่อว่ากำเนิดพืชดอกอาจยาวนานกว่านั้น แต่ตอนนี้มีเพียงหลักฐานเก่าแก่สุดเพียงเท่านี้ และในช่วง 100 ล้านปีนับจากยุคไทรแอสซิกตอนกลางมาถึงยุคครีเตเชียส ยังไม่พบร่องรอยของพืชดอกอื่นๆ อีก แต่เขาเชื่อว่าน่าจะเป็นการสำรวจที่ยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากเขาเองยังขาดประสบการณ์ในการสำรวจทะเลบาเรนท์ส ที่คาดว่าละอองเกสรจิ๋วๆ จากอดีตอาจคลาดสายตาไป
เนื่องจากมีละอองเกสรตัวอย่างเพียงเล็กน้อย ทำให้อธิบายถึงภูมิอากาศในอดีตได้ไม่มากนัก แต่นักวิจัยระบุว่าด้วยลักษณะเกสรรวมพอจะบอกได้ว่าระหว่างยุคไทรแอสซิกตอนกลางนั้นในยุโรปตอนกลางแถบสวิตเซอร์แลนด์มีภูมิอากาศร้อนและแห้งแล้ว ส่วนทะเลบาเรนต์สนั้นยังร้อนแต่มีความชื้น
สำหรับการศึกษาต่อไปทีมวิจัยเดินหน้าอธิบายตามหลักวิชาการว่าละอองเกสรเหล่านี้คือสปีชีส์ใหม่ แต่ ศ.โฮชูลิยังมีความสนใจมากกว่านั้น เพราะเขายังจะออกค้นหาหลักฐานใหม่ๆ จากแหล่งสำรวจอื่น และเป็นแหล่งที่มีตะกอนดินเก่าแก่กว่า เช่น ตะกอนดินจากยุคไทรแอสซิกตอนต้น เป็นต้น