xs
xsm
sm
md
lg

พบหลักฐานโบราณที่สุด 25 ล้านปี ชี้ “เอป” กับ “ลิง” แยกกันเมื่อไหร่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจินตนาการหน้าตาลิงเอปรัคเวพิเธคัส (ตัวหน้า) และ ลิงโลกเก่าซุงเวพิเธคัส (ตัวหลัง) - credit: ไลฟ์ไซน์ / Mauricio Anton
ทีมนักวิจัยขุดพบฟอสซิลเก่าอายุ 25 ล้านปีของ “ลิงเอป” และ “ลิงมีหาง” ใต้ก้นแม่น้ำในแทนซาเนีย ระบุเป็นหลักฐานโบราณที่สุดที่ยืนยันว่าลิงทั้งสองแยกสายพันธุ์วิวัฒนาการกันเมื่อไหร่

รายงานจากไลฟ์ไซน์และไซน์เดลี ระบุว่า ทีมนักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยโอไอโอ (Ohio University) สหรัฐฯ ขุดพบชิ้นส่วนฟอสซิลสองชิ้น จากก้นแม่น้ำในลุ่มน้ำรัคเวริฟต์ (Rukwa Rift Basin) แทนซาเนีย ทางหุบเขาตะวันออกของแอฟริกา ซึ่งเป็นชิ้นส่วนของ “เอป” หรือลิงไม่มีหาง เช่น ลิงชิมแปนซี และ ชะนี  เป็นต้น กับอีกชิ้นที่เป็นของลิงโลกเก่า (Old World monkeys) เช่น ลิงบาบูน และลิงแสม

ชิ้นส่วนที่ขุดพบนั้นเป็น “ขากรรไกรล่าง” ของลิงเอปพันธุ์ รัคเวพิเธคัส ฟลีกเลอิ (Rukwapithecus fleaglei) และ “ฟันกราม” ของลิงโลกเก่าสายพันธุ์ ซุงเวพิเธคัสกันเนลลิ (Nsungwepithecus gunnelli) ซึ่งทีมวิจัยจากสหรัฐฯ และแทนซาเนีย ได้พบฟอสซิลของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม2สายพันธุ์นี้เมื่อประมาณ10ปีก่อน

แนนซี สตีเฟน (Nancy Steven) หัวหน้าทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยโอไฮโอกล่าวว่า จากหลักฐานทางดีเอ็นเอ (DNA) พบว่าลิงเอปกับลิงโลกเก่านั้นเคยมีความเกี่ยวดองกันทางสายพันธุ์ และได้แตกสายพันธุ์กันเมื่อประมาณ 25-30ล้านปีก่อน เมื่อสมัยโอลิโกซีน (Oligocene epoch) ซึ่งการค้นพบครั้งนี้ช่วยตอบข้อสันนิษฐานเรื่องช่วงเวลาของการพัฒนาสายพันธุ์หลักของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เนื่องจากฟอสซิลที่เก่าแก่ที่สุดที่เคยขุดพบมีอายุเพียง20ล้านปีเท่านั้น แต่จากการวิเคราะห์ทางธรณีวิทยาคาดว่าฟอสซิลของลิงทั้งสองที่พบนี้มีอายุประมาณ25 ล้านปี

อายุของตัวอย่างใหม่ที่พบนี้ได้ยืดอายุกำเนิดของลิงเอปและลิงโลกเก่าออกไปถึงสมัยโอลิโกซีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาเมื่อ 34ล้านปีที่ปีก่อนมาถึงเมื่อ 23 ล้านปีที่ผ่าน และสตีเฟนด้วยกล่าวว่า ก่อนหน้านี้มีสัตว์ตระกูลไพรเมทที่เรารู้จักเพียง 2 สปีชีส์ แต่ฟอสซิลของลิงเอปและลิงโลกเก่าที่ขุดพบนี้เป็นลิงสปีชีส์ใหม่ และเป็นหลักฐานแรกที่แสดงว่าลิงทั้งสองแยกสายวิวัฒนาการกันอย่างชัดเจนในช่วงอายุทางธรณีวิทยาดังกล่าว อีกทั้งยังช่วยปรับสมมติฐานเกี่ยวกับช่วงเวลาของการแยกสายวิวัฒนาการของลิงไพรเมทกลุ่มใหญ่ได้ดีขึ้น

ฟอสซิลดังกล่าวถูกพบในชั้นดินของรอยแยกรัคเว ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรอยแยกแอฟริกาตะวันออก ซึ่งเป็นขอบแผ่นเปลือกโลกที่เปลือกโลกถูกดึงแยกออกจากัน และการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ดังกล่าวของแอฟริกาเป็นมูลเหตุที่นักวิจัยเชื่อว่าส่งอิทธิพลให้เกิดการแยกสายวิวัมนาการระหว่างลิงเอปและลิงโลกเก่า 
ขากรรไกรของ รัคเวพิเธคัส (ไลฟ์ไซน์/แนนซี สตีเฟนส์)
ด้าน วิลเลียม แซนเดอร์ส (William Sanders) นักมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยมิชิแกน (University of Michigan) สหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้ร่วมในงานวิจัยนี้กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นอย่างยิ่ง เพราะหลักฐานเก่าที่สุดของลิงโลกเก่าหรือ เซอร์โคพิเธคอยด์ (cercopithecoid) ที่เก็บได้จากนาปัค (Napak) ของอูกันดานั้นมีอายุประมาณ 20 ล้านปีเท่านั้น หากแต่การแยกสายวิวัฒนาการระหว่าง เซอร์โคพิเธคอยด์ กับลิงเอปหรือ โฮมินิดส์ (hominoids) จากบรรพบุรุษร่วมกันในสมัยโอลิโกซีนก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะข้อมูลทางพันธุศาสตร์ได้บ่งชี้อยู่แล้ว

แม้ว่าฟอสซิลที่พบจะเป็นเศษชิ้นส่วน แต่กระนั้นก็ได้ให้ข้อมูลสำคัญเกี่ยวกับวิวัฒนาการ โดยอ้างตามที่สตีเฟนส์ระบุ ซึ่งฟอสซิลของซุงเวพิเธคัส เป็นขากรรไกรที่มีฟันกรามเพียงซี่เดียว โดยรูปร่างของฟันและมิติอื่นๆ ชี้เป็นฟันของสปีชีส์ที่เกี่ยวโยงกับเซอร์โคพิเธคัสในยุคต้นๆ ส่วนฟอสซิลของรัคเวพิเธคัสนั้นมีขากรรไกรที่สมบูรณ์กว่า พร้อมด้วยฟันกรามน้อย 1 ซี่ และฟันกรามอีก 3 ซี่ โดยการวิเคราะห์เบื้องต้นชี้ว่าเป็นฟันจากโฮมินิดส์ในกลุ่ม ไนแอนซาพิเธซีน (nyanzapithecine)

ทีมวิจัยประเมินว่า รัคเวพิเธคัส น่าจะหนักราว 12 กิโลกรัม ส่วนตัวอย่างซุงเวพิเธคัส นั้นแตกละเอียดมาก จนยากจะประเมินขนาดของลิงโลกเก่าสายพันธุ์นี้ แต่คาดว่าน่าจะตัวเล็กกว่า  รัคเวพิเธคัส  พอสมควร ซึ่งการพบครั้งนี้พวกเขาได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยลงวารสารเนเจอร์ (Nature)







กำลังโหลดความคิดเห็น