นักโบราณคดีขุดพบหลักฐานที่น่าจะเป็นหลักฐานเก่าแก่ที่สุดในการล่าและชำแหละสัตว์ของบรรพบุรุษมนุษย์โบราณ โดยพวกเขาได้พบกระดูกสัตว์และเครื่องหินนับหลายพันชิ้น ที่ถูกใช้โดยต้นกำเนิดมนุษย์ ซึ่งบ่งชี้ว่าบรรพบุรุษของมนุษย์ในยุคแรกๆ นั้นรู้จักการชำแหละและแยกเอาเนื้อออกมากินอย่างน้อยๆ 2 ล้านปีแล้ว
การค้นพบดังกล่าวตีพิมพ์ลงวารสารพลอสวัน (PLOS ONE) ซึ่งสนับสนุนแนวคิดว่าการกินเนื้อมนุษย์โบราณนั้นได้กระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แก่มนุษย์สปีชีส์ โฮโม (Homo) นับแต่นั้น
นายโจเซฟ เฟอร์ราโร (Joseph Ferraro) นักโบราณคดีจากมหาวิทยาลัยเบย์เลอร์ (Baylor University) ในวาโค เท็กซัส สหรัฐฯ ผู้ร่วมวิจัย กล่าวว่า ข้อมูลฟอสซิลเผยให้เราเห็นว่า มนุษย์เมื่อประมาณ 2 ล้านปีก่อนนั้น มีขนาดสมองและขนาดตัวที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และโฮมินิน (มนุษย์โบราณ) ก็ย้ายจากแอฟริกาไปยูเรเซีย (Eurasia) ซึ่งการกินเนื้อนั้นเป็นพลังงานสำหรับการแปลงโฉมดังกล่าว
นายเฟอร์ราโรยังกล่าวอีกว่า ก่อนหน้านี้มีหลักฐานของการกินเนื้อที่เก่าแก่ที่สุดในออลดูไว จอร์จ ในแทนซาเนีย ซึ่งคำนวณอายุได้ 1.8 ล้านปีมาแล้ว แต่ข้อมูลของฟอสซิลก็ไม่ได้ชี้ชัดถึงการล่าและแยกเอาเนื้อมากิน กระทั่งเจออีกหลักฐานที่อายุอ่อนกว่า 1 ล้านปีหลังจากนั้น
สาเหตุที่แท้จริงในการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของมนุษย์โบราณเมื่อ 1.9 ล้านปีก่อน ยังคงเป็นปริศนาอยู่ มีการศึกษาบางแห่งแนะว่าเนื้อสัตว์ใหญ่นั้นอาจนำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ แต่บางการศึกษาก็แย้งว่าไม่ใช่แค่เนื้อหากแต่เป็นการประกอบอาหารด้วยเนื้อที่ทำให้เรากลายเป็นมนุษย์
ย้อนไปไกลกว่า 10 ปีแล้วที่กวิจัยขุดหาพบเครื่องมือยุคหินนับพันในกองโครงกระดูกสัตว์บนตะกอนดินเหนียวปนทรายของหาดทะเลสาบวิคตอเรียในเคนยา โดยสิ่งประดิษฐ์จากที่พบนั้นรู้จักกันในชื่อ เคนเยรา (Kanjera) และมีอายุประมาณ 2 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งให้หลักฐานอันเก่าแก่ที่สุดของมนุษย์ที่น่าจะอาศัยอยู่ในทุ่งหญ้ามากกว่าจะอยู่ในป่า
ในจำนวนหลักฐานที่พบนั้นมีสัตว์จำพวกละมั่งตัวเท่าแพะอยู่หลายสิบชิ้น และกระดูกส่วนใหญ่ถูกพบในพื้นที่ขุดคุ้นดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า ซากสัตว์ถูกนำมารวมไว้บริเวณดังกล่าวทั้งหมด ซึ่งเฟอร์ราโรยังบอกแก่ไลฟ์ไซน์ที่รายงานเรื่องนี้ว่า ทีมของเขาพบร่องรอยบนกระดูกที่ถูกเครื่องมือหินหยาบๆ ขุดเอาเนื้อ และแยกเอาเนื้อกับเครื่องในออกไป
เมื่อนำหลักฐานของทั้งหมดมารวมกันแล้วจึงพบร่องรอยว่าสัตว์เหล่านั้นถูกล่า และไม่ได้ถูกคุ้ยซาก และในแอฟริกาทุกวันนี้อีแร้งก็ไม่กินสัตว์เหล่านั้น เนื่องจากผู้ล่าชั้นแรกอย่างสิงโตและไฮยีนานั้นจะกินเหยื่อทั้งหมด ไม่เหลือซากไว้ให้ และบริเวณขุดค้นยังพบกะโหลกร้าวๆ ของละมั่งขนาดเท่าวัว ซึ่งนักวิจัยสรุปว่ากะโหลกเหล่านี้ถูกแซะโดยมนุษย์โบราณ เนื่องจากในปัจจุบันนี้ยังพบหัวของวัวป่าเกลื่อนทุ่งหญ้าเซเรนเกติ (Serengeti)
"การแทะซากอย่างไฮยีนานั้นจะกินซากทั้งหมด แต่จะเหลือหัวเหยื่อไว้ เพราะไม่อาจทำให้แตกเพื่อแยกเอาสมองได้” เฟอร์ราโร กล่าว
ทีมวิจัยได้ตั้งสมมุติฐานว่า พวกเขาพบหัวของสัตว์ทิ้งไว้ในทุ่งหญ้า จึงได้ทุบให้แตกเพื่อเอาสมองที่อุดมด้วยไขมัน สารอาหารและพลังงานออกมา ซึ่งอาจจะเป็นตัวกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการเปลี่ยนแปลงที่พบได้ต่อมาในบรรพบุรุษของมนุษย์ปัจจุบันอย่าง โฮโม อิเร็คตัส (Homo erectus)
อย่างไรก็ดี ทีมนักวิจัยก็ไม่ได้พบหลักฐานว่ามนุษย์โฮมินินเป็นผู้ล่าสัตว์ที่พบในแหล่งขุดค้นดังกล่าว ถึงนักวิจัยจะไม่แน่ใจว่าใครคือบรรพบุรุษมนุษย์โบราณเหล่านั้น แต่เฟอร์โรรากล่าวว่า มนุษย์โบราณเหล่านั้นจะต้องเดินตัวตรง และปรับตัวที่จะใช้ชีวิตอยู่ในทุ่งหญ้า ซึ่งอาจจะเป็น โฮโมอิเร็คตัส หรือบรรพบุรุษที่พวกเขาสืบต่อพันธุกรรมมาอย่างใกล้ชิด