xs
xsm
sm
md
lg

รัสเซียเร่งกู้ยานสำรวจบริวาร “ดาวแดง” ออกจากวงโคจรโลก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จรวดเซนิท-2 นำยานโฟบอสกรันท์ หรือ โฟบอส-กราวนด์ทะยานขึ้นจากฐานปล่อยจรวดไบโคนัวร์ (เอพี)
ยานอวกาศรัสเซียที่มุ่งหน้าเก็บตัวอย่างดวงจันทร์ของดาวอังคารต้องติดค้างอยู่ในวงโคจรของโลก ผู้เชี่ยวชาญต้องเร่งจุดเครื่องยนต์เพื่อส่งยานไปดาวแดงภายใน 2 สัปดาห์ ไม่เช่นนั้นยานอวกาศซึ่งบรรทุกเชื้อเพลิงเป็นพิษต่อสิ่งมีชีวิต 11 ตันจะตกสู่พื้นโลก แต่ผู้เชี่ยวชาญซากอวกาศสหรัฐฯ ชี้เชื้อเพลิงดังกล่าวจะระเบิดไปในบรรยากาศชั้นบนโดยไม่ตกสู่พื้นโลก

ทั้งนี้ ยานโฟบอส -กราวนด์ (Phobos-Ground) หรือ โฟบอส-กรันท์ (Phobos-Grunt) มูลค่ากว่า 5,100 ล้านบาทของรัสเซียที่มีเป้าหมายไปเก็บตัวอย่างจากดวงจันทร์โฟบอส (Phobos) บริวารของดาวอังคารกลับมายังโลกนั้น ได้ทะยานจากฐานปล่อยจรวดไบโคนัวร์ (Baikonur cosmodrome) ในคาซัคสถานเมื่อเช้าตรู่วันพุธที่ 9 พ.ย.54 ที่ผ่านมาตามเวลาประเทศไทย โดยยานได้แยกออกจากจรวดนำส่งเซนิท-2 (Zenit-2) หลังจากปล่อยยาน 11 นาที แต่เครื่องยนต์ที่ต้องจุดระเบิดเพื่อนำยานมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารกลับไม่ทำงาน จึงทำให้ยานติดอยู่ในวงโคจรชั้นต่ำของโลก

ตอนนี้ยานอวกาศของรัสเซียกำลังโคจรอยู่ที่ระดับความสูง 207-341 กิโลเมตร แต่จากระบบแกะรอยดาวเทียมของอเมริกันชี้ว่าวงโคจรของยานดังกล่าวกำลังลดระดับลงเรื่อยๆ โดยองค์การอวกาศแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย (The Russian Federal Space Agency) หรือ รอสคอสมอส (Roscosmos) ระบุว่า วงโคจรและแหล่งพลังงานของยานช่วยให้ยานโคจรรอบโลกอยู่ได้ประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งตรงกับการคำนวณขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา)

จากรายงานของรอยเตอร์ วลาดิมีร์ โปโปฟกิน (Vladimir Popovkin) ผู้อำนวยการองค์การอวกาศของรัสเซีย กล่าวว่า นักวิทยาศาสตร์ในกรุงมอสโกว รัสเซียมีเวลาเพียง 2 สัปดาห์ในการแก้ปัญหาก่อนที่ “หน้าต่างการส่ง” (window) หรือโอกาสในการส่งยานไปยังดาวอังคารจะปิดลง โดยเขาบอกด้วยว่าระบบที่ช่วยนำยานมุ่งหน้าสู่ทิศทางที่ถูกต้องอาจจะทำงานผิดพลาด และยังเผยกับสถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นว่า วิศวกรอวกาศมีเวลาเพียง 3 วัน เพื่อเซตให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ของยานอวกาศกลับมาทำงานใหม่ก่อนที่แบตเตอรีจะหยุดทำงาน

อย่างไรก็ดี ความพยายามในการกู้ยานอวกาศที่ติดอยู่ในวงโคจรนั้นมีอุปสรรคจากข้อจำกัดในเครือข่ายการสื่อสารระหว่างโลกและอวกาศ แม้แต่ก่อนเกิดปัญหานี้ขึ้นทางผู้ควบคุมการส่งยานยังถูกบังคับให้ร้องขอประชาชนในอเมริกาใต้เพื่อช่วยกันสำรวจฟ้าดูว่าเครื่องยนต์ของยานอวกาศทำงานหรือไม่ และนักดาราศาสตร์สมัครเล่นก็เป็นกลถ่มแรกที่พบปัญหาว่ายานอวกาศติดอยู่ในวงโคจรของโลก

ถึงอย่างนั้น ผู้เชี่ยวชาญในสหรัฐฯ ก็มั่นใจมากกว่ารัสเซียจะส่งยานอวกาศออกไปได้ โดย เจมส์ โอเบิร์ก (James Oberg) ผู้เชี่ยวชาญของนาซาและเป็นที่ปรึกษาทางด้านอวกาศกล่าวว่า ยังไม่มีสัญญาณการระเบิดหรือการเผาไหม้ของยานอวกาศบางส่วน ซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดี โดยเขามั่นใจว่ายานอวกาศของรัสเซียยังอยู่ในสภาพที่ดี และยังมีโอกาสที่รัสเซียจะประสบความสำเร็จเช่นเดียวกับกรณีการซ่อมกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) และการนำยานอวกาศอะพอลโล 13 (Apollo 13) กลับโลกอย่างปลอดภัย หลังเกิดอุบัติเหตุจนยานไม่สามารถลงจอดบนดวงจันทร์ได้

ปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นมีสาเหตุจากปัญหาทางด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งเป็นความหวังให้รัสเซียสามารถส่งยานอวกาศต่อไปได้ โดย บรูซ เบตต์ส (Bruce Betts) ผู้อำนวยการโครงการของสมาคมอวกาศระหว่างดวงดาว (Planetary Society) ในสหรัฐฯ ระบุว่า ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่ แต่แก้ไขได้ และเกมนี้ยังไม่สิ้นสุด

ยานโฟบอส-กราวนด์หนัก 13.2 ตัน และในน้ำหนักดังกล่าวเป็นน้ำหนักเชื้อเพลิง 11 ตัน ซึ่ง นิโคลัส จอห์นสัน (Nicholas Johnson) ผู้เชี่ยวชาญด้านเศษซากอวกาศของนาซาชี้ว่าปัญหานั้นขึ้นอยู่กับว่าเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่นั้นเป็นของเหลวหรือถูกแช่แข็ง หากเป็นของเหลว หากเป็นของเหลวเชื้อเพลิงก็จะระเบิดโดยไม่สร้างอันตรายที่ความสูง 80 กิโลเมตรจากพื้นโลก แต่หากอยู่ในสภาพแช่แข็งก็เป็นไปได้ว่าเมื่อยานตกสู่พื้นโลกแล้วอาจเหลือเชื้อเพลิงอันตรายตกลงมาด้วย อย่างไรก็ดี ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ในสหรัฐฯ ซึ่งรวมถึงจอห์นสันเองด้วยเชื่อว่าเชื้อเพลิงที่เหลืออยู่นั้นเป็นของเหลว

หากแก้ปัญหาได้สำเร็จยานโฟบอส-กราวนด์จะไปถึงวงโคจรดาวอังคารในเดือน ก.ย.2012 และลงจอดบนดวงจันทร์โฟบอสในเดือน ก.พ.2013 และคาดว่ายานจะขนตัวอย่างพื้นดินของดวงจันทร์โฟบอสหนัก 200 กรัม กลับมายังโลกในเดือน ส.ค.2014 ซึ่งปฏิบัติการนี้นับว่าเป็นภารกิจสำรวจอวกาศที่ท้าทายที่สุด เพราะต้องอาศัยการจัดที่แม่นยำในหลายๆ เรื่อง เพื่อให้ยานไปถึงดวงจันทร์รูปทรงมันฝรั่งที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางเพียง 20 กิโลเมตร แล้วยานต้องลงจอดบนพื้นผิวที่มีหลุมลึกมากมาย จากนั้นต้องขุดเอาตัวอย่างพื้นผิว แล้วบินกลับโลก

“ถ้าปฏิบัติการนี้ได้ผลก็จะเป็นภารกิจที่เยี่ยมยอดมาก” สตีฟ สคิวเรส (Steve Squyres) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคาร์เนลล์ (Cornell University) สหรัฐฯ ซึ่งทำงานร่วมกับปฏิบัติการสำรวจดาวอังคารของสหรัฐฯ ที่มีทั้งประสบความสำเร็จและล้มเหลวอยู่หลายครั้งกล่าว และบอกด้วยว่าการสำรวจอวกาศเป็นเรื่องยาก และปฏิบัติการสำรวจดาวอังคารก็ยากมาก
จรวดเซนิท-2 ที่บรรทุกยานโฟบอส-กรันท์ก่อนทะยานฟ้า (รอยเตอรฺ์)
ยานโฟบอส-กรันท์ระหว่างสร้างก่อนส่งขึ้นฟ้า (เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น