ยานอวกาศของรัสเซีย “โฟบอสกราวนด์” ซึ่งมีเป้าหมายสำรวจดวงจันทร์ของดาวอังคารติดต่อกลับมาแล้ว ด้วยความช่วยเหลือขององค์การอวกาศยุโรป หลังติดอยู่วงโคจรโลกและไม่สามารถมุ่งหน้าสู่ดาวแดงได้ตามเป้า โดยสถานีรับสัญญาณภาคพื้นที่ออสเตรเลียสามารถจับสัญญาณจากยานสำรวจไร้มนุษย์ลำนี้ได้
ทั้งนี้ สหพันธ์อวกาศรัสเซียหรือ “รอสคอสมอส” (Roscosmos) ได้ส่งยานโฟบอส-กราวนด์ (Phobos-Ground) หรือโฟบอส-กรันท์ (Phobos-Grunt) ยานสำรวจดวงจันทร์โฟบอส (Phobos) ของดาวอังคารเมื่อวะนที่ 8 พ.ย.54 ที่ผ่านมา แต่ระหว่างที่ยานไร้มนุษย์ดังกล่าวขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำของโลก เพื่อเตรียมทะยานฟ้ามุ่งหน้าสู่ดาวเพื่อนบ้าน เครื่องยนต์ขับเคลื่อนกลับไม่จุดระเบิด จึงทำให้ยานไม่สามารถหนีจากวงโคจรของโลกได้
หากแต่สเปซไฟล์ทนาวได้รายงานข่าวดีนี้หลังจากที่ทางรัสเซียเองก็สิ้นหวังที่จะกู้คืนยานอวกาศมูลค่า 5,100 ล้านบาทนี้ โดยองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency) หรืออีซาได้รับการร้องขอจากทางรรัสเซียให้ช่วยรับสัญญาณติดต่อจากยานโฟบอสกราวนด์ และสถานีรับภาคพื้นที่เมืองเพิร์ธ ออสเตรเลียก็ได้ยินสัญญาณจากยานสำรวจบริวารดาวแดงนี้เมื่อประมาณ 03.25 น.ของวันที่ 23 พ.ย.11 ตามเวลาประเทศไทย อย่างไรก็ดีโอกาสที่ยานจะไปถึงดาวอังคารในปีหน้าตามกำหนดก็ดูเลือนลาง
หากแต่สัญญาณที่ส่งมาจากยานของรัสเซียที่กำหนดติดค้างอยู่ในวงโคจรโลกนี้เป็นเพียงสัญญาณวิทยุ และไม่ใช่การส่งข้อมูลทางไกลที่มีความหมายสำคัญ อย่างไรก็ดี จานรับสัญญาณกว้าง 14.9 เมตรนี้จะรอรับสัญญาณจากยานโฟบอสกราวนด์อีก ส่วนสถานีภาคพื้นอื่นของอีซาในเฟรนซ์กียานา (French Guiana) และหมู่เกาะคานารี (Canary Islands) ก็ได้ติดตามรับสัญญาณจากยานอวกาศของรัสเซียเช่นกัน
ก่อนหน้านี้เอพีรายงานว่า วิศวกรของรัสเซียได้พยายามที่จะกู้ข้อมูลจากยานอวกาศดังกล่าวทุกครั้งที่ยานโคจรผ่านอาณาเขตของรัสเซีย แต่พวกเขาก็ไม่สามารถติดตั้งการสื่อสารใหม่ได้ ซึ่ง วิทาลี ดาวีดอฟ (Vitaly Davydov) รองผู้อำนวยการรอสคอสมอส ให้ความเห็นผ่านสำนักข่าวอินเทอร์แฟกซ์ (Interfax) ว่า พวกเขาต้องยอมรับความจริง หากพวกเขาไม่สามารถติดต่อกับยานได้เป็นเวลานานมากๆ โอกาสที่จะบรรลุเป้าหมายก็ยิ่งเลือนลาง
เดวีดอฟกล่าวว่า วิศวกรของรัสเซียยังพยายามติดต่อยานลำนี้ต่อไปได้จนถึงสิ้นเดือนนี้เพื่อแก้ปัญหาเครื่องยนต์เพื่อนำทางยานสำรวจมุ่งหน้าสู่ดวงจันทร์โฟบอส ซึ่งเป็น 1 ใน 2 ของดวงจันทร์ดาวอังคาร ทั้งนี้ นักวิทยาศาสตร์ของรัสเซียสามารถแก้ไขปัญหาได้หากต้นเหตุมาจากซอฟต์แวร์ แต่ถ้าต้นตอเกิดจากปัญหาที่ฮาร์ดแวร์แล้วก็ยากที่จะแก้ไขได้ และความล้มเหลวครั้งนี้อาจทำให้รัสเซียเปลี่ยนลำดับความสำคัญในการวิจัยอวกาศให้ใหม่ โดยอาจจะให้ความสำคัญต่องานวิจัยศึกษาดวงจันทร์มากกว่าดาวอังคาร
ยานอวกาศที่ทำงานผิดพลาดนี้หนัก 13.2 ตัน ซึ่งน้ำหนักส่วนมากประมาณ 11 ตันนั้นเป็นน้ำหนักของเชื้อเพลิงที่มีความเป็นผิดสูง โดยเดวีดอฟระบุว่า หากไม่สามารถส่งยานโฟบอสกราวนด์ได้ก็จะตกสู่โลกระหว่างปลาย ธ.ค.-ปลาย ก.พ.12 โดยจะตกบริเวณใดนั้นจะคำนวณได้อย่างแม่นยำล่วงหน้ามากกว่า 1 วัน และเขาได้เน้นว่าหากจะคำนวณว่ายานดังกล่าวจะหล่นใส่ศีรษะใครนั้นมีโอกาสเป็นไปได้แทบจะเป็นศูนย์
ทางฟากสหรัฐฯ ก็เตรียมจะส่งยานที่มีชื่อเล่นแสดงถึงความช่างสงสัยว่า “คิวเรียสซิตี” (Curiosity) ไปสำรวจดาวอังคารในวันเสาร์ที่ 26 พ.ย.11 นี้ตามเวลาท้องถิ่น โดยยานลำดังกล่าวมีแขนยาว 7 ฟุตหรือประมาณ 2.1 เมตร ที่ตรงปลายติดเครื่องเจาะหินด้วยแรงอัดอากาศหรือแจ็คแฮมเมอร์ (jackhammer) และเลเซอร์เพื่อเจาะพื้นหินของดาวอังคาร และสิ่งที่ยานลำนี้ยืนอยู่แถวหน้าคือความสามารถในการวิเคราะห์หินและดินได้แม่นยำกว่าเดิม
“นี่คือเครื่องจักรกลในฝันของนักวิทยาศาสตร์ดาวอังคาร” อัชวิน วาซาวาดา (Ashwin Vasavada) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการยานสำรวจดาวอังคารนี้จากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) กล่าว
เมื่อไปถึงดาวอังคารแล้วยานคิวเรียสซิตีจะค้นหาสารประกอบอินทรีย์หรือสารประกอบที่มีคาร์บอน แม้ว่ายานสำรวจจะไม่สามารถตรวจหาสารอินทรีย์ที่มีชีวิตได้โดยตรง แต่นักวิทยาศาสตร์ก็คาดหวังที่จะเรียนรู้จากยานมูลค่า 75,000 ล้านบาทนี้ว่า ดาวอังคารนั้นมี หรือเคยมีสิ่งที่จะหล่อเลี้ยงจุลินทรีย์ได้หรือไม่
“คิวเรียสซิตีจะเป็นชิ้นส่วนเครื่องมือที่ใหญ่และซับซ้อนมากที่สุดที่ได้ไปอยู่บนพื้นผิวของดาวเคราะห์ดวงอื่น” ดัก แมคคุยชัน (Doug McCuistion) ผู้อำนวยการโครงการสำรวจดาวอังคารของนาซากล่าว
ด้วยความยาว 3 เมตร กว้าง 2.7 เมตรและมีความสูงนับถึงเสาวิทยุ 2.1 เมตร ยานคิวเรียสซิตีจึงมีขนาดเป็น เท่า ของยานสำรวจท่องสำรวจพื้นผิวดาวอังคารลำเก่าของนาซา คือ ยานสปิริต (Spirit) และ ยานออพพอร์จูนิตี (Opportunity) และยังมีน้ำหนักถึง 1 ตัน พร้อมเครื่องมือวิทยาศาสตร์อีก 10 อย่าง ส่วนชื่ออย่างเป็นทางการของยานคือห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ดาวอังคาร (Mars Science Laboratory) หรือเอ็มเอสแอล (MSL)