ที่สุดยานสำรวจดวงจันทร์บริวารดาวอังคารของรัสเซียก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย โดยติดอยู่ในวงโคจรของโลกและจะตกกลับสู่โลกในต้นเดือน ม.ค. 2012 นี้ โดยองค์การอวกาศรัสเซียเผยว่าเชื้อเพลิงอันตรายบนยานจะเผาไหม้จนหมดในชั้นบรรยากาศ แต่จะเหลือชิ้นส่วนแตกกระจายลงมาประมาณ 20-30 ชิ้น
จากการประเมินล่าสุดของรอสคอสมอส (Roscosmos) องค์การอวกาศรัสเซียนั้น ช่วงเวลาที่เศษชิ้นส่วนจากยานโฟบอส-กรันท์ (Phobos-Grunt) จะตกสู่พื้นโลกคือระหว่าง 6-19 ม.ค.2012 แต่ช่วงเวลาที่ยานมีโอกาสตกจะแคบลงเมื่อใกล้ถึงวันจริงๆ ซึ่งทั้งผู้เชี่ยวชาญและกลุ่มอาสาทั่วโลกต่างสร้างแบบจำลองการแตกสลายของยานในวงโคจร เพื่อจะประเมินให้ได้อย่างแม่นยำว่ายานลำนี้จะตกลงมาเมื่อไหร่และที่ไหน
ตอนนี้บีบีซีนิวส์รายงานว่ายานโฟบอส-กรันท์กำลังโคจรรอบโลกที่ความสูงระหว่าง 201-275 กิโลเมตร ในช่วงละติจูด 51 องศาเหนือและใต้ ครอบคลุมกรุงลอนดอนของอังกฤษ ซึ่งอยู่ในซีกฟ้าเหนือ ลงมาถึงเมืองปุนตา อารีนาส ของชิลี ซึ่งอยู่ในซีกฟ้าใต้
มวลของยานขณะปล่อยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศคือประมาณ 13 ตัน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นน้ำหนักของเชื้อเพลิง 2 ชนิด คือ อันซิมเมทริคัลไดเมทิลไฮดราซีน (unsymmetrical dimethylhydrazine) หรือ ยูดีเอ็มเอช (UDMH) และไดไนโตรเจนเตโตรไซด์ (dinitrogen tetroxide) หรือ ดีทีโอ (DTO) ซึ่งเป็นสารพิษอันตรายอย่างยิ่ง และทางเจ้าหน้าที่ของรัสเซียก็หวังว่าสารเคมีเหล่านี้จะถูกทำลายจนหมดระหว่างยานกลับเข้าสู่วงโคจร
ด้วยกว่า 70% ของพื้นผิวโลกปกคลุมไปด้วยน้ำ จึงมีโอกาสมากที่เศษชิ้นส่วนของยานสำรวจอวกาศนี้จะตกลงสู่มหาสมุทร และยานก็หนักเพียง 200 กิโลกรัม จึงไม่น่าจะเป็นปัญหา ทั้งนี้ ยานโฟบอส-กรันท์หรือโฟบอส-กราวนด์ (Phobos-Ground) ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลงจอดบนดวงจันทร์โฟบอส (Phobos) ซึ่งเป็นดวงจันทร์ที่ใหญ่ที่สุดในจำนวนดวงจันทร์ทั้งหมด 2 ดวงของดาวอังคาร และมีภารกิจในการตักพื้นผิวดาวอังคารแล้วนำกลับมายังโลก
หากปฏิบัติภารกิจดังกล่าวได้สำเร็จจะสร้างความเข้าใจที่ลึกซึ้งมากขึ้นเกี่ยวกับจุดกำเนิดของดวงจันทร์ที่มีความกว้างเพียง 27 กิโลเมตร รวมถึงเข้าใจดาวเคราะห์ที่โฟบอสโคจรรอบด้วย