ห่างออกไป 3.8 พันล้านปีแสง ในตำแหน่งกลุ่มดาวมังกร ดาวดวงมหึมาเกิดระเบิดรุนแรงกว่าทุกครั้ง ที่นักดาราศาสตร์เคยพบ และสร้างความมึนงงให้อย่างมาก ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่า ดาวดวงนี้ถูกแรงดึงดูดจากหลุมดำใจกลางกาแลกซี ฉีกทึ้งจนระเบิดอย่างที่เห็น
กล้องโทรทรรศน์เตือนการระเบิดเบิร์สต์อะเลิร์ต (Burst Alert Telescope) ที่ติดอยู่บนกล้องโทรทรรศน์อวกาศสวิฟต์ (Swift) ได้ตรวจจับภาพการะเบิดเป็นชุดๆ ของรังสีเอ็กซ์ที่รุนแรง ในตำแหน่งกลุ่มดาวมังกร (Draco) เมื่อวันที่ 28 มี.ค.2011 ที่ผ่านมา และกล้องโทรทรรศน์อวกาศดังกล่าวได้ประเมินตำแหน่งของการระเบิด ที่ตอนนี้ได้รับการระบุชื่อให้เป็นการระเบิดรังสีแกมมา (gamma-ray burst: GRB) “110328เอ” (110328A) และส่งข้อมูลไปให้นักดาราศาสตร์ทั่วโลก
ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ในโครงการหอดูดาวอวกาศต่างๆ ของ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ทั้งหอดูดาวสวิฟต์ กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) และกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอกซ์จันทรา (Chandra X-ray Observatory) ต่างระดมทีม เพื่อศึกษาการระเบิดรุนแรงนี้ ซึ่งปลดปล่อยรังสีพลังงานสูงออกมาอย่างต่อเนื่อง นานกว่าสัปดาห์และเลือนหายไปจากตำแหน่งเดิมที่อยู่
นักดาราศาสตร์หลายคนกล่าวว่า พวกเขาไม่เคยเห็นอะไรที่สว่างเท่านี้มาก่อน อีกทั้งยังปรากฏอยู่ยาวนาน และมีความแปรปรวนด้วย ตามปกติแล้ว การระเบิดรังสีแกมมาเป็นเครื่องบ่งบอกถึงการแตกสลายของดวงดาวขนาดใหญ่ แต่ที่ผ่านมาการปลดปล่อยแสงจ้าของปรากฏการณ์เหล่านี้ อยู่ได้นานแค่ไม่กี่ชั่วโมง
แม้ว่ายังอยู่ระหว่างการวิจัย แต่นักดาราศาสตร์สันนิษฐานว่า การระเบิดที่ไม่ปกตินี้ เกิดขึ้นเมื่อดวงดาวร่อนเร่เข้าไปใกล้หลุมดำในใจกลางกาแลกซี ด้วยแรงดึงดูดของหลุมดำที่รุนแรงมาก จึงฉีกทึ้งดวงดาวแตกกระจาย และก๊าซที่ถูกดูด ก็กลายเป็นไอที่พุ่งเข้าหาหลุมดำ ด้วยแบบจำลองดังกล่าวทำให้หลุมดำที่หมุนอยู่นั้นพ่นลำรังสีออกมาในแนวแกนหมุนของตัวเอง และเราจะเห็นการระเบิดของรังสีเอกซ์และรังสีแกมมา หากลำรังสีดังกล่าวชี้มายังทิศทางของเรา
ขณะที่กล้องโทรทรรศน์หลายสิบตัว ถูกนำมาใช้ในการศึกษาปรากฏการณ์นี้ นักดาราศาสตร์ได้สังเกตพบอย่างทันควันว่า มีกาแลกซีเล็กๆ อันห่างไกล ปรากฏอยู่ใกล้ๆ กับตำแหน่งการระเบิดที่กล้องสวิฟต์พบ ภาพถ่ายอวกาศที่บันทึกด้วยกล้องฮับเบิลเมื่อวันที่ 4 เม.ย.ชี้ว่า แหล่งกำเนิดแสงของการระเบิดนั้นอยู่ที่ใจกลางของกาแลกซีดังกล่าว ซึ่งอยู่ห่างออกไป 3.8 พันล้านปีแสง
จากนั้นในวันเดียวกัน นักดาราศาสตร์ได้ใช้กล้องโทรทรรศน์จันทราบันทึกภาพแหล่งกำเนิดแสงปริศนา ซึ่งได้ภาพที่ให้ความละเอียดของตำแหน่งวัตถุ มากกว่าภาพจากกล้องโทรทรรศน์สวิฟต์ 10 เท่า โดยในภาพแสดงให้เห็นว่า ตำแหน่งที่เกิดการระเบิดรุนแรงนี้อยู่ใจกลางกาแลกซีที่กล้องฮับเบิลบันทึกไว้
แอนดรูว ฟรุชเตอร์ (Andrew Fruchter) จากสถาบันวิทยาการกล้องโทรทรรศน์อวกาศ (Space Telescope Science Institute) ในบัลติมอร์ กล่าวว่า วัตถุในกาแลกซีของเรานั้น สามารถระเบิดซ้ำๆ ได้ เหมือนการระเบิดอันน่าฉงนนี้ แต่ความรุนแรงนั้น น้อยกว่าเป็นพันเป็นหมื่นเท่า ดังนั้น ปรากฏการณ์ระเบิดครั้งล่าสุดนี้จึงไม่ใช่เรื่องธรรมดา
ด้าน นีล เกห์เรลส์ (Neil Gehrels) หัวหน้านักวิทยาศาสตร์สำหรับโครงการกล้องสวิฟต์ประจำศูนย์การบินอวกาศก็อดดาร์ด (Goddard Space Flight Center) ของนาซากล่าวว่า พวกเขาตั้งตาคอยผลสังเกตการณ์ของกล้องฮับเบิล และข้อเท็จจริงที่ว่า การระเบิดดังกล่าวเกิดในใจกลางกาแลกซีนั้น บอกให้เราทราบว่าเหตุการณ์นี้ มีแนวโน้มที่จะเกี่ยวข้องกับหลุมดำขนาดใหญ่ ซึ่งช่วยไขปัญหาสำคัญเกี่ยวกับเหตุการณ์อันลึกลับนี้
นอกจากนี้วิทยาศาสตร์ยังวางแผนใช้กล้องฮับเบิลศึกษาว่า แกนกลางของกาแลกซีนั้น เปลี่ยนแปลงความสว่างไปหรือไม่ด้วย
กาแลกซีส่วนใหญ่ ซึ่งรวมถึงกาแลกซีทางช้างเผือก (Milky Way) ของเราด้วยนั้น มีหลุมดำที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์หลายล้านเท่า และหลุมดำในกาแลกซีขนาดใหญ่ที่สุด ยังใหญ่กว่าหลุมดำในกาแลกซีเราอีกเป็นพันเท่า
ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่าดวงดาวที่ระเบิดกระจุยดวงนี้อาจจะตกอยู่ในอำนาจของหลุมดำที่มีมวลน้อยกว่าหลุมดำในกาแลกซีของเรา ซึ่งมีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ 4 ล้านเท่า
ก่อนหน้านี้นักดาราศาสตร์ก็เคยตรวจพบดาวที่ถูกหลุมดำขนาดใหญ่ทำให้แตกสลาย แต่ยังไม่เคยมีครั้งไหน ที่พวกเขาพบว่ามีความสว่างจ้าของรังสีเอกซ์มากขนาดนี้และมีความแปรปรวนสูงดังที่พบในการระเบิดจีอาร์บี 110328เอนี้ โดยการระเบิดดังกล่าวเกิดสว่างจ้าขึ้นมาหลายครั้ง ดังตัวอย่างเมื่อวันที่ 3 เม.ย.เกิดความสว่างจ้าขึ้นมากกว่า 5 ครั้ง
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า รังสีเอกซ์นั้นอาจจะมาจากสสารที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็วเข้าใกล้ความเร็วแสงในลำอนุภาคที่พุ่งด้วยความเร็วสูง และก่อเกิดเป็นก๊าซของดวงดาวที่ตกลงไปในหลุมดำ ซึ่ง แอนดรูว เลวาน (Andrew Levan) จากมหาวิทยาลัยวอริค (University of Warwick) ในสหราชอาณาจักร ผู้นำการศึกษาจากผลของกล้องจันทรา กล่าวว่า การอธิบายถึงชั่วขณะเกิดเหตุการณ์ที่ดีที่สุดคือ การศึกษาไปที่ลำอนุภาคตรงๆ ซึ่งอาจทำให้เราได้ข้อมูลที่อาจจะพลาดไป
ทำความเข้าใจ "ปีแสง" เพิ่มเติม
คลิก!! "ปีแสง" แท้จริงบอกระยะทางหรือเวลา