xs
xsm
sm
md
lg

“ดิสคัฟเวอรี” ทะยานฟ้าเที่ยวสุดท้าย พร้อม "อาร์ทู" ฮิวแมนอยด์ตัวแรกในอวกาศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ดิสคัฟ เวอรีทะยานฟ้าในเที่ยวบินสุดท้าย พร้อมนำส่ง อาร์ทู ฮิวแมนนอยด์ตัวแรกที่ได้ขึ้นสู่อวกาศ เป้าหมายอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ กับภารกิจนาน 11 วัน (เอเอฟพี)
“ดิสคัฟเวอรี” กระสวยอวกาศซึ่งมีเที่ยวบินมากที่สุดของนาซาทะยานฟ้าในเที่ยวบินสุดท้ายแล้ว นำ 6 ลูกเรือมุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติกับปฏิบัติการในวงโคจรนาน 11 วัน พร้อมนำส่ง “อาร์ทู” หุนยนต์ฮิวแมนอยด์ตัวแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ

เป็นภาพประวัติศาสตร์ที่หลายคนต้องจดจำสำหรับการทะยานฟ้าในเที่ยวบินสุดท้ายของ “ดิสคัฟเวอรี” (Discovery) กระสวยอวกาศขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ที่มีเที่ยวบินมากที่ในสุด โดยทะยานตัวออกจากฐานปล่อยจรวดในศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในฟลอริดา สหรัฐฯ เมื่อเวลา 04.53 น.ของวันที่ 25 ก.พ.2011 นี้ ตามเวลาประเทศไทย ซึ่งเอพีประมาณว่ามีแขกราว 40,000 คนที่ได้รับเชิญให้มาร่วมชมเที่ยวบินนี้

ดิสคัฟเวอรี นำ 6 ลูกเรือ ได้แก่ สตีฟ ลินด์ซีย์ (Steve Lindsey) ผู้บังคับการบิน อีริค โบ (Eric Boe) นักบิน อัลวิน ดรูว (Alvin Drew) และ นิโคล สท็อต (Nicole Stott) ซึ่งเป็น 2 ผู้เชี่ยวชาญประจำเที่ยวบิน และ สตีฟ โบเวน (Steve Bowen) กับ ไมเคิล บาร์รัตต์ (Michael Barratt) ซึ่งเป็น 2 นักบินอวกาศประจำเที่ยวบินนี้ มุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ในภารกิจยาวนาน 11 วัน

พร้อมกันนี้ ดิสคัฟเวอรียังนำส่ง “โรโบนอท 2” (Robonaut 2) หรือ “อาร์ทู” (R2) ซึ่งเป็นหุ่นยนต์ฮิวแมนอยด์ตัวแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ เมื่อทะยานฟ้าเจ้าหน้าที่ภาคพื้นดินได้ทวีตข้อความประกาศให้อาร์ทูว่า “ฉันอยู่ในอวกาศ! สวัสดีจักรวาล” (I'm in space! HELLO UNIVERSE!!!") ทั้งนี้ อาร์ทูยังคงถูกเก็บไว้ในกล่องระหว่างปล่อยกระสวยอวกาศ ส่วนหุ่นยนต์แฝดฮิวนอยด์ที่ฐานปล่อยได้โบกมือลาแก่แฝดที่กำลังขึ้นสู่วงโคจรด้วย

เป้าหมายของการพัฒนาหุ่นยนต์ “อาร์ทู” เพื่อให้เป็นหุ่นยนต์ที่ช่วยมนุษย์ทำงานและสำรวจอวกาศ โดยทั้งทำหน้าที่เคียงข้างมนุษย์ในอวกาศ รับภารกิจเสี่ยงแทนมนุษย์ ซึ่งการมีหุ่นยนต์ฮิวแมนนอยด์จะช่วยเหลืองานต่อเติมโครงสร้าง และการสำรวจของมนุษย์ ในเบื้องต้นหุ่นอาร์ทูที่ส่งขึ้นไปเป็นเพียงหุ่นที่มีร่างกายท่อนบน และต่อไปจะได้พัฒนาและส่งอวัยวะด้านล่างขึ้นไปต่อเติมในภายหลัง

ภารกิจครั้งนี้เป็นเที่ยวบินที่ 39 สำหรับดิสคัฟเวอรีที่ปฏิบัติภารกิจมานานถึง 27 ปี และเป็นเที่ยวบินในปฏิบัติการส่งกระสวยอวกาศของนาซาเที่ยวบินที่ 133 โดยดิสคัฟเวอรีได้เดินทางมาแล้วเป็นระยะทาง 230 ล้านกิโลเมตรนับแต่เริ่มบินครั้งแรกเมื่อปี 1984 และหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจครั้งนี้ในวันที่ 7 มี.ค.ก็จะมีระยะการเดินทางเพิ่มขึ้นอีก 7.2 ล้านกิโลเมตร และจะได้ใช้เวลาอยู่ในอวกาศทั้งสิ้น 363 วัน โดยโคจรรอบโลกทั้งหมด 5,800 รอบ ซึ่งไม่มียานอวกาศลำไหนที่มีเที่ยวบินมากเท่านี้มาก่อน

นอกจากนี้ เอเอฟพียังรายงานข้อมูลอีกว่าดิสคัฟเวอรีเป็นกระสวยอวกาศลำแรกที่กลับมาบินหลังโศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้นกับยานชาเลนเจอร์ (Challenger) ซึ่งระเบิดระหว่างทะยานฟ้าเมื่อปี 1986 และยานโคลัมเบีย (Columbia) ซึ่งระเบิดหลังกลับสู่โลก เมื่อปี 2003 และดิสคัฟเวอรียังเป็นกระสวยอวกาศลำแรกที่มีผู้บังคับการเป็นผู้หญิง อีกทั้งยังทำหน้าที่ขนส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (the Hubble Space telescope) ขึ้นสู่วงโคจรด้วย
อีกเที่ยวบินประวัติศาสตร์ของดิสคัฟเวอรี (เอพี)




โฉมหน้า "อาร์ทู" ฮิวแมนอยด์ตัวแรกที่ขึ้นสู่อวกาศ (นาซา)
ผู้คนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นี้ (เอพี)
ชายคนนี้ฝั่งตัวในทรายที่ชายหาดระหว่างดิสคัฟเวอรีทะยานฟ้า (เอพี)
ทะยานฟ้าอย่างสวยงาม (รอยเตอร์)
ผู้คนจำนวนมากไม่พลาดภาพประวัติศาสตร์นี้ (รอยเตอร์)
ช่างภาพต่างไม่มีใครยอมใคร (รอยเตอร์)
ดิสคัฟเวอรี (จุดสว่างข้างล่าง) แยกตัวจากจรวดเชื้อเพลิง (รอยเตอร์)
สาวน้อยนั่งชมดิสคัฟเวอรีทะยานฟ้า (รอยเตอร์)
แขกวีไอพีของนาซาร่วมชมเที่ยวบินสุดท้ายของดิสคัฟเวอรี (รอยเตอร์)
รถนำส่งนักบินอวกาศมุ่งสู่ฐานปล่อยจรวด (รอยเตอร์)
นิโคล สท็อต ลูกเรือหญิงคนเดียวในเที่ยวบิน (รอยเตอร์)
ลูกเรือทั้ 6 คน (ซ้ายไปขวา) นิโคล สท็อต , อัลวิน ดรูว, ไมเคิล บาร์รัตต์, อีริค โบ, สตีฟ โบเวน และ สตีฟ ลินด์ซีย์ (เอพี)
กำลังโหลดความคิดเห็น