วันวาเลนไทน์กำลังเข้ามาถึง บรรยากาศแห่งความรักก็อบอวลมากขึ้นทุกที (แม้จะมีสถานการณ์ตึงเครียดตามชายแดนก็ตาม) คู่รักหลายคู่ อาจมอบดอกไม้ ชอกโกแลต หรือของแทนใจอื่นๆ ให้แก่กัน และเพื่อร่วมฉลองไปกับเทศกาล ทีมข่าววิทยาศาสตร์จึงนำภาพ “แหวนอวกาศ” สวยๆ มาฝาก
ภาพที่นำมาฝากนี้เป็นภาพของ “อาร์พ 147” (Arp 147) ซึ่งเป็นคู่กาแลกซีที่อยู่ห่างจากโลก 430 ล้านปีแสง โดยแสดงข้อมูลในย่านรังสีเอกซ์ด้วยสีชมพูที่บันทึกจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอกซ์จันทรา (Chandra X-ray Observatory) และแสดงข้อมูลในย่านแสงที่ตามองเห็นด้วยสีแดง เขียว และน้ำเงิน ซึ่งบันทึกด้วยกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope)
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกล้องโทรทรรศน์อวกาศทั้ง 2 ตัวขององค์การบริการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ถูกนำมาผลิตเป็นภาพที่เห็นนี้ โดยทีมจากสถาบันวิทยาศาสตร์กล้องโทรทรรศน์อวกาศ (Space Telescope Science Institute) สหรัฐฯ
ข้อมูลจากเว็บไซต์หอดูดาวจันทราระบุว่า อาร์พ 147 นี้เป็นเศษซากของกาแลกซีกังหัน (spiral galaxy) ด้านขวาของภาพที่ชนเข้ากับกาแลกซีกลมรีรูปไข่ (elliptical galaxy) ทางด้านซ้าย การชนกันนี้ ทำให้เกิดการขยายตัวของคลื่นการก่อตัวของดวงดาว ที่แสดงให้เห็นเป็นวงแหวนสีน้ำเงินที่เต็มไปด้วยดาวอายุน้อยขนาดยักษ์จำนวนมาก ที่มีวิวัฒนาการเป็นเวลา 2-3 ล้านปีหรือน้อยกว่านั้น แล้วระเบิดเป็นซูเปอร์โนวา (supernova) เหลือเพียงดาวนิวตรอนและหลุมดำ
เศษดาวนิวตรอนและหลุมดำ จะมีคู่ดาวที่เป็นแหล่งให้ดึงดูดสสารออกมาและกลายเป็นแหล่งกำเนิดแสงในย่านรังสีเอกซ์ที่สว่างจ้า สำหรับแหล่งกำเนิดรังสีเอกซ์ที่กระจายอยู่รอบวงแหวนของอาร์พ 147 นั้นสว่างมาก และน่าจะเป็นหลุมดำที่มีมวลมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 10-20 เท่า