นาซาเผยภาพ “เนบิวลานายพราน” ข้อมูลชุดแรกจากหอดูดาวบนโบอิง 747 ให้แสงสีชัดเจนในแบบที่หอดูดาวบนโลกให้ไม่ได้
เนบิวลานายพราน (Orion Nebula) ซึ่งแสดงบริเวณที่ดวงดาวก่อกำเนิดได้อย่างชัดเจนกว่าที่ผ่านมา เป็นภาพชุดแรกจากของหอดูดาวดาราศาสตร์อินฟราเรดในชั้นสตราโทสเฟียร์ (Stratospheric Observatory for Infrared Astronomy) หรือหอดูดาวโซเฟีย (Sofia) ซึ่งติดตั้งกล้องโทรทรรศน์บนเครื่องบินโบอิง 747 ที่ถูกดัดแปลงให้กลายเป็นหอดูดาวในชั้นบรรยากาศ เพื่อบันทึกสีสันจากอวกาศซึ่งปกติจะถูกชั้นบรรยากาศของโลกกันไว้
หอดูดาวโซเฟียนี้เป็นหอดูดาวต่อจากหอดูดาวไคเปอร์บนเครื่องบิน (Kuiper Airborne Observatory) หรือหอดูดาวเกา (KAO) หอดูดาวที่ติดตั้งกล้องโทรทรรศน์อินฟราเรดเช่นเดียวกัน และถูกปลดระวางไปเมื่อปี ค.ศ.1995 และโครงการก่อสร้างหอดูดาวบนเครื่องบินขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) นี้ได้ล่าช้าออกมาเป็นเวลานาน จนกระทั่งหอดูดาวโซเฟียเพิ่งได้มาสานภารกิจต่อในครั้งนี้
บีบีซีนิวส์ที่หยิบเรื่องนี้มารายงานระบุด้วยว่า ปกติกล้องโทรทรรศน์อวกาศช่วยให้เราได้ภาพในย่านอินฟราเรดที่แจ่มชัดอยู่แล้ว แต่หอดูดาวโซเฟียจะให้ความยืดหยุ่นต่อการทำงานแก่นักวิทยาศาสตร์ได้มากกว่า
ศ.เทอร์รี เฮอร์เตอร์ (Prof.Terry Herter) นักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ (University of Cornell) และนักวิทยาศาสตร์ผู้นำในปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ชุดแรกของหอดูดาวโซเฟียให้ความเห็น โดยโครงการที่เขาดูแลมีชื่อว่า “ฟอร์แคสต์” (Forcast) หรือโครงการกล้องอินฟราเรดเพื่อศึกษาวัตถุอันลางเลือนสำหรับกล้องโทรทรรศน์โซเฟีย (Faint Object Infrared Camera for the Sofia Telescope)
เพื่อศึกษาวัตถุอันลางเลือนในย่านรังสีอินฟราเรดนั้น ศ.เฮอร์เตอร์บอกว่า เราจำเป็นต้องขึ้นไปในอวกาศ หรือส่งหอดูดาวติดบอลลูนหรือเครื่องบินขึ้นไป แต่สำหรับหอดูดาวบนบอลลูนนั้นยากต่อการควบคุม ส่วนกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ก็ยุ่งยากสำหรับการเปลี่ยนแปลงเครื่องไม้เครื่องมือ โดยต้องส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปปฏิบัติการ หรือไม่ก็ต้องส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศตัวใหม่ขึ้นไปเลย
หอดูดาวโซเฟียบันทึกภาพแรกได้เมื่อเดือน พ.ค.ของปีที่ผ่านมา และเมื่อเดือน พ.ย.หอดูดาวบนโบอิง 747 นี้ได้เริ่มปฏิบัติภารกิจวิทยาศาสตร์เป็นครั้งแรก โดยการส่องเข้าในเนบิวลานายพรานผ่านเมฆหนาของฝุ่นที่ทำให้แสงสีของภาพไม่คมชัดอย่างที่เราเห็น
“มีกลุ่มดาวอยู่ในนั้นซึ่งเพิ่งเกิดใหม่สดๆ ร้อนๆ โดยจอกศักดิ์สิทธิ์สำหรับวงการดาราศาสตร์ ก็คือการได้เห็นดวงดาวที่เพิ่งเริ่มต้นส่องสว่าง และสิ่งหนึ่งที่เราทำได้ด้วยกล้องโซเฟียนี้คือการมองเข้าไปในรายละเอียดของดวงดาวรุ่นเยาว์นี้” ศ.เฮอร์เตอร์กล่าว
ศ.เฮอร์เตอร์บอกด้วยว่า ข้อมูลจากกล้องโซเฟียนี้ให้โอกาสจำเพาะในการศึกษาดาวดวงใหญ่ๆ ในบริเวณเนบิวลาที่บันทึกได้ ซึ่งพบว่ามีการก่อตัวของดวงดาวจำนวนมาก แต่อยู่ได้เพียงไม่กี่ล้านปีเท่านั้น
ทั้งนี้ การที่กล้องโทรทรรศน์ถูกติดตั้งอยู่บนเครื่องบิน ก็ได้สร้างความท้าทายในแบบที่หาจากที่อื่นไม่ได้ให้แก่นักดาราศาสตร์ และกล้องโทรทรรศน์ยังติดตั้งบนอุปกรณ์ลักษณะระดับคงที่ ซึ่งช่วยให้กล้องยังคงจับภาพเป้าหมายได้ โดยไม่เปลี่ยนแปลงแม้ว่าเครื่องบินกำลังเคลื่อนที่อยู่
หากแต่กล้องจะจับภาพเป้าหมายได้นิ่งแค่ไหนนั้นเป็นคำถามที่ เจมส์ เดอ บุยเซอร์ (James De Buizer) จากสมาคมการวิจัยอวกาศระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งร่วมดำเนินโครงการกล้องโซเฟียให้นาซาด้วยตั้งข้อสงสัย ซึ่งเขาบอกว่าแม้เราจะจำลองผลทางคอมพิวเตอร์และจำลองการทดลองผ่านอุโมงค์ได้มากเท่าที่ต้องการ แต่เราก็ไม่ทางรู้ว่าคุณภาพจากกล้องที่ติดตั้งอยู่บนเครื่องบินที่เคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 0.8 มัคและมีกระแสลมปะทะอยู่ตลอดเวลานั้นจะเป็นอย่างไร
เมื่อการทดลองเดินมาถึงความเป็นจริง ตอนนี้ เดอ บุยเซอร์ กล่าวว่าเราได้ภาพที่มีคุณภาพในระดับที่ค่อนข้างใกล้เคียงคุณภาพดีที่สุดที่กล้องโทรทรรศน์ในขนาดเดียวกันนี้จะให้ได้
ทั้งนี้ ตามกำหนดเดิมนาซามีแผนส่งหอดูดาวโซเฟียขึ้นไปปฏิบัติการตั้งแต่ปี ค.ศ.1998 ซึ่งเป็นเวลา 3 ปีให้หลังที่หอดูดาวเกาปลดระวาง แต่ด้วยปัญหางบประมาณและการดำเนินงานจึงทำให้โครงการนี้ต้องล่าช้าออกไป และถูกงบยกเลิกไปเมื่อปี 2006 แต่โครงการได้ถูกรื้อขึ้นมาอีกครั้ง และกลายเป็นอีก 1 โครงการสำคัญนาซาร่วมกับโครงการกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์เวบบ์ (James Webb Space Telescope)