12 เม.ย. นับเป็นอีกวันสำคัญของวงการอวกาศ ซึ่งมี 2 เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันนี้ เริ่มจากความสำเร็จของอดีตสหภาพโซเวียตเมื่อ 50 ปีก่อน ที่แซงหน้าทุกชาติ ด้วยการส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่วงโคจร หลังจากนั้นอีก 2 ทศวรรษทางฟากสหรัฐฯ "นาซา" ได้ส่ง "โคลัมเบีย" นับเป็นกระสวยอวกาศแบบใหม่ลำแรก ขึ้นไปโคจรรอบโลก
ยูริ กาการิน (Yuri Gagarin) นักบินอวกาศของอดีตสหภาพโซเวียต คือมนุษย์คนแรก ที่ได้ขึ้นไปสัมผัสประสบการณ์บนอวกาศ ระหว่างการโคจรรอบโลกไปพร้อมกับยานวอสตอก 1 (Vostok 1) ทุกคนรู้จักเขาดี และวันที่ 12 เม.ย.2011 นี้เป็นวันครบรอบ 50 ปี ในการขึ้นสู่อวกาศครั้งแรกของมนุษยชาติ
การทะยานฟ้าครั้งนั้น ฟิสิกส์โออาร์จีระบุว่า กาการินที่เดินทางไปพร้อมกับยานวอสตอก 1 จากฐานปล่อยจรวดเมืองไบโคนัวร์นั้น ไม่ได้ยินเสียงนับถอยหลัง เหมือนแบบฉบับของอเมริกัน
พอสิ้นเสียง “ไปกันเลย!” เขาก็ทะยานฟ้าขึ้นไปโคจรรอบโลก 1 รอบ และสัมผัสประสบการณ์ในอวกาศนาน 108 นาที
ลำดับเหตุการณ์ในวันประวัติศาสตร์ ของวงการอวกาศเมื่อวันที่ 12 เม.ย.1961 ตามเวลาท้องถิ่น ณ กรุงมอสโกว์ ดังนี้
05.30 น. - ยูริ กาการิน และนักบินอวกาศสำรองคือ เยอร์มาน ติตอฟ (Gherman Titov) ตื่น แล้วเข้ารับการตรวจจากแพทย์ และรับประทานอาหารมื้อเบาๆ ก่อนที่จะสวมชุดมนุษย์อวกาศสีส้มกับหมวกนิรภัย
ทั้งนี้ กาการินไม่โกนหนวด เพราะตามความเชื่อของการบินโซเวียต ที่จะไม่โกนหนวดในการบินครั้งสำคัญ
05.45 น. - กาการิน และ ติตอฟ ถูกนำตัวไปยังฐานปล่อยจรวด ด้วยรถโดยสารสีน้ำเงิน และจอดระหว่างทาง เพื่อให้กาการินพักเข้าห้องน้ำ และการหยุดระหว่างทางดังกล่าวนี้ กลายเป็นประเพณีตามความเชื่อในการส่งจรวดครั้งอื่นๆ ตามมา
06.50 น. - กาการินออกจากรถโดยสารซึ่งจอดใกล้ฐานปล่อยจรวด เซอร์เกย์ โคโรยอฟ (Sergei Korolev ) ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของวงการอวกาศโซเวียต ได้เข้าสวมกอดเขา และคนงานได้เขียนคำว่า “USSR” (คำย่อของสหภาพโซเวียต : Union of Soviet Socialist Republics) ในภาษารัสเซีย บนหมวกนิรภัยของเขาด้วย
07.07 น.- กาการินเข้าประจำการในแคปซูลวอสตอก 1 ระหว่างการเตรียมความพร้อม เขาได้ร้องเพลงยอดนิยม และพูดเรื่องตลกกับเพื่อนร่วมงาน สื่อสารผ่านสัญญาณวิทยุ และโคโรยอฟได้กระเซ้าว่า หลังจากเที่ยวบินนี้กาการินจะต้องอ้วนแน่นอน เพราะได้เตรียมมื้อใหญ่ไว้ให้
09.07 น. - จรวดจุดระเบิดเครื่องยนต์ และ กาการินได้ตะโกนคำว่า “ไปกันเลย” (Let's go) อันโด่งดัง และขณะนั้นอัตราการเต้นของหัวใจกาการินอยู่ที่ 150 ครั้งต่อนาที จากนั้นยานวอสตอกก็ได้ทะยานฟ้า
09.09 น. - กาการินเงียบไปหลายนาที เมื่อร่างกายของเขาถูกกดด้วยแรงโน้มถ่วง (G-force) ที่ไม่เคยเผชิญมาก่อน
09.12 น.- กาการินกลับมาสื่อสารผ่านวิทยุอีกครั้งว่า “ผมมองเห็นโลก ช่างงดงาม”
10.02 น.- ทางการโซเวียตประกาศข่าวผ่านวิทยุให้ประชาชนทราบ
10.09 น. - กาการินวิทยุบอกว่า เขากำลังกลับเข้าสู่เงาโลก
10.25 น. - ยานอวกาศกลับสู่ชั้นบรรยากาศ
10.49 น. - กาการินดีดตัวออกจากยานที่ความสูง 7,000 เมตร ตามแผน
10.55 น. - ตัวยานอวกาศลงจอดด้วยร่มชูชีพในทุ่งใกล้เมืองซาราตอฟ (saratov) ในแคว้นวอลกา (Volga)
10.57 น. - กาการินลงสู่พื้นโลกด้วยร่มชูชีพ ห่างจากตัวยานที่ลงจอดห่างออกไป 3 กิโลเมตร คนแรกที่เห็นเขาคือหญิงชราและหลานสาว ซึ่งเขาต้องอธิบายว่าตัวเองไม่ใช่มนุษย์ต่างดาว
จากนั้นทางการได้ส่งเฮลิคอปเตอร์มารับเขาไปยังเมืองแองเงิลส์ (Engels) ที่อยู่ใกล้ๆ และเขาได้รับโทรเลขแสดงความยินดีจาก นิกิตา ครุชอฟ (Nikita Khrushchev) ผู้นำโซเวียตในขณะนั้น และเขาก็ได้พูดคุยกับภรรยาด้วย
หลังความสำเร็จของกาการิน ติตอฟมนุษย์อวกาศตัวสำรองได้กลายเป็นมนุษย์คนที่ 2 ที่ได้ขึ้นไปโคจรรอบโลกด้วยยานวอสตอก 2 เมื่อวันที่ 6 ส.ค.ในปีเดียวกัน โดยเขาใช้เวลาอยู่ในวงโคจรนาน 1 วัน
กาการินได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนมนุษยชาติขึ้นไปในอวกาศเป็นครั้งแรกเมื่ออายุ 27 ปี ซึ่งตอนนั้นเขาแต่งงานแล้ว กับพยาบาลสาวชื่อ วาเลนตินา (Valentina) ที่ได้ตั้งครรภ์บุตรสาวคนที่ 2 ขณะที่เขารับภารกิจในการขึ้นไปโคจรรอบโลก โดยก่อนหน้าที่เขาจะปฏิบัติภารกิจนั้น มีสุนัข 48 ตัวถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรและมี 20 ตัว ตายระหว่างปฏิบัติหน้าที่
จากคำเปิดเผยของ บอริส วอลิย์นอฟ (Boris Volynov) นักบินอวกาศรัสเซีย ผู้มีชีวิตร่วมสมัยกับกาการินกล่าวว่า บุคลิกของกาการินไม่ใช่ผู้นำ แต่เขาเป็นมิตรกับทุกคน และยังได้รับการปฏิบัติจากโคโรยอฟ เจ้าพ่อแห่งวงการอวกาศรัสเซียราวกับเป็นลูกชายตัวเอง โดยเหตุผลที่เขาได้รับคัดเลือกนั้น มาจากคุณลักษณะส่วนตัว และการเข้าถึงประชาชน
แม้สหภาพโซเวียตจะล้มสลายไปแล้ว แต่กาการินยังกลายเป็นวีรบุรุษในยุคคอมมิวนิสต์ไม่กี่คนที่ยังได้รับศรัทธาอย่างไม่เสื่อมคลาย สเปซเดลีรายงานว่า เมื่อปี 2010 ที่ผ่านมา กาการินติดอันดับสูงของในการสำรวจบุคคลสำคัญอันเป็นสัญลักษณ์ประจำชาติแห่งศตวรรษที่ 20 โดยได้รับความนิยมสูงสุดในกลุ่มตัวอย่างอายุระหว่าง 18-24 ปี
ถัดจากความภูมิใจของชาวรัสเซีย ซึ่งเคยเป็นคู่แข่งกับสหรัฐฯ ในยุคสงครามเย็น มาถึงความภูมิใจของอเมริกันชนบ้าง ในวันเดียวกับที่รัสเซียได้วีรบุรุษอวกาศ แต่ตามหลังมาอีก 20 ปี สหรัฐฯได้ส่ง "โคลัมเบีย" (Columbia) ยานแนวใหม่ ในรูปแบบกระสวยอวกาศลำแรกขึ้นสู่อวกาศ เมื่อวันที่ 12 เม.ย.1981
ตามข้อมูลจาก หนังสือพิมพ์ฟลอริดาทูเดย์ มีมนุษย์เดินทางไปในเที่ยวบินดังกล่าว 2 คน คือ จอห์น ยัง (John W. Young) รับหน้าที่ผู้บังคับการ และ โรเบิร์ต คริปเปน (Robert Crippen) รับหน้าที่นักบิน
ตลอดภารกิจทั้งหมด 28 เที่ยวของยานโคลัมเบีย มีหลายภารกิจสำคัญๆ เช่น เป็นกระสวยอวกาศลำแรกที่บังคับโดยนักบินอวกาศหญิง คือ ไอลีน คอลลิน์ (Eileen Collins) ในปี 1999 หรือเป็นกระสวยอวกาศที่นำส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศรังสีเอกซ์จันทรา (Chandra X-ray Observatory) ขึ้นสู่วงโคจร ในปี 1999 เช่นกัน เป็นต้น
หากแต่ เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2003 ยานโคลัมเบียเกิดระเบิด ขณะกลับเข้าสูชั้นบรรยากาศโลก หลังปฏิบัติภารกิจในเที่ยวบินเอสทีเอส-107 (STS-107) แล้วเสร็จ และกำลังมุ่งหน้าลงจอดที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ของ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ ส่งผลให้ลูกเรือทั้ง 7 คนที่ขึ้นไปปฏิบัติการทดลองวิทยาศาสตร์เพื่อศึกษาเรื่องแรงโน้มถ่วงและวิทยาศาสตร์โลก (Earth Science) เสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งสาเหตุการระเบิด เกิดจากเศษโฟมหลุดกระแทกฉนวนกันความร้อนของกระสวยอวกาศจนได้รับความเสียหาย
ลูกเรือในเที่ยวบินสุดท้ายของยานโคลัมเบีย ได้แก่ ริค ฮัสแบนด์ (Rick D. Husband) ผู้บังคับการบิน, วิลเลียม แมคคูล (William C. McCool) นักบิน, ไมเคิล แอนเดอร์สัน (Michael P. Anderson) ผู้บังคับการสัมภาระ, กัลปานา ชาวลา (Kalpana Chawla) ผู้เชี่ยวชาญประจำเที่ยวบิน, เดวิด บราวน์ (David M. Brown) ผู้เชี่ยวชาญประจำเที่ยวบิน, ลอเรล คลาร์ก (Laurel B. Clark) ผู้เชี่ยวชาญประจำเที่ยวบิน และ อิลาน รามอน (Ilan Ramon) ผู้เชี่ยวชาญสัมภาระ.
คลิกอ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
โคลัมเบีย: กระสวยอวกาศทะยานสู่ฟ้าลำแรกของนาซา
รำลึกยานโคลัมเบียระเบิดกระจายกลางฟ้าคร่า 7 ชีวิตนักบินอวกาศ
ญาติผู้สูญเสียร่วมไว้อาลัยปีที่ 2 แห่งการจากไปของโคลัมเบีย
ทั้งตกน้ำ-ไฟไหม้ยังกู้ข้อมูล "ดิสก์ไดร์ฟ" ของยานโคลัมเบียได้
นาซาต้องชดใช้ครอบครัวลูกเรือ “โคลัมเบีย” 955 ล้านบาท
นาซารำลึกโศกนาฏกรรม "โคลัมเบีย"