xs
xsm
sm
md
lg

หนุ่มๆ “มาร์ส500” ได้ (จำลอง)เหยียบพื้นผิวดาวแดง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพปฏิบัติการลงสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร (จำลอง) โดย อเล็กซานเดอร์ สโมเลฟกี และ ดิเอโอ เออร์บินา ซึ่งถ่ายทอดมายังห้องควบคุมห้องปฏิบัติการควบคุมมอสโกวของรัสเซีย ที่ปกติใช้สื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ (imbp)
2 ตัวแทนหนุ่มๆ “มาร์ส500” ย่างเหยียบลงพื้นผิวดาวอังคาร ซึ่งจำลองขึ้นภายในห้องปฏิบัติการไร้หน้าต่างที่กรุงมอสโกวแล้ว หลังจากใช้ชีวิตร่วมกับเพื่อร่วมเดินทาง (จำลอง) สู่ดาวแดงเป็นเวลาร่วม 8 เดือน ภายใต้โครงการศึกษาการรับมือของสภาพจิตใจและร่างกายของมนุษย์ ระหว่างการท่องอวกาศเป็นเวลานาน

อเล็กซานเดอร์ สโมเลฟกี (Alexander Smolevsky) ชาวรัสเซีย และ ดิเอโก เออร์บินา (Diego Urbina) ชาวอิตาลี เป็นตัวแทนอาสาสมัครในโครงการมาร์ส 500 (Mars500) ย่างเหยียบลงผืนทรายที่จำลองเป็นพื้นผิวดาวอังคาร ภายในห้องปฏิบัติการของสถาบันศึกษาปัญหาชีวการแพทย์ (Institute for Bio-Medical Problems) ในกรุงมอสโกว รัสเซีย

บีบีซีนิวส์ระบุว่า ทั้งคู่ปักธงชาติลงไปบนพื้นผิวดาวเคราะห์ที่จำลองขึ้น ผืนหนึ่งเป็นธงชาติรัสเซีย อีกผืนเป็นธงชาติจีน และผืนสุดท้ายเป็นธงสำหรับองค์การอวกาศยุโรป (อีซา) ซึ่งเข้าร่วมในโครงการนี้ด้วย จากนั้นพวกเขาได้ทำการทดลองเสมือน 2-3 การทดลอง โดยอาศัยความช่วยเหลือจากยานยนต์สำรวจ โดยการลงสำรวจพื้นผิวดาวอังคารแบบจำลองนี้กินเวลา 1 ชั่วโมง 12 นาที

การลงสำรวจพื้นผิวดาวอังคารนี้ เกิดขึ้นในวันวาเลนไทน์ที่ 14 ก.พ.2011 ตามเวลาท้องถิ่น หลังจากที่ยานได้ลงจอดพื้นจำลองไปเมื่อ 2 วันก่อนหน้านั้น โดยทุกย่างก้าวที่ลูกเรือมาร์ส500 เหยียบลงไปบนพื้นผิวดาวอังคารจำลองครั้งนี้ ถูกจับตาอยู่ภายในห้องควบคุมปฏิบัติการมอสโกว (Mission Control Moscow) ที่ปกติใช้เพื่อเป็นห้องในการติดต่อสื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS)

“เราได้เดินหน้าครั้งใหญ่ในวันนี้ ทุกระบบทำงานได้อย่างปกติ” วิตาลี ดาวีดอฟ (Vitaly Davydov) รองผู้อำนวยการองค์การอวกาศรัสเซีย (Russian Federal Space Agency) ซึ่งร่วมชมปฏิบัติการสำรวจพื้นผิวดาวอังคารจำลองในครั้งนี้ให้ความเห็น

การนำยาน “ลงจอด” บนดาวแดงของสโมเลฟกีและเออร์บินานั้น จริงๆ แล้วเป็นเพียงการย้ายไปยังอีกส่วนจำลองหนึ่ง ซึ่งเป็นโมดูลที่สร้างเชื่อมต่อกันภายในห้องปฏิบัติการ และนอกจากทั้งคู่แล้ว หวาง ยิว ลูกเรือมาร์ส500 จากจีน จะเข้าร่วมภารกิจของพวกเขาด้วย และวางแผนในการเดินสำรวจพื้นผิวดาวอังคารในอีกไม่กี่วันข้างหน้า

ส่วนอาสาสมัครอีก 3 คนที่เหลือคือ อเล็กซี ซิเตฟ (Alexei Sitev) และ สุครอฟ คามอลอฟ (Sukhrob Kamolov) ชาวรัสเซีย กับ โรเมน ชาร์ลส (Romain Charles) ชาวฝรั่งเศส นั้นจำลองว่าอยู่ในวงโคจรรอบดาวอังคาร ซึ่งในความเป็นจริงคืออยู่ภายในโมดูลที่เชื่อมต่อกันได้แลห่างออกไปเพียงไม่กี่เมตร

ลูกเรือทั้ง 6 คนอาสาอยู่ภายในห้องปฏิบัติการที่มีปริมาตรเพียง 500 ลูกบาศก์เมตรมาตั้งแต่เดือน มิ.ย.2010 ภายใต้โครงการนี้ที่ต้องการศึกษาผลกระทบต่อจิตใจจากการเดินทางเป็นระยะเวลายาวนานกว่าปีครึ่ง ซึ่งเป็นระยะเวลาของการเดินทางไปกลับเพื่อสำรวจดาวอังคาร โดยเนชันแนลจีโอกราฟิกระบุว่า บางส่วนของอาสาสมัครไม่เคยมีประสบการณ์ทางอวกาศเลย แต่พวกเขาล้วนมีทักษะทางอาชีพ ที่เป็นประโยชน์ต่อปฏิบัติการ เช่น แพทย์ และวิศวกร เป็นต้น

ด้านบีบีซีนิวส์ระบุด้วยว่า ชีวิตของทั้ง 6 หนุ่มนี้แตกต่างไปจากชีวิตบนสถานการณ์อวกาศ ตรงยานพาหนะและผู้โดยสารของสถานีอวกาศนั้นมีทั้ง “มา” และ “ไป” อีกทั้งสถานีอวกาศยังเป็นสถานที่มีการติดต่อสื่อสารกับสถานีภาคพื้นอยู่ตลอดเวลา และเป็นไปในลักษณะที่เกือบจะสื่อสารสดระหว่างกัน

อย่างไรก็ตาม การใช้ชีวิตภายในยานอวกาศจำลองมาร์ส500 ก็เป็นไปอย่างเข้มงวดมาก ข้อความของลูกเรือที่ต้องการจะส่งออกมาภายนอกยานอวกาศจำลองนั้น เดินทางหน่วง 20 นาทีเพื่อเลียนแบบเวลาในการเดินทางของสัญญาณวิทยุจากดาวอังคารมายังโลก และเวลาส่วนใหญ่ของพวกเขา ก็ดำเนินไปตามโปรแกรมการทดลอง ที่คิดขึ้นใหม่โดยนักวิทยาศาสตร์จากรัสเซียและทั่วยุโรป

หลายการทดลองนั้น ออกแบบมาเพื่อดูว่าความเครียดจากภาวะลำบากใจของอาสาสมัครในโครงการนั้นส่งผลกระทบอย่างไรต่อจิตใจและร่างกาย

ภารกิจในการลงจอดนั้นเป็นช่วงเวลาสั้นๆ ของการตื่นเต้นสำหรับทีมที่ลงสำรวจพื้นผิว ชุดอวกาศออร์แลน (Orlan) เป็นชุดอวกาศชนิดเดียวกับที่นักบินอวกาศรัสเซียสวมใส่จริงๆ และภายในชุดที่เทอะทะนี้ พวกเขาต้องขุดเจาะลงไปยังพื้นผิวจำลอง และวิเคราะห์ตัวอย่างที่พวกเขาขุดขึ้นมา

สำหรับชื่อโครงการมาร์ส500 ซึ่งเป็นโครงการที่อีซา เข้ามาร่วมมือด้วยนั้นได้ชื่อเรียกเช่นนี้ เนื่องจากระยะเวลาในการเดินทางไปกลับดาวอังคารในเที่ยวบินที่มนุษย์นั้น ต้องใช้เวลา 250 วันเพื่อไปถึงดาวอังคาร และใช้เวลาอีก 30 วันในการสำรวจพื้นผิว จากนั้นใช้เวลาอีก 240 วันเพื่อเดินทางกลับ รวมแล้วใช้เวลาทั้งหมด 520 วัน หากแต่ในทางปฏิบัติจริงอาจต้องใช้เวลายาวนานกว่านั้น

ส่วนปฏิบัติการจริงสู่ดาวอังคารจะเกิดขึ้นได้เมื่อใดนั้น คาดว่าต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษจึงจะเป็นไปได้ เพราะมีความท้าทายอีกมโหฬารรออยู่ข้างหน้า ทั้งเรื่องเทคโนโลยีและความต้องการงบประมาณ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณกว่าหมื่นล้านดอลลาร์

นักวิทยาศาสตร์ยังต้องการหาวิธีที่จะปกป้องลูกเรือจากรังสีที่แผ่มาจากอวกาศ โดยสถานีอวกาศนานาชาตินั้นไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องนี้เท่าไรนัก เพราะสนามแม่เหล็กโลกช่วยปกป้องสถานีอวกาศที่โคจรรอบโลกจากการถูกทำลายและอนุภาคพลังงานสูงที่ส่งมาจากดวงอาทิตย์และอวกาศห้วงลึก

ทางเจ้าหน้าที่ของรัสเซียยุโรปนั้นได้หารือกันเรียบร้อยแล้วเกี่ยวกับการทดลองลักษณะเดียวกันนี้ซ้ำอีกบนสถานีอวกาศ ซึ่งการทดลองดังกล่าวจะเพิ่มปัจจัยเรื่อง “ภาวะไร้น้ำหนัก” ซึ่งเป็นอุปสรรคเดียวที่ลูกเรือมาร์ส500 ไม่มีโอกาสได้สัมผัส.
ห้องปฏิบัติการควบคุมมอสโกวของรัสเซีย ที่ปกติใช้สื่อสารกับสถานีอวกาศนานาชาติ มีสื่อมวลชนและผู้ร่วมชมปฏิบัติการจำนวนมาก (imbp)
แผนผังแสดงส่วนต่างๆ ของห้องปฏิบัติการในโครงการมาร์ส 500 (อีซา/บีบีซีนิวส์)
กำลังโหลดความคิดเห็น