ลูกเรือมาร์ส500 ได้ออกมาพบโลกภายนอก หลังอยู่ภายในห้องปฏิบัติการที่จำลองการเดินทางสู่ดาวอังคารยาวนานถึง 520 วัน
ผ่านไปได้ด้วยดีสำหรับภารกิจพิชิตความอึดของจิตใจ “มาร์ส500” ภารกิจจำลองเดินทางสู่ดาวอังคาร ซึ่ง 6 หนุ่มอาสาสมัครต้องอาศัยอยู่ภายในห้องปฏิบัติการที่มีพื้นที่จำกัดนานถึง 520 วัน และพวกเขาก็สามารถใช้ชีวิตในพื้นที่กักขังได้นานที่สุดในประวัติศาสตร์ ซึ่งหลังจากนี้อาสาสมัครทั้งหมดจะได้รับการตรวจสภาพร่างกายอย่างละเอียด ก่อนการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการ
6 ลูกเรือในปฏิบัติการจำลองเดินทางสู่ดาวอังคาร “มาร์ส500” (Mars500) สิ้นสุดปฏิบัติการจำลองอยู่ในพื้นที่จำกัดที่ยาวนานถึง 520 วันและเป็นระยะเวลาที่ยาวนานที่สุดที่มีการทดลองจำกัดอิสรภาพของมนุษย์เมื่อวันที่ 4 พ.ย.54 ที่ผ่านมา ซึ่งในวันที่พวกเขาก้าวออกจาก “ยานอวกาศ” (จำลอง) นั้นได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากนักวิทยาศาสตร์ที่ร่วมการทดลองและครอบครัว โดยเฝ้ารอคอยวันที่การทดลองสำเร็จลุล่วง
ปฏิบัติการมาร์ส 500 นี้เป็นการจำลองภารกิจเดินทางสู่ดาวอังคารอย่างเต็มเวลาครั้งแรกและมีรูปแบบทุกอย่างเหมือนการสำรวจดาวแดงเพื่อนบ้านจริงๆ ซึ่งนำการทดลองโดย สถาบันศึกษาปัญหาชีวการแพทย์ (Institute for Bio-Medical Problems) รัสเซีย, องค์การอวกาศยุโรป (อีซา) และศูนย์ฝึกการบินอวกาศของจีน และได้เริ่มภารกิจเมื่อวันที่ 3 มิ.ย.2010 แล้วสิ้นสุดภารกิจเมื่อวันที่ 4 พ.ย.ที่ผ่านมา โดยลูกเรือทั้งหมดจะได้รับการตรวจทางการแพทย์รวมทั้งสภาพจิตใจ แล้วจะได้ใช้เวลาส่วนตัวและผ่อนคลายก่อนที่จะพูดคุยกับสื่อมวลชนอีกครั้งในวันที่ 8 พ.ย.54 ที่กรุงมอสโกว รัสเซีย
เปิดประตูต้อนรับลูกเรือมาร์ส500
6 อาสาสมัครในการทดลองครั้งนี้ ได้แก่ ชาวรัสเซีย 3 คน คือ อเล็กซี ซิเตฟ (Alexei Sitev) วิศวกรวัย 39 ปี สุครอฟ คามอลอฟ (Sukhrob Kamolov) ศัลยแพทย์วัย 33 ปี อเล็กซานเดอร์ สโมเลฟสกี (Alexander Smolevsky) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญทั่วไป วัย 34 ปี ชาวจีน 1 คน คือ หวาง ยิว (Wang Yue) วัย 27 ปี ชาวฝรั่งเศส 1 คนคือ โรเมน ชาร์ลส์ (Romain Charles) วัย 32 ปี และชาวอิตาลีเชื้อสายโคลัมเบียอีก 1 คน คือ ดิเอโก เออร์บินา (Diego Urbina) วัย 28 ปี
อาสาสมัครในการทดลองที่เป็นชายทั้งหมดต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในห้องปฏิบัติการที่จำลองเป็นยานอวกาศและพื้นผิวดาวอังคาร ณ ห้องปฏิบัติการของ สถาบันศึกษาปัญหาชีวการแพทย์ ในกรุงมอสโกว รัสเซียโดยห้องปฏิบัติการดังกล่าวเป็นระบบปิดที่มีปริมาตร 550 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งอาสาสมัครต้องใช้ชีวิตอยู่ในนั้นนาน 520 วันโดยไม่ออกมาสู่โลกภายนอก ยกเว้นกรณีฉุกเฉินจริงๆ
อีซาระบุว่า การทดลองดังกล่าวดำเนินการทุกอย่างเหมือนการเดินทางสู่ดาวอังคารจริง โดยอาสาสมัครจะถูกแยกตัวไปใช้ชีวิตในยานอวกาศจำลองสำหรับเดินทางสู่ดาวเพื่อนบ้าน การทดลองตามระยะต่างๆ ที่เป็นจริงสำหรับเที่ยวบินสู่ดาวอังคาร ทั้งระยะเวลาของเที่ยวบินที่ยาวนาน ระยะการแทรกยานเข้าสู่วงโคจรของดาวแดง การลงจอด การสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร การกลับสู่วงโคจร และการเดินทางกลับโลก
เพื่อจำลองให้เหมือนการเดินทางสู่ดาวอังคารจริงๆ การสื่อสารกับศูนย์ควบคุมจะถูกจำลองให้มีการหน่วงสัญญาณให้ช้าลง เพื่อเลียนแบบการเดินทางจริงที่ไม่สามารถโต้ตอบกันได้ทันที เพราะระยะทางไกลระหว่างโลกและดาวอังคารทำให้สัญญาณสื่อสารที่เดินทางมาถึงโลกต้องใช้เวลา และระหว่าง “การเดินทาง” ลูกเรือได้ทำการทดลองมากกว่า 100 การทดลอง ซึ่งการทดลองทั้งหมดนั้นอีซาระบุว่าเป็นการทดลองที่เชื่อมโยงปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางเป็นระยะเวลานานในอวกาศ
อีซาระบุด้วยว่า ลูกเรือรัสเซีย 3 คน จีน 1 คน และยุโรป 2 คน ปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม พวกเขารวมเป็นหนึ่งเดียวและแสดงให้เห็นว่าแรงบันดาลใจและความมุ่งมั่นของทีมช่วยให้มนุษย์เดินหน้าภายใต้เงื่อนไขที่ยากลำบากได้ นักวิทยาศาสตร์ทั้งหลายต่างชื่นชมยินดีกับการฝึกฝนที่ยอดเยี่ยมของพวกเขา
“ขอบคุณมากๆ สำหรับความพยายามที่โดดเด่นของพวกคุณ ผมยินดีกับความกล้าหาญ ความมุ่งมั่น ความกรุณาของคนหนุ่มเหล่านี้ ผู้อุทิศเวลาชีวิตเกือบ 2 ปีสำหรับโครงการนี้ เพื่อความก้าวหน้าของมนุษยชาติในการออกสำรวจอวกาศ” ฌอง-ฌาคส์ ดอร์เดน (Jean-Jacques Dordain) ผู้อำนวยการอีซากล่าวแสดงความยินดีจากกรุงปารีส ฝรั่งเศส ส่งไปยังอาสาสมัครมาร์ส 500 ในวันที่พวกเขาสิ้นสุดภารกิจอันยาวนาน
ในวันที่ประตูซึ่งปิดกั้นระหว่าง “มนุษย์ดาวอังคาร” (marsonaut) กับโลกภายนอกเปิดออกเมื่อเวลา 17.00 น.ตามเวลาประเทศไทย พวกเขาเดินออกจากโมดูลและเข้าแสดงความยินดีกับผู้อำนวยการของภารกิจ ซึ่งหลังจากที่ได้สัมผัสกับอิสรภาพแล้ว พวกเขาก็ถูกนำตัวไปพบแพทย์ ครอบครัวและเพื่อนสนิทของพวกเขา
“มันเยี่ยมมากที่ได้เจอพวกคุณทั้งหมดอีกครั้ง ในภารกิจมาร์ส500 นี้เราได้บรรลุการท่องอวกาศบนโลกที่ยาวไกลที่สุดเท่าที่เคยมี ดังนั้น สักวันหนึ่งมนุษยชาติก็อาจได้ต้อนรับรุ่งอรุณใหม่บนดาวเคราะห์ที่แสนไกลแต่ไปถึงได้ และในฐานะลูกเรือสมาชิกขององค์การอวกาศยุโรป ผมภูมิใจที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความท้าทายที่น่าจดจำนี้ร่วมกับสมาชิกอีก 5 คนที่เป็นมืออาชีพที่สุด เป็นมิตร และเป็นคนที่ปรับตัวได้ดีที่สุดเท่าที่ผมเคยร่วมงานด้วย ผมรู้สึกขอบคุณกับคนเหล่านี้ตลอดไป ซึ่งอยู่เคียงข้างผมตลอดเวลาระหว่างการท่องอวกาศครั้งนี้” ดิเอโก ลูกเรือชาวอิตาลีในสังกัดอีซากล่าวหลังจากที่ออกมาจากห้องปฏิบัติการ
ด้านโรเมนลูกเรือชาวฝรั่งเศสในสังกัดอีซากล่าวว่า 1 ปีครึ่งที่ผ่านมา เขาได้รับการคัดเลือกจากองค์การอวกาศยุโรปให้เป็น 1 ในสมาชิกลูกเรือมาร์ส 500 วันนี้ หลังจากที่ผ่านการเดินทางที่ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปไหน เขารู้สึกภูมิใจที่ได้พิสูจน์กับเพื่อนลูกเรือนานาชาติคนอื่นๆ ว่า การเดินทางของมนุษย์สู่ดาวแดงนั้นเป็นไปได้ พวกเขาได้รับประสบการณ์ที่มีคุณค่ามาก ซึ่งจะช่วยในการออกแบบและวางแผนภารกิจมุ่งหน้าสู่ดาวอังคารในอนาคต
“เราพร้อมแล้วที่จะขึ้นยานอวกาศในอนาคตเพื่อเดินทางไปที่นั่น” ชารล์สกล่าว
สุครอฟ คามอลอฟ เป็นคนแรกที่ได้ออกมา
โรเมน
ดิเอโก
หวาง ยิว กล่าวแสดงความรู้สึกหลังออกมาพบโลกภายนอก
โรเมนและลูกเรือมาร์ส500 เดินเข้าห้องตรวจร่างกาย
โรเมนในห้องควบคุมระหว่างปฏิบัติหน้าที่