สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ – นักดาราศาสตร์พบกาแลกซีอยู่ไกลที่สุด อายุ 480 ล้านปี อยู่ห่างจากโลก 13,200 ล้านปีแสง แผ่รังสีอินฟราเรดมากกว่า ส่งผลให้นักดาราศาสตร์ต้องมาทบทวนวิวัฒนาการของกาแลกซี
นักดาราศาสตร์เปิดเผยข้อมูลการค้นพบวัตถุที่มีแสงริบหรี่มากๆในกลุ่มดาวเตาหลอม (Fornax) และเรียกชื่อว่า UDFj-39546284 โดยใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) ถ่ายภาพเชิงลึกผ่านแผ่นกรองแสงทุกช่วงความยาวคลื่น รวมเวลาทั้งสิ้น 40 ชั่วโมง ในระหว่างปี 2552-2553
หลังจากทีมวิจัยนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ในช่วงคลื่นอินฟราเรด ผลจากการวิเคราะห์แสดงให้ทราบว่าวัตถุนี้มีลักษณะที่ผิดไปจากกาแลกซีทั่วไป โดยเฉพาะในช่วงอินฟราเรดจะมีการแผ่รังสีมากกว่าปกติ แต่กาแลกซีที่อยู่ใกล้ๆ จะปล่อยรังสีในช่วงความยาวคลื่นอื่นๆ ด้วย จึงทำให้เชื่อมั่นได้ว่าเป็นกาแลกซีที่อยู่ไกลมากๆ ประมาณ 13,200 ล้านปีแสง
แม้ว่าภาพที่ได้มีขนาดเล็กมากๆ มีขนาดเพียงแค่ 1% ของ กาแลกซีทางช้างเผือกเท่านั้น แต่ก็บ่งบอกถึงข้อมูลสำคัญของกาแลกซี่ในยุคแรกๆหลังจากบิกแบง (Big Bang) เช่น ทฤษฎี วิธีการเกิดกาแลกซี อายุกาแลกซี เป็นต้น หลักฐานเหล่านี้แสดงให้ทราบว่าการก่อตัวของกาแลกซีเป็นแบบทรงรีและกังหันผสมกัน ประกอบด้วยดาวฤกษ์ขนาดเล็กที่เกิดขึ้นจากสสารมืด 100-200 ล้านปีก่อนจะเป็นกาแลกซีและเพิ่มจำนวน 10 เท่าในช่วงเวลา 170 ล้านปี
ปัจจุบันเอกภพมีอายุประมาณ 13,700 ล้านปี เพราะฉะนั้นกาแลกซีนี้มีอายุ 480 ล้านปีหลังจากบิกแบง ซึ่งเป็นกาแลกซี่ที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดที่เคยค้นพบ ความรู้ที่ได้เปลี่ยนแปลงแนวคิดนักดาราศาสตร์ให้ต้องทบทวนวิวัฒนาการของกาแลกซี ในยุคปัจจุบันว่าดาวฤกษ์จะก่อตัวเพิ่มขึ้นรวดเร็วเพียงใด เมื่อเทียบกับกาแลกซียุคแรกๆ ของเอกภพ