นอกจากปัญหาเรื่องปริมาณที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแล้ว “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” จากซากเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ อิเล็กทรอนิกส์ ยังสร้างปัญหาในแง่ส่วนประกอบที่มีสารอันตราย ซึ่งหากจัดการไม่เหมาะสมอาจทำให้เกิดการรั่วไหลสู่สิ่งแวดล้อม แล้วเป็นอันตรายทั้งต่อสุขภาพและระบบนิเวศ
หากแต่ข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ได้เห็นผลงานสิ่งประดิษฐ์ภายในงาน “การนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ 2554” (Thailand Research Expo 2011) ซึ่งนำเสนอให้เราเห็นว่า “ขยะอิเล็กทรอนิกส์” ที่ร้ายๆ นั้นสามารถแปลงร่างเป็นของใช้น่ารักๆ ได้อย่างไรบ้าง ณ บูธแสดงผลงานโครงงานวิจัยลดทอนขยะไอที (Let’s Start Thinking Green IT)
นางมาริยาท ตั้งมิตรเจริญ หัวหน้ากลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ถึงแนวคิดในการทำโครงงานวิจัยดังกล่าวว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีเยอะมากในปัจจุบัน เพราะว่าเทคโนโลยีเข้ามาอย่างรวดเร็ว ขยะจึงตามมาเร็วมาก แต่ในปัจจุบันยังไม่ค่อยมีวิธีกำจัดขยะที่ดี หรือจะกล่าวให้ถูกต้องคือประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญต่อเรื่องนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดบูธนิทรรศการดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงการนำวัตถุเหลือใช้ที่เราไม่ต้องการไปสร้างประโยชน์สูงสุด
“อย่างง่ายๆ เราเริ่มจากจากวัสดุคอมพิวเตอร์ที่เหลือใช้ แต่ละปีเรามีอุปกรณ์เก่าเยอะแยะซึ่งกองเอาไว้ เราก็มองว่ามันน่าจะเกิดประโยชน์ ทำให้เราคิดว่าสิ่งเหล่านี้ ถ้านำเอามาใช้ ตกแต่งเป็นของใช้ภายในบ้านหรือสำนักงานก็น่าที่จะเกิดประโยชน์กว่านี้ จึงทำให้เกิดผลงานจากหลายอย่าง เช่น โคมไฟจากแผ่นซีดี นาฬิกาซีดี แจกันหลอดไฟ เป็นต้น” นางมาริยายกตัวอย่างการแปลงขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นของเหลือใช้
เมื่อถามถึงแรงบันดาลใจในการทำโครงงานนี้ นางมาริยาทเปิดเผยด้วยรอยยิ้มว่า วันหนึ่งขณะที่เธอเปิดดูข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต เธอได้เห็นตู้ปลาที่ทำมาจากจอคอมพิวเตอร์ ซึ่งมีความสวยงามเป็นอย่างมาก เมื่อได้เห็นเธอจึงเกิดแรงบันดาลใจขึ้นมาว่า งานเหล่านี้เป็นสิ่งที่น่าสนใจ และเธอน่าจัดบูธแสดงผลงานเหล่านั้น ทำสิ่งประดิษฐ์เล็กๆ น้อยๆ โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายมาก แต่อาจจะใช้ความคิดเพิ่มเติมและใช้เวลานิดหน่อยเพื่อสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมาเป็นต้นแบบ
“ระยะเวลาทำโครงการเราเริ่มทำมาตั้งแต่เดือน เม.ย.โดยเริ่มติดต่อคนที่จะเข้าร่วมทำในกลุ่มเทคโนโลยีสารสนเทศ หาสิ่งของ หามุมมอง หาแนวคิด หาดีไซน์ต่างๆ ไปสู่การสร้างไอเดียและออกแบบ เป็นงานที่ค่อยๆ ทำ เพราะเราทำงานประจำและทางทีมงานทั้งหมดก็ทำงานประจำ เราจึงใช้เฉพาะเวลาว่างช่วงเที่ยงกับช่วงเย็น มานั่งประดิษฐ์สิ่งของจากขยะ เพื่อใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์” นางมาริยาทกล่าว
ในส่วนที่จะต้องปรับปรุงนั้นทางนางมาริยาทคิดว่างานที่เธอทำนั้นยังไม่สวยงาม และเธอเองก็อยากแสดงความคิดสร้างสรรค์มากกว่านี้ ในแง่ของการนำไปใช้ประโยชน์ต่อ ซึ่งเธอคาดว่าผู้ที่มาชมงานน่าจะมีความคิดสร้างสรรค์ที่ดีกว่าเธอ รวมถึงในแง่ทำให้สวยงามกว่าและใช้ประดับตกแต่งได้จริง โดยสิ่งประดิษฐ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นภายในงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาติ นั้น จะถูกนำไปใช้งานจริงที่สำนักงาน วช.
“รู้สึกแปลกใหม่ดี เรารู้สึกว่าทำอะไรได้เยอะกว่าตอนที่เริ่มมีมุมมองใหม่ๆ และก็รวมถึงวันนี้ที่ว่า เรามีกิจกรรมให้คนได้รวมกันทำ แค่นี้ก็เป็นสิ่งที่มีความสุขมากๆแล้ว แนวคิดของเรา บางครั้งอาจจะเป็นแนวคิดที่เดิมๆ เราเชื่อว่ามันอาจจะยังไม่เผยแพร่ที่ควรจะเป็น เราอยากให้วันนี้ภายในงานเป็นวันที่จุดประกาย และอยากให้หลายๆ หน่วยงานได้ตระหนักและร่วมกันช่วยดูแลสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์” นางมาริยาทกล่าวทิ้งท้ายถึงแนวคิด
นอกจากนี้ภายในบูธยังมีกิจกรรม “ประดิษฐ์นาฬิกาจากแผ่นซีดี” โดยใช้แผ่นซีดีมาเคลือบเงาด้วยกาว 2 รอบแล้วนำไปเป่าไดร์ให้แห้ง ต่อจากนั้นประดับตกแต่งด้วยดอกไม้หรือตุ๊กตา ใช้กาวร้อนทาแปะไปรอบๆ แผ่น 4 ทิศ เพื่อแสดงตำแหน่งเข็มสั้น หลังจากนั้นนำตัวเครื่องนาฬิกาใส่ไปใต้แผ่นซีดีแล้วใส่เข็มนาฬิกา ซึ่งจะได้ผลงานเป็นนาฬิกาจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ได้ร่วมประดิษฐ์นาฬิกาจากกิจกรรมนี้ด้วย
สำหรับงานการนำเสนอผลงานวิจัยแห่งชาตินี้ จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 26-30 ส.ค.54 ณ ศูนย์ประชุมบางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ เซ็นทรัลเวิลด์ ราชประสงค์ ซึ่งภายในงานยังมีการประชุมที่แบ่งเป็นประเด็นด้านการบริหารงานวิจัยของประเทศ ประเด็นปัญหาเร่งด่วนและประเด็นเฉพาะทางในสาขาวิชาต่างๆ รวมถึงกิจกรรมส่งเสริมการวิจัย อาทิ คลินิกวิจัยที่เปิดให้คำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เป็นต้น ทั้งนี้ เปิดให้ประชาชนเข้าชมได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.