xs
xsm
sm
md
lg

“นาคราช” กล้วยสปีชีส์ใหม่ของโลก พร้อมโชว์ในงาน วทท.37

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ปลีและผลกล้วยนาคราช (มหิดล)
งาน วทท.37 จัดโชว์ “นาคราช” กล้วยป่าสปีชีส์ใหม่ของโลกพบในแถบชายแดนไทย-พม่า ลักษณะปลีสีชมพูอมส้มเลื้อยยาวลดเลี้ยวเหมือนงู พบครั้งแรกเมื่อ 5 ปีที่แล้ว บ่งชี้ไทยยังเป็นแหล่งพันธุกรรมกล้วยที่สำคัญของโลก แต่น่าเสียดายจัดอยู่ในภาวะเสี่ยงสูญพันธุ์ พร้อมกันนี้ ยังเชิญนักวิทยาศาสตร์โนเบลมาบรรยายพิเศษฉลอง “ปีสากลแห่งเคมี”

ภายในการประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 37 (วทท.37) ซึ่งคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพ ร่วมกับสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์  จัดขึ้นระหว่างวันที่ 10-12 ต.ค.54 ณ บางกอกคอนเวนชันเซ็นเตอร์ โรงแรมเซ็นทาราแกนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ จะจัดแสดง “นาคราช” กล้วยชนิดใหม่ของโลก ซึ่งค้นพบและจำแนกชนิดโดยทีมวิจัยมหาวิทยาลัยคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมพันธุ์กล้วยแปลกกว่า 20 พันธุ์จากทั่วประเทศ ในนิทรรศการผลงานอันเนื่องมาจากโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช “นานาพันธุ์กล้วย”

ดร.นพ.จามร สมณะ อาจารย์ประจำภาควิชาชีวเคมี คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สมาชิกทีมสำรวจกล้วยชนิดใหม่เผยแก่ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ ว่าพบกล้วยชนิดหรือสปีชีส์ (species) นี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 14 ส.ค.54 ที่ด่านเจดีย์สามองค์ อ.สังขละบุรี จ.กาญจนบุรี ระหว่างออกสำรวจพันธุ์กล้วย ซึ่งลักษณะที่พบนั้นก้ำกึ่งระหว่างกล้วยป่าทั่วไปกับกล้วยบัวสีส้ม แต่เมื่อนำมาลองปลูกดูพบว่าการเจริญเติบโตนั้นแตกต่างกัน

“กล้วยบัวสีส้มนั้นมีลักษณะต้นเตี้ยประมาณ 1-2 เมตร มีเหง้ายาวๆ แตกหน่อไกลกัน หวีกล้วยมีผลแถวเดียว ลักษณะปลีชี้ฟ้าเหมือนปลีกล้วยทั่วไป แต่กล้วยนาคราชมีลักษณะต้นที่สูงใหญ่กว่าคือสูง 2-3 เมตร ลักษณะแตกกอแน่นและอยู่กันเป็นกระจุก หวีกล้วยมีผล 2 แถว ลักษณะปลีกล้วยขึ้นแบบเลื้อยลดเลี้ยวเอียงซ้าย เอียงขวา เหมือนงู ไม่ตั้ง ไม่ตก เราจึงเอาลักษณะเหมือนงูนี้มาตั้งเป็นชื่อว่านาคราช ไม่มีกล้วยอื่นใดในโลกที่ลักษณะเช่นนี้” ดร.นพ.จามรกล่าว

นอกจากการดูลักษณะภายนอกและการเติบโตซึ่งบอกได้ว่าเป็นกล้วยชนิดใหม่อย่างแน่นอนแล้ว ดร.นพ.จามรกล่าวว่า ยังได้ตรวจดีเอ็นเอของกล้วยเทียบกับกล้วยชนิดอื่นๆ ในเมืองไทย และดูลักษณะเนื้อเยื่อภายในถึงระดับจุลทรรศน์ซึ่งบอกได้ว่ากล้วยชนิดนี้ไม่ใช่กล้วยลูกผสม จึงพิสูจน์ได้ว่าเป็นกล้วยชนิดใหม่ อีกทั้งลักษณะยังไม่ตรงกับกล้วยที่มีรายงานในวารสารวิชาการที่รวบรวมพันธุ์กล้วยมาตลอด 50 ปีด้วย นอกจากนี้ยังได้รายงานการค้นพบไปยังผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ อาทิ เดนมาร์ก อังกฤษ เป็นต้น

หลักการรายงานพืชชนิดใหม่นั้น ดร.นพ.จามร อธิบายว่าการรายงานพืชชนิดใหม่นั้นต้องมีการอธิบายด้วยเอกสารวิชาการ พร้อมตัวอย่างอ้างอิง ทั้งแบบแห้ง แบบสดและแบบมีชีวิต โดยมีกล้วยต้นแบบปลูกไว้ในส่วนพฤกษศาสตร์หลายที อาทิ สวนหลวง ร.9 สวนสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ จตุจักร สวนพฤกษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ แม่ริม จ.เชียงใหม่ เป็นต้น โดยผู้ทำหน้าที่ในการเขียนรายงานทางวิชาการคือ ดร.ศศิวิมล แสวงผล จากภาควิชาพฤกษศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านอนุกรมวิธานสำหรับพืช และเป็นผู้ร่วมสำรวจพันธุ์กล้วย

สำหรับกล้วยนาคราชนี้เป็นกล้วยชนิดใหม่ที่มีชื่อวิทยาศาสตร์เป็นภาษาละตินว่า “มูซา เซอร์เปนตินา แสวงผล แอนด์ สมณะ” (Musa serpentine Swangpol &Somana) จะตีพิมพ์รายงานการค้นพบในวารสารไทย ฟอรเรสต์ บูลเลติน (Thai Forrest Bulletin) ฉบับที่ 39 ซึ่งเป็นฉบับล่าสุดที่เผยแพร่ในปลายเดือน ก.ย.54 นี้ โดยทีมวิจัยตั้งข้อสังเกตว่ากล้วยป่าชนิดใหม่ที่พบนี้เป็น 1 ในกล้วยป่า 65 ชนิดที่พบในโลก และเป็นกล้วยชนิดที่ 7 ที่พบในป่าประเทศไทย นอกจากนี้ประเทศไทยยังเป็นแหล่งพันธุกรรมพันธุ์กล้วยลูกผสมไม่มีเมล็ดกว่า 100 พันธุ์

ดร.นพ.จามรอธิบายว่า ประเทศไทยถือเป็นแหล่งพันธุกรรมกล้วยที่สำคัญของโลก โดยกล้วยประเภทแตกหน่อนั้นมีแหล่งพันธุกรรมที่สำคัญอยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งรวมถึงประเทศไทยด้วย ส่วนกล้วยไม่มีหน่อนั้นมีแหล่งพันธุกรรมกระจายไกลไปถึงทวีปแอฟริกา และการค้นพบครั้งนี้มีประโยชน์ตรงใช้เป็นตัวบ่งชี้ความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งการสำรวจความหลากหลายของกล้วยนั้นมีประโยชน์ เพราะตอนนี้ยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่ากล้วยที่เรากินนั้นจากไหน รู้เพียงว่ามาจากกล้วยป่า ซึ่งการจะตอบคำถามถึงการตั้งอยู่และดับไปของสายพันธุ์กล้วยนั้นต้องกลับไปหาที่กล้วยป่า

“รวมถึงเรื่องโรคระบาดด้วย วันหนึ่งอาจเกิดโรคระบาดที่ทำให้กล้วยบางชนิด เช่น กล้วยน้ำว้าสูญพันธุ์ไปหมด เป็นต้น แล้วเราจะหากล้วยที่ไหนมาทดแทน ก็ต้องกลับไปหาที่ต้นพันธุ์ในป่า” ดร.นพ.จามร

ทางด้าน ดร.ศศิวิมลกล่าวว่า ไม่มีคนศึกษากล้วยมานานแล้ว และทีมวิจัยได้ออกสำรวจเพื่อศึกษาการกระจายตัวของพันธุ์กล้วยเท่านั้น ไม่คาดคิดว่าจะได้พบกล้วยชนิดใหม่ และการพบกล้วยชนิดใหม่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนัก ซึ่งทีมวิจัยใช้เวลาในการศึกษาค่อนข้างนานเพราะไม่แน่ใจว่าเป็นกล้วยลูกผสมหรือไม่ และต้องออกสำรวจดูการกระจายตัวของพันธุ์ในหลายๆ ที่เพื่อให้แน่ใจว่าไม่ใช่กล้วยที่กลายพันธุ์ โดยทีมวิจัยได้ออกสำรวจในแถบชายแดนไทย-พม่า ในพื้นที่ป่าด้านตะวันตก บริเวณ จ.กาญจนบุรี จ.ตาก และ จ.แม่ฮ่องสอน

อย่างไรก็ดี กล้วยนาคราชจัดเป็นสปีชีส์ที่เสี่ยงสูญพันธุ์ (Endanger Species) เพราะกล้วยป่ามักขึ้นอยู่ตามริมถนน ริมห้วย ไม่ขึ้นในป่าลึก โดย ดร.นพ.จามรอธิบายสาเหตุของการสูญพันธุ์ว่ากล้วยป่ามักขึ้นอยู่รกๆ เมื่อชาวบ้านเห็นก็ฟังทิ้ง หากแตกหน่อขึ้นมาใหม่ก็เผาทิ้งหรือให้วัวควายเข้าไปกิน อีกทั้งผลเล็กเท่านิ้วก้อย เนื้อไม่อร่อย และขยายพันธุ์ได้ช้าเพราะมีเมล็ดน้อยเพียงผลละ 1 เมล็ด และแตกหน่ออยู่ชิดกัน แต่สามารถนำมาเป็นไม้ประดับได้ เพราะกลางใบเป็นแถบสีแดง นอกจากนี้ยังมีประโยชน์สำหรับให้ร่วมเงาและเป็นแหล่งอาหารของแมลงเพราะมีน้ำหวานเยอะ รวมทั้งเป็นอาหารของช้าง วัวและควายได้

นอกจากนี้ ภายในงาน วทท.37 ยังแจกหน่อกล้วยหอมทองพันธุ์ดีวันละ 100 หน่อ แก่ผู้เยี่ยมชมนิทรรศการตลอด 3 วัน และยังได้เชิญ ศ.ดร.โรเบิร์ต ฮูเบอร์ (Prof.Dr.Robert Huber) นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบล สาขาเคมี ประจำปี 2531 มาบรรยายพิเศษเรื่อง “โครงสร้างสุนทรีย์ของโปรตีน” (Beauty and Function of Proteins, the Building Blocks of Life, as the Focus of Basic and Applied Research) โดยผลงานที่ทำให้เขาได้รับรางวัลโนเบลคือการหาโครงสร้าง 3 มิติของศูนย์กลางปฏิกิริยาการสังเคราะห์แสงของไซยาโนแบคทีเรีย ซึ่งความรู้ดังกล่าวได้ถูกนำไปต่อยอดเพื่อศึกษาให้เข้าใจถึงโครงสร้างโปรตีนของร่างกายมนุษย์ โดยใช้เทคนิคการเลี้ยวเบนของรังสีเอ็กซ์
ลักษณะเลื้อยของปลีคล้ายงูจึงเป็นที่มาของชื่อ นาคราช (มหิดล)
ผลกล้วยที่มีเมล็ด (มหิดล)
ปลีกล้วยนาคราช (มหิดล)
แผนที่แสดงตำแหน่งที่พบกล้วยนาคราช (มหิดล)
ดร.นพ.จามร และ ดร.ศศิวิมล
กำลังโหลดความคิดเห็น