xs
xsm
sm
md
lg

แนะใส่ศิลปะลงงานประดิษฐ์เพิ่มมูลค่าสู่เชิงพาณิชย์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต  ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ทุกวันนี้โลกมีหลอดไฟฟ้าให้แสงสว่าง มีเครื่องบิน มีรถยนต์ไว้ใช้เพื่อการคมนาคม ก็เป็นผลมาจากสิ่งประดิษฐ์ที่ได้นำมาวิจัยและพัฒนาต่อยอดจนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแพร่หลาย นักประดิษฐ์จึงถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการพัฒนาประเทศ แต่ในมุมมองของนักออกแบบนั้นมองว่าการเป็นนักประดิษฐ์ที่ดีนั้น นอกจากองค์ความรู้เรื่องวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้วยังต้องใส่ศาสตร์ทางด้านศิลปะลงไปด้วย จึงจะทำให้ผลงานมีมูลค่าเทียบเท่าต่างชาติได้

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)ได้เปิดมุมมองการเป็นนักประดิษฐ์ไทย กับทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า นักประดิษฐ์ในปัจจุบันนั้นจะมองไปในทางด้านวิทยาศาสตร์มากเกินไป ทั้งการใช้องค์ความรู้ และเรื่องของการนำเทคโนโลยีมาใช้ในชิ้นงาน แต่ยังขาดความงามในเรื่องของศิลปะอยู่

"อย่างการประดิษฐ์เครื่องตัดหญ้าของไทย ในด้านของการทำงานทำได้ แต่ยังไม่มีความสวยงามไม่ดึงดูดใจของผู้ซื้อ จึงไม่สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้อย่างแพร่หลาย เมื่อเปรียบเทียบได้กับต่างชาติที่มีความก้าวหน้าในเรื่องของผลงานการประดิษฐ์ที่นำมาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ จนสามารถส่งออกและนำรายได้เข้าประเทศอย่างมหาศาล ดังนั้น ต้องใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี บวกความรู้ศิลปะเข้าไปด้วย จึงจะสร้างสรรค์ผลงานให้มีมูลค่าเทียบเท่าต่างชาติได้" รศ.ดร.สิงห์กล่าว

ในขณะที่ นางกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขาธิการคณะกรรมสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.) กล่าวว่า กระบวนการก่อนที่จะนำผลงานการประดิษฐ์ไปสู่เชิงพาณิชย์ได้นั้น ต้องเริ่มจากการสร้างคนก่อน ซึ่งบันไดก้าวแรกของการเป็นนักประดิษฐ์ที่ดีจึงต้องได้รับความรู้พื้นฐาน ทั้งในเรื่องของหลักคิด กระบวนการต่างๆ เพื่อเป็นการจุดประกายในเรื่องของการสร้างสรรค์ผลงานที่ดี

นางกาญจนา บอกต่อว่า ทาง วช. จึงได้เห็นความสำคัญของการส่งเสริมงานวิจัยที่สามารถนำไปต่อยอดในการพัฒนาประเทศ จึงได้จัดโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อบ่มเพาะนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2554 ในหัวข้อ “การวิจัยเชิงบูรณาการสู่การประดิษฐ์และนวัตกรรม” ขึ้นมาเมื่อ มิ.ย. ที่ผ่านมา ณ ศูนย์ประชุมธรรมศาสตร์รังสิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)

“โครงการดังกล่าวนั้นเพื่อบ่มเพาะนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ในการนำความรู้ที่ได้ไปบูรณาการออกแบบสิ่งประดิษฐ์จากปัญหาใกล้ตัว ทั้งในเรื่องของปัญหาทางด้านเกษตร ทางสิ่งแวดล้อม หรือว่าทางการแพทย์ จนสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในสังคมต่อไปได้” นางกาญจนา กล่าว 

นอกจากนี้  ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลและพลังงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) เปิดเผยด้วยว่า การสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมนั้นเกิดจากการประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านต่างๆ ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี หรือด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหานั้นๆ  ซึ่งหัวใจของการวิจัยและพัฒนาของการสร้างผลิตภัณฑ์  คือการพัฒนาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ให้ได้ตามมาตรฐานตรงกับความต้องการของลูกค้าโดยเน้นให้เกิดสิ่งใหม่ๆ หรือความแปลกทั้งด้านรูปลักษณ์และประโยชน์ในการใช้งาน

"ทั้งนี้ การวิจัยและพัฒนาที่ถือว่าประสบความสำเร็จนั้น ต้องสามารถนำความรู้ข้อมูลที่ได้จากการวิจัยมาต่อยอดในเชิงวิชาการ หรือในเชิงธุรกิจได้" ศ.ดร.ผดุงศักดิ์กล่าว

อย่างไรก็ดี นายสมานชัย สุวรรณอำไพ ศึกษานิเทศน์ชำนาญการพิเศษ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครพนม เขต 2 ผู้เข้ารับการอบรมครั้งนี้ได้ให้ข้อเสนอแนะระหว่างการอบรมด้วยว่า การจะบ่มเพาะนักประดิษฐ์นั้นจะต้องเริ่มจากเด็กประถม มัธยม ให้สามารถคิด วิเคราะห์แก้ปัญหาต่างๆ ได้  ที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าผลการประเมินเด็กไทยในเรื่องของการคิดวิเคราะห์ยังต่ำกว่าเกณฑ์มาก แต่หากเด็กถูกปลูกฝังในเรื่องนี้ตั้งแต่เด็ก คาดว่าโตขึ้นจะต้องเป็นนักประดิษฐ์ที่ดี จะสามารถวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้น จนสามารถนำผลงานที่คิดค้นมาต่อยอดจนสามารถใช้ได้จริงในสังคม

ทางด้านนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์ที่ผ่านการอบรมจาก วช. อย่าง นางสาวลฎาภา ปริยวรกุล นักเรียนชั้นม. 5 ร.ร.ศึกษานารีวิทยา กทม. บอกว่า คาดหวังที่จะนำความรู้พื้นฐานจากการอบรมไปจุดประกายให้กับงานประดิษฐ์ที่คิดเอาไว้แต่ยังไม่ได้ลงมือทำ นั้นคือ การทำร่มเซลล์แสงอาทิตย์ เพื่อเก็บพลังงานจนสามารถนำมาชาร์ตกับแบตเตอรี่ต่างๆ ได้ ซึ่งเป็นความคิดที่เกิดการสังเกตว่าเพื่อนๆ ชอบใช้ร่มกันแดด

“การอบรมในครั้งนี้จะนำความรู้ที่ได้ทั้งหมดตั้งแต่กระบวนการก่อนการประดิษฐ์จนออกมาเป็นชิ้นงาน มาบูรณาการเพื่อให้ชิ้นงานสามารถเป็นที่ยอมรับของสังคม จนนำไปใช้อย่างแพร่หลายต่อไป” นางสาวลฎาภากล่าวถึงแนวคิด
นางกาญจนา ปานข่อยงาม รองเลขาธิการคณะกรรมสภาวิจัยแห่งชาติ (วช.)
บรรยาการการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อบ่มเพาะนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ประจำปี 2554 ซึ่งมีนักเรียน อาจารย์ นิสิต นักศึกษา ผู้บริหาร เจ้าหน้าที่และผู้ที่สนใจ เข้าร่วมประมาณ 200 คน
บรรยาการการอบรมเชิงปฏิบัติการเพื่อบ่มเพาะนักประดิษฐ์รุ่นใหม่ ของ วช.
ศ.ดร.ผดุงศักดิ์ รัตนเดโช  ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมเครื่องกลและพลังงาน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต)
ผู้เข้ารับการอบรมซักถามวิทยากร
นางสาวลฎาภา ปริยวรกุล นักเรียนชั้นม. 5 ร.ร.ศึกษานารีวิทยา กทม.
ผศ.ดร.บรรยงค์ รุ่งเรืองด้วยบุญ อาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ หาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (ศูนย์รังสิต) ได้นำผลงานการประดิษฐ์ “ชุดประกอบขับเคลื่อนไฟฟ้าสำหรับรถเข็นคนพิการทั่วไป” มาแสดง
กำลังโหลดความคิดเห็น