xs
xsm
sm
md
lg

สกว.จับมือนักวิจัยท้องถิ่นเมืองดอกบัวสร้างคนสู่ความเข้มแข็ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


อุบลราชธานี -นักวิชาการ นักวิจัยชาวบ้าน จ.อุบลราชธานี ร่วมวงถกคุณค่าคุณภาพของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น พร้อมโชว์กรณีศึกษานวัตกรรมแอร์แวร์ประดิษฐกรรมระบบส่งน้ำชาวบ้านผาชัน และการอนุรักษ์กลองตุ้ม เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้นักวิจัยรุ่นใหม่

ที่ห้องประชุมคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ศูนย์ประสานงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นจังหวัดอุบลราชธานี ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) นักวิชาการ นักวิจัยชาวบ้าน จัดเวทีเสวนา ค้นหาคุณภาพและคุณค่าของงานวิจัยท้องถิ่นสู่ความเข้มแข็งของชุมชน โดยมีผศ.ดร.บัญชร แก้วส่ง ผอ.สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นเข้าร่วมเสวนา

ผศ.ดร.บัญชร แก้วส่ง ผอ.สกว.ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น กล่าวว่า งานวิจัยเพื่อท้องถิ่นเป็นงานวิจัยมีเป้าหมายเพื่อประโยชน์ชุมชน นักวิจัยส่วนใหญ่จึงเป็นคนในท้องถิ่น โดยมีนักวิจัยเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษาเรื่องคุณภาพของงานวิจัย รวมทั้งประเมินผลจากการสร้างคนในท้องถิ่นให้รู้จักตัวเองและชุมชนรอบตัว เพื่อรวมตัวพูดคุยหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาร่วมกัน

โดยใช้ภูมิปัญญา องค์ความรู้เดิมแก้ไขปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้น จึงเป็นกระบวนการสร้างชุมชนให้เข้มแข็งอย่างแท้จริง

ขณะที่ อาจารย์ คำล่า มุสิกา หัวหน้าชุดโครงการวิจัยอนุรักษ์กลองตุ้ม จังหวัดอุบลราชธานี กล่าวถึงกรณีศึกษางานวิจัยท้องถิ่นของนักวิชาการที่เข้าไปผลักดันให้ชุมชนร่วมกันอนุรักษ์วัฒนธรรมประเพณีว่า ก่อนการทำงานวิจัย ชาวบ้านไม่รู้ว่าจะวิจัยไปทำไม เพราะยังมองไม่เห็นตัวเอง เมื่อกระบวนการวิจัยเข้าไปส่งเสริมการเรียนรู้ในชุมชน ทำให้ชาวบ้านเห็นความสำคัญของกลองตุ้ม มีการรื้อฟื้นวัฒนธรรมประเพณีการฟ้อนกลองตุ้ม การออกแบบลายผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ประจำชุมชน ต่อมาหน่วยงานในพื้นที่เห็นความสำคัญได้จัดกิจกรรมสนับสนุนจัดประกวดกลองตุ้ม

“สิ่งที่เกิดขึ้นถือเป็นการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมให้อยู่คู่ชุมชน เพราะนอกจากชาวบ้านได้เห็นคุณค่าของตัวเอง ยังสามารถนำความรู้ที่ได้จากการวิจัยมาสอนนักเรียน นักศึกษาให้มีความรู้ต่อไปด้วย”

ด้าน อาจารย์ กล พรมสาลี หัวหน้าโครงการการจัดการน้ำบ้านผาชัน อ.โพธิ์ไทร จ.อุบลราชธานี ยังได้กล่าวถึงกรณีศึกษาที่ประสบความสำเร็จจากการทำงานวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำอุปโภคบริโภคของคนในหมู่บ้านที่อยู่ในพื้นที่สูง การนำน้ำขึ้นมาใช้ในอดีตมีปัญหามาก กระทั่งเกิดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ “แอร์แวร์” ที่ชาวบ้านร่วมกันคิดใช้หลักการการหมุนเวียนของอากาศเป็นตัวสร้างกำลังส่งน้ำให้น้ำเดินขึ้นสู่ที่สูง จนได้รับรางวัลงานวิจัยดีเด่น ได้กล่าวถึงแรงบันดาลใจและกำลังใจในการทำงาน

ถึงแม้จะมีความยากในการเริ่มต้นกระบวนการ แต่หากดำเนินการไประยะหนึ่ง จะพบวิธีการแก้ไขปัญหาที่เกิดจากการร่วมคิดร่วมทำ คนในชุมชนเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งประดิษฐ์ที่ทำขึ้น โดยไม่ต้องรอความช่วยเหลือจากภายนอกเพียงอย่างเดียว
กำลังโหลดความคิดเห็น