xs
xsm
sm
md
lg

เหลือเชื่อ! ในทะเลก็มี “เห็ด"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

 เห็ดสนิมขอบเขียว (แผ่นวงกลม) ในตู้ปลาการ์ตูน
หลังจากลองเลียบๆ เคียงๆ ถามเพื่อนร่วมงานว่ารู้จัก “เห็ดทะเล” หรือไม่? เสียงสะท้อนกลับมามีทั้งประหลาดใจ บ้างไม่เชื่อ บ้างย้อนว่าทีมข่าววิทยาศาสตร์เพี้ยนไปแล้ว แต่สิ่งมีชีวิตที่ว่านั้นมีอยู่จริงและต่างไปจากเห็ดที่อยู่ในหม้อต้มยำกุ้ง

แม้ชื่อว่าเห็ดและมีรูปร่างคล้ายเห็ดที่เราบริโภคกัน แต่ “เห็ดทะเล” (Muchroom anemone) จัดเป็นสัตว์ชนิดหนึ่ง อยู่ในตระกูลเดียวกับดอกไม้ทะเลและปะการัง และพบอยู่ตามแนวปะการังน้ำตื้นในเขตร้อนทั่วโลก ลักษณะภายนอกคล้ายดอกไม้ทะเล ซึ่งข้อมูลจากสถานีวิจัยประมงศรีราชา คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ระบุว่า นักชีววิทยาจึงตั้งชื่อสามัญของสิ่งมีชีวิตชนิดนี้ในความหมายเดียวกับดอกไม้ทะเล

ลักษณะโครงสร้างของเห็ดทะเลมีแผ่นปาก (Pedal dish) อยู่ด้านบน ซึ่งมีช่องปากอยู่ตรงกลาง และรอบๆ ปากมีหนวดที่อาจสังเกตไม่ได้ในเห็ดทะเลบางชนิด และด้านล่างมีฐาน (Oral dish) ทำหน้าที่ยึดเกาะกับวัสดุใต้น้ำ เช่น ก้อนหินหรือซากปะการังที่ตายแล้วที่เรียกว่า “หินเป็น” ซึ่งมีสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ เช่น ปะการัง สาหร่ายไปอาศัยอยู่ และจากการศึกษาทางสรีรวิทยาพบว่าเห็ดทะเลคล้ายปะการังมากกว่าดอกไม้ทะเล แต่เห็ดทะเลไม่สามารถสร้างโครงสร้างหินปูนได้เหมือนปะการัง นักวิทยาศาสตร์จึงแยกออกมาเป็นอันดับ* (order) ใหม่

การกินอาหารของเห็ดทะเลนั้นอาศัยสาหร่ายเซลล์เดียวที่ติดอยู่ตามเนื้อเยื่อร่างกายชื่อ “ซูแซนทาลลี” (Zooxanthallae) ทำหน้าที่สังเคราะห์แสงและให้สารอาหารแก่เห็ดทะเล และบางครั้งหากมีสาหร่ายชนิดนี้เจริญเติบโตมากเกินไป เห็ดทะเลจะจับกินเป็นอาหาร นอกจากนี้ยังพบด้วยว่าเห็ดทะเลบางชนิดสามารถจับสัตว์น้ำขนาดเล็ก เช่น ลูกกุ้ง ลูกปลา เป็นต้น เป็นอาหารได้

อลงกต อินทรชาติ หัวหน้าสถานีวิจัยประมงศรีราชา ให้ข้อมูลทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า เห็ดทะเลเป็นที่รู้จักในวงการสัตว์ทะเลสวยงามมานานแล้ว และเป็นที่นิยมมากขึ้นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา และตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ไม่ห้ามการเลี้ยงสัตว์ทะเล จึงมีเห็ดทะเลถูกจับจากแหล่งธรรมชาติออกมาจำหน่ายจำนวนมาก ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ต่อไปอาจสูญพันธุ์ได้ ดังนั้น ทางสถานีจึงได้ทำโครงการขยายพันธุ์เห็ดทะเลขึ้นมา

“ทำไมเราต้องศึกษาเห็ดทะเล? ตอนนี้มีการนำออกมาจากธรรมชาติเยอะมาก เนื่องจากเป็นสัตว์เศรษฐกิจตัวใหม่ จัดอยู่ในประเภทสัตว์ทะเลสวยงาม และเมื่อนำออกมาแล้วมักมีสิ่งที่เห็ดทะเลยึดเกาะติดมาด้วย ทั้งซากปะการัง ปะการัง และหินเป็น ซึ่งการนำสิ่งเหล่านี้ออกมาด้วยเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ล่าสุดเราออกสำรวจที่เกาะกูด บริเวณหน้าผาลึก 8-10 เมตร ต้องดำน้ำถึง 3 ไดฟ์ แต่เจอแค่ 5-6 ดอก ตอนนี้เริ่มหายากมากขึ้น หากไม่อนุรักษ์ไว้ต้องหมดไปแน่ๆ” อลงกตผู้ดูแลโครงการขยายพันธุ์เห็ดทะเลกล่าว

ทั้งนี้ สถานีวิจัยประมงศรีราชาสามารถขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลได้สำเร็จ และยังจัดจำหน่ายให้แก่ผู้สนใจได้ หลังจากเริ่มโครงการนี้ได้เพียงปีกว่าๆ ซึ่งอลงกตบอกว่าการนำเห็ดทะเลจากธรรมชาติมาขยายพันธุ์และเพาะเลี้ยงนั้นช่วยตอบโจทย์ได้หลายอย่าง ส่วนหนึ่งคือทางสถานีต้องหารายได้เลี้ยงตัวเอง จึงเลือกโครงการที่ใช้พื้นที่ในการเพาะพันธุ์ไม่มาก อีกทั้งยังเป็นการอนุรักษ์เห็ดทะเล เพราะจะช่วยลดการนำออกมาจากธรรมชาติลง

การขยายพันธุ์เห็ดทะเลนี้ได้รับการสนับสนุนเงินทุนจากสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. โดยทีมวิจัยได้นำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์จากทะเลมาผ่าหรือตัดแบ่งเป็นชิ้นส่วนเพื่อขยายพันธุ์ เนื่องจากเห็ดทะเลเป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังซึ่งสามารถสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศ เมื่อถูกตัดออกจึงสามารถเจริญเติบโตเป็นตัวใหม่ได้ โดยทีมวิจัยได้ตัดแบ่งเห็ดทะเลที่มีลักษณะเป็นแผ่นวงกลมออกเป็นชิ้นส่วนเหมือนขนมเค้ก ตั้งแต่ 4-8 ชิ้น ขึ้นอยู่กับขนาดของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ และเห็ดทะเลจะค่อยๆ เจริญเติบโตจนมีรูปร่างเป็นวงกลมอีกครั้ง

ข้อมูลจากสถานีวิจัยประมงศรีราชาระบุว่า เห็ดทะเลสืบพันธุ์แบบไม่อาศัยเพศได้ดี ซึ่งส่วนมากจะพบการขยายพันธุ์แบบแตกหน่อ โดยเห็ดทะเลจะย้ายตัวเองจากตำแหน่งเดิมแล้วทิ้งชื้นส่วนเนื้อเยื่อไว้เล็กน้อย และเนื้อเยื่อเหล่านั้นจะค่อยๆ พัฒนาเป็นเห็ดทะเลตัวใหม่ หรืออีกวิธีคือการปล่อยตัวเองจากวัสดุยึดเกาะแล้วลอยล่องไปกับกระแสน้ำ เมื่อตกอยู่ในสถานที่มีสภาพแวดล้อมเหมาะสมก็จะเจริญเติบโตต่อไปได้

สาโรจน์ เริ่มดำริห์ นักวิชาการประมง ประจำสถานีวิจัยประมงศรีราชา ผู้มีหน้าที่หลักในการดูแลและเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลในโครงการ เล่าถึงขั้นตอนการเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลชนิดนี้ว่า เริ่มจากการออกไปเสาะหาพ่อพันธุ์แม่พันธุ์ในธรรมชาติ ซึ่งทีมวิจัยได้ดำน้ำสำรวจในทะเลที่มีกองหินหรือมีลักษณะเป็นกองหินลาดชัน ซึ่งจะพบเห็ดทะเลอาศัยอยู่ โดยได้ออกสำรวจที่เกาะแสมสาร จ.ชลบุรี และเกาะกูด จ.ตราด และนำเห็ดขนาดใหญ่ๆ กลับมา ซึ่งแต่ละชนิดก็มีขนาดต่างกัน

ขั้นตอนการเก็บเห็ดทะเลออกมาจากแหล่งธรรมชาตินั้น สาโรจน์บอกว่าต้องระมัดระวังไม่ให้บอบช้ำ หากเห็ดทะเลยึดเกาะหินปะการังจะใช้มีดเลาะออกมา แต่หากยึดติดกับก้อนหินหรือเปลือกหอยก็จะเก็บกลับมาทั้งก้อน ซึ่งเห็ดทะเลจะห่อตัวหลังเก็บออกมาจากแหล่งธรรมชาติ จึงต้องพักฟื้นให้พร้อมขยายพันธุ์ 1-2 อาทิตย์ แต่หากไม่ฟื้นตัวก็จะห่อเหี่ยวแล้วตายในที่สุด ทั้งนี้ อัตรารอดหลังนำออกมาจากแหล่งธรรมชาติอยู่ที่ 80%

ทีมเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลได้ผลิต “หินเป็นเทียม” ขึ้นมาเป็นวัสดุสำหรับยึดเกาะ และทดลองเปรียบเทียบการเลี้ยงในระบบปิดซึ่งไม่มีการเปลี่ยนน้ำทะเลที่ใช้เพาะเลี้ยง กับการเพาะเลี้ยงในระบบเปิดซึ่งมีการเปลี่ยนน้ำทะเลที่เพาะเลี้ยง ผลปรากฏว่าการเลี้ยงในระบบปิดมีอัตรารอดมากกว่า โดยพบว่าระหว่างเปลี่ยนน้ำทะเลในระบบเปิดนั้นเห็ดทะเลที่เลี้ยงไว้ตายทั้งหมด อลงกตจึงสรุปว่าการเลี้ยงระบบปิดดีที่สุด นอกจากมีอัตรารอดมากกว่าแล้วยังช่วยประหยัดต้นทุนน้ำทะเลด้วย ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรที่อยู่ห่างไกลทะเล

ทางสถานีวิจัยประมงศรีราชาได้ศึกษาเห็ดทะเลจากอ่าวไทย 23 ชนิด และสายพันธุ์ต่างประเทศอีก 5 ชนิด และพบว่าเห็ดทะเลสายพันธุ์ไทย 6 ชนิดมีศักยภาพต่อยอดทางการค้า อย่างไรก็ดี อลงกตกล่าวว่ายังไม่มีงานวิจัยจำแนกชนิดเห็ดทะเลอย่างชัดเจน ที่ผ่านมาอาศัยการอ้างอิงจากลักษณะภายนอก ไม่ได้ลงลึกถึงระดับโมเลกุล แต่สามารถจำแนกเป็นกลุ่มได้อย่างชัดเจน โดยแบ่งเห็ดทะเลได้เป็น 5 กลุ่มคือ เห็ดขน เห็ดสนิม เห็ดสองปาก เห็ดเรียบ และเห็ดหูช้าง โดยเห็ดกลุ่มหลังนั้นเป็นที่ต้องการของตลาดและค่อนข้างหายาก แต่จากการเพาะเลี้ยงพบว่าขยายพันธุ์ได้ง่าย

ด้าน ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ ผู้อำนวยการ สวก.ให้ความเห็นแนะนำต่อโครงการขยายพันธุ์เห็ดทะเล 2-3 แนวทางว่า อยากให้ทางสถานีวิจัยประมงเพาะเห็ดทะเลเพื่อจำหน่ายต่อไป อยากให้มีการอบรมเพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการขยายพันธุ์แก่ผู้ที่สนใจเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลเป็นธุรกิจโดยไม่จำกัดจำนวนผู้เข้ารับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และอยากให้มีงานวิจัยที่ศึกษาลึกลงไปในระดับโมเลกุลเพื่อรวบรวมสายพันธุ์เห็ดทะเลพื้นเมืองของไทย

“เห็ดทะเลมีความสำคัญต่อระบบนิเวศเหมือนปะการัง ในบางทีปากะรังขึ้นไม่ได้ แต่เห็ดทะเลขึ้นได้ ก็จะเป็นดัชนีชี้วัดคุณภาพน้ำได้ อีกทั้งเห็ดทะเลยังช่วยกรองน้ำโดยธรรมชาติได้เหมือนปะการัง ตอนนี้พบว่าหาเห็ดทะเลในธรรมชาติได้ยากมากขึ้น และจะหมดไปหากเราไม่อนุรักษ์ไว้ ซึ่งโครงการขยายพันธุ์เห็ดทะเลนี้จะช่วยให้มีอยู่ในธรรมชาติตลอดไป เพราะเราจะได้ไม่ต้องนำออกมาจากธรรมชาติ อยากให้มีการศึกษาเห็ดทะเลทุกชนิดแล้วเพาะขยายพันธุ์ต่อไป” ดร.นภาวรรณให้ความเห็น

*อันดับ เป็นการจำแนกสิ่งมีชีวิตตามหลักชีววิทยา โดยแยกสิ่งมีชีวิตในอาณาจักรสัตว์ (Animalia Kingdom) จากกลุ่มใหญ่ไปกลุ่มย่อย ได้ดังนี้ ไฟลัม (Phylum) ชั้น (Class) อันดับ (Order) วงศ์ (Family) สกุล (Genus) และชนิดหรือสปีชีส์ (Species)

****
สำหรับผู้สนใจนำเห็ดทะเลไปจำหน่ายหรือเพาะเลี้ยงสามารถติดต่อ ได้ที่ :

อลงกต อินทรชาติ
สถานีวิจัยประมงศรีราชา ฝ่ายสนับสนุนวิชาการ คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 101/12 ม.9 ต.บางพระ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 20110

โทร.0-3831-1379 โทรสาร.0-3831-1379
เห็ดหูช้างที่ยึดเกาะบน “หินเป็นเทียม”
เห็ดสนิมขอบเขียว
เห็ดแดงขนเขียว
เห็ดหูช้าง (วงกลมใหญ่ๆ ด้านซ้าย) และ เห็ดสองปากผิวย่น (อยู่ติดกันทางด้านขวา)
บ่ออนุบาลเห็ดทะเล
บ่อเพาะเลี้ยงเห็ดทะเลระบบปิด
 ดร.นภาวรรณ นพรัตนราภรณ์ (ซ้าย) และ อลงกต อินทรชาติ (ขวา)
กำลังโหลดความคิดเห็น