การแพร่ระบาด “เพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง” เป็นปัญหาต่อเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง เพราะกระทบต่อผลผลิต หากใช้สารเคมีกำจัด นอกจากค่าใช้จ่ายสูงแล้ว ยังเสี่ยงต่อการปนเปื้อนสารเคมีอีกด้วย ทางเลือกหนึ่งที่มีความเหมาะสมสอดคล้องกับแนวคิดการผลิตพืชปลอดภัย นั่นคือวิธีการใช้ “ธรรมชาติบำบัด”
รศ.ดร.วิวัฒน์ เสือสะอาด ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ให้ข้อมูลว่า ปี 2551 ประเทศไทยได้เกิดเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังระบาดอย่างรุนแรง ซึ่งสร้างความเสียหายและขยายวงกว้างไปสู่พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังในหลายจังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ระยอง กำแพงเพชร ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว นครราชสีมา และกาญจนบุรี เนื่องจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงในปัจจุบันทั้งสภาพอากาศที่แห้งแล้ว ฝนทิ้งช่วง มีส่วนทำให้เกิดการระบาดเพลี้ยแป้ง
“หากแต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้พื้นที่การระบาดเพิ่มสูงนั้น นั่นคือการขยายพื้นที่ปลูกและมีการนำท่อนพันธุ์มันสำปะหลังที่มีไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัยเพลี้ยแป้งติดกับท่อนพันธุ์ไปด้วย นอกจากนี้ พาหะตัวสำคัญคือมดเป็นตัวนำเพลี้ยแป้งกระจายสู่ต้นมันสำปะหลังต้นอื่นและแปลงใกล้เคียง ทำให้เกษตรกร ต้องรับภาระด้านค่าสารเคมี ค่าแรงงานในการฉีดพ่นสารกำจัดแมลงมากขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย การใช้ศัตรูธรรมชาติเพื่อการแก้ปัญหา หรือธรรมชาติบำบัดน่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุด” รศ.ดร.วิวัฒน์ กล่าวเสริม
สอดรับข้อมูลจาก นายนันทพล ภัทรวารินทร์ เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี ซึ่งเล่าให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังว่า เมื่อปี 2551-2552 นั้นมีการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้งอย่างหนัก ทำให้ได้ผลผลิตต่ำมาก บางไร่แทบไม่มีผลผลิตให้เลย จึงได้แก้ปัญหาดังกล่าวโดยการใช้สารเคมีที่มีราคาแพง เพื่อกำจัดการแพร่ระบาดของโรคให้หมดไป แต่ยังไม่สามารถควบคุมเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังได้
จนกระทั่งปี 2553 ได้มีนักวิจัยศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ มาให้องค์ความรู้เกี่ยวกับการใช้ “แมลงช้างปีกใส” ศัตรูธรรมชาติมาควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลัง ทุกวันนี้ นันทพลบอกว่าสามารถควบคุมการระบาดของเพลี้ยแป้งได้อย่างยั่งยืนแล้ว
“แมลงช้างปีกใสเป็นประชากรสัตว์ที่มีอยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว เราเพียงแค่เพิ่มประชากรเพื่อช่วยทำลายเพลี้ยในมันสำปะหลัง ถือว่าเป็นวิธีที่ได้ผลมาก และทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้นมา 4-5 ตันต่อไป จากเดิมที่เคยได้ไร่ละ 1-2 ตัน และผลผลิตทางการเกษตรยังปลอดสารเคมีอีกด้วย” เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลัง จ.กาญจนบุรี ให้ข้อมูลทีมข่าว ASTV- ผู้จัดการออนไลน์ ระหว่างเยี่ยมชมโครงการใช้ศัตรูธรรมชาติแก้ปัญหาเพลี้ยแป้ง ณ อ.ห้วยกระเจา และ อ.พนมทวน จ.กาญจนบุรี
ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ เลขาธิการคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ กล่าวถึงการให้ความรู้เกี่ยวกับการใช้ศัตรูพืชแก้ปัญหาเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังแก่เกษตรกรว่า วช. เล็งเห็นความสำคัญในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังไม่ให้เกิดการระบาด โดยได้หาวิธีการแทนการใช้สารเคมีเพื่อลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร จึงได้ให้ทุนสนับสนุนการวิจัยกับศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ ดำเนิน “โครงการการใช้ศัตรูธรรมชาติเพื่อการแก้ปัญหาการระบาดของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังอย่างยั่งยืน” หรือเรียกว่าวิธีการควบคุมศัตรูพืชโดย "ชีววิธี" ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่อง 3 ปี ตั้งแต่เดือน ม.ค.53 - ก.ย.55
“วัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าวนั้นเพื่อใช้ประโยชน์จากศัตรูธรรมชาติในการควบคุมเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังและให้เกิดการควบคุมที่ถาวร ซึ่งคาดว่าจะสามารถลดประชากรของเพลี้ยแป้งมันสำปะหลังให้ระบาดไม่เกิน 30% และลดลงเหลือไม่เกิน 10% ในปีที่ 2” ศ.นพ.สุทธิพร กล่าว
สำหรับการดำเนินการนั้นทางศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์ได้จัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ทำการผลิตศัตรูธรรมชาติ ได้แก่ แมลงช้างปีกใส แตนเบียน ไรตัวห้ำ มวนตัวห้ำเพลี้ยไฟ มวนตัวห้ำ มวนตาโต ในการทดสอบใช้ประโยชน์ของแมลงศัตรูธรรมชาติและติดตามประเมินผลการปล่อยในพื้นที่เขต อ.พนมทวน อ.บ่อพลอย อ.ลาขวัญ และ อ.ห้วยกระเจา ใน จ.กาญจนบุรี รวมพื้นที่ 20,000 ไร่ โดยมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการจำนวน 200 คน
หลังดำเนินโครงการไปแล้ว 1 ปี รศ.ดร.วิวัฒน์ เผยว่า แมลงช้างปีกใสสามารถลดการระบาดของเพลี้ยแป้งได้ โดยในพื้นที่ทำวิจัยและทดลองนั้นมีปริมาณเพลี้ยแป้งในมันสำปะหลังลดลง ผลผลิตเพิ่มขึ้น จนทำให้เกษตรกรยอมรับและนำองค์ความรู้ดังกล่าวไปต่อยอด ด้วยการผลิตแมลงศัตรูธรรมชาติเพื่อนำไปปล่อยในแปลงมันสำปะหลังต่อไป
นายสายัณต์ บุญสวัสดิ์ ผู้ใหญ่บ้าน ม. 8 ต.หนองโรง อ. พนมทวน บอกว่า การแพร่ระบาดเพลี้ยในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมานั้นได้สร้างความเสียหายให้กับเกษตรกรมาก ชาวบ้านจึงได้รวมกลุ่มกันตั้ง “ศูนย์ผลิตศัตรูพืช” ขึ้นมาภายในหมู่บ้าน โดยนำพ่อพันธุ์และแม่พันธุ์แมลงช้างปีกใสจากศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์ไปขยายพันธุ์ แล้วปล่อยลงแปลงมันสำปะหลังที่มีการแพร่ระบาดของเพลี้ย และขณะนี้สามารถควบคุมได้อย่างยั่งยืน ซึ่งนอกจากช่วยเพิ่มผลผลิตการเกษตรแล้ว ยังช่วยลดต้นทุนสารเคมีอีกด้วย
“ต่อไปทางชุมชนจะขยายศูนย์ผลิตศัตรูพืชเพื่อผลิตแมลงช้างปีกใสให้มากยิ่งขึ้น แล้วจะนำไปให้แก่เกษตรกรหมู่บ้านใกล้เคียงด้วย เพราะว่าหากชุมชนใกล้เคียงยังมีเพลี้ยแป้งแพร่ระบาดอยู่ เพลี้ยแป้งเหล่านั้นก็จะกระจายมาสู่ต้นมันสำปะหลังต้นอื่นและแปลงใกล้เคียงได้ นอกจากนั้นจะนำเทคโนโลยีการผลิตศัตรูพืชขยายผลไปยังชุมชนอื่นต่อไป” นายสายัณต์
ทั้งนี้ รศ.ดร.วิวัฒน์ ได้เผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ปริมาณการปล่อยแมลงช้างปีกใสลงไร่มันสำปะหลังนั้นขึ้นอยู่กับการแพร่ระบาดของเพลี้ยแป้ง แต่โดยเฉลี่ยแล้วประมาณ 100-200 ตัว ต่อไร่ ปล่อยทุก 2 สัปดาห์ และใช้เวลาประมาณ 3 เดือนในการควบคุม แต่หากเป็นบริเวณแคบๆ สามารถกำจัดเพลี้ยได้ในระยะเวลา 1 เดือนเท่านั้น
อย่างไรก็ดี ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากการถ่ายทอดองค์ความรู้แล้ว การให้ความรู้อย่างสม่ำเสมอและติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่องนั้น เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพื่อให้เกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังได้เรียนรู้การใช้เทคโนโลยีการควบคุมศัตรูพืชโดยชีววิธีในการผลิตมันสำปะหลังอย่างมีประสิทธิภาพ และเรียนรู้การใช้ประโยชน์จากธรรมชาติได้อย่างถูกต้อง จนทำให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้นต่อไป
สำหรับเกษตรกรผู้ปลูกมันสำปะหลังที่มีปัญหาเรื่องเพลี้ยแป้ง สามารถติดต่อ ศูนย์วิจัยควบคุมศัตรูพืชโดยชีวินทรีย์แห่งชาติ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) โทร. 02-942-8252 หรือ เว็บไซต์ www.thaibiocontrol.org