*** คำเตือน บทความนี้มีภาพประกอบที่รุนแรง ***
นับวันประชากรนกจะลดลงเรื่อยๆ บางชนิดอาจเหลือเพียงตัวสุดท้าย การเก็บรักษาตัวอย่างเพื่อใช้ในการศึกษา และการอนุรักษ์ไว้จึงมีอย่างแพร่หลาย ซึ่งการสตัฟฟ์ให้ซากนกเหมือนจริงเป็นวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้นกกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ส่วนขั้นตอนเป็นอย่างไรบ้างนั้นทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์พร้อมนำเสนอ
ขั้นตอนในการสตัฟฟ์ซากนกที่นำเสนอในครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งจากการอบรมเชิงปฏิบัติการ เรื่อง “การจัดการตัวอย่างสิ่งมีชีวิตเพื่อการศึกษา ตอน การสตัฟฟ์นกและสัตว์ปีก” จัดขึ้น ณ ห้องทดลองวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) จ. ปทุมธานี ระหว่างวันที่ 20 - 22 มิ.ย. 54 ซึ่งทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ได้ร่วมสังเกตปฏิบัติการในครั้งนี้ด้วย
ขั้นตอนหลักในการสตัฟฟ์ซากนกมี 5 ขั้นตอน ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1: เตรียมตัวอย่างก่อนการชำแหละ
- เมื่อได้นกมาแล้ว อย่างแรกที่ต้องทำคือการจดบันทึกลักษณะภายนอกของนก จากนั้นจัดท่าทางของนกลงกระดาษ และใช้ดินสอร่างภาพนกไปตามรอบลำตัว
- จากนั้นยัดสำลีเข้าไปในปากของนก เพื่อป้องกันเลือดหรือของเหลวต่างๆ ไหลออกมาจากตัวนกระหว่างเลาะหนัง
ขั้นตอนที่ 2 : ชำแหละและเลาะหนังออกจากลำตัว
- ใช้นิ้วมือค่อยๆ แยกขนกลางหน้าอกออกให้มองเห็นเนื้อ จากนั้นใช้มีดกรีดกลางหน้าอกให้หนังขาดออกจากกันเป็นแนวตรงจนเกือบถึงด้านหน้ารูทวาร ต้องระวังไม่ให้รูทวารขาด
- จากนั้นโรยแป้งระหว่างชำแหละหนังนก ซึ่งการโรยแป้งนั้นจะช่วยให้หนังไม่เหนียวติดเนื้อ และช่วยให้เลือดของสัตว์ไม่ไหลเลอะเทอะขณะทำงานด้วย
- ใช้นิ้วมือหรือด้ามมีดสอดเข้าไปในรอยแผลค่อยๆ ดันเลาะไปด้านข้างจนรอบตัว (พยายามอย่าดึงหนังเพราะจะทำให้หนังยืดหรือขาดได้) เมื่อเลาะหนังไปจนส่วนสุดท้ายของลำตัวนกแล้ว ใช้กรรไกรตัดกระดูกหางข้อแรกเพื่อแยกส่วนหางออกจากลำตัวนก แล้วเลาะขึ้นไปจนถึงส่วนปีก ให้ใช้มีดหรือกรรไกรตัดกระดูกโคนแขน หรือ ปีก เพื่อรักษาความยาวกระดูกที่ถูกต้องไว้
- จากนั้นค่อยๆ ใช้มือถลกหนังไปทางด้านหัว ดึงเนื้อส่วนคอออกมา ใช้นิ้วค่อยๆ สะกิด เลาะไปจนถึงกะโหลก เมื่อถึงส่วนตาใช้มีดกรีดขวางกลางลูกตา ต้องเลาะหนังอย่างระมัดระวังไม่ให้หนังตาขาด หลังจากนั้นตัดหัวออกจากคอ โดยตัดที่กระดูกคอข้อแรก ให้เหลือกะโหลกติดกับหนังไว้
ขั้นตอนที่ 3: วัดขนาดส่วนต่างๆ ของร่างกาย และกำจัดเนื้อเยื่อส่วนอื่นๆ
- วาดรูปร่างนกที่เลาะออกมาจากหนังลงบนกระดาษ และระบุจุดที่เป็นรอยต่อของปีกและขานกกับลำตัวเอาไว้ในภาพด้วย
- จากนั้นวัดขนาดของเส้นรอบวงของลำตัวส่วนที่กว้างที่สุด และวัดรอบคอ ทั้งนี้ ต้องวัดขนาดความยาวของคอและลำตัวด้วย โดยใช้เชือกวัดและนำมาติดกับภาพที่ร่างไว้
- ถลกหนังส่วนขาไปจนสุด วาดภาพส่วนขาไว้บนกระดาษ วัดขนาดของน่องโดยใช้เชือกพันรอบ แล้วติดไว้ที่ภาพ ในส่วนของปีกก็ทำเช่นเดียวกัน
- บันทึกสีตาของนก วัดขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตาด้วยเวอร์เนียร์ แล้วกรีดเอาลูกตาออก
- หลังจากนั้นเลาะกล้ามเนื้อขาและปีออกจากกระดูก และเลาะส่วนที่เป็นเนื้อออกจากลำตัว และดึงเอามันสมองออกให้เหลือแต่หัวกะโหลกไว้
ขั้นตอนที่ 4: รักษาสภาพหนัง
- ล้างหนังที่ได้จากการเลาะเนื้อออกแล้วด้วยน้ำยาล้างจานผสมน้ำ เพื่อกำจัดไขมันออกและล้างน้ำอีกครั้ง หลังจากนั้นนำหนังไปแช่ในสารละลายอีราน สปา 10 (Eulan spa 10) ที่มีความเข้มข้น 2 % โดยปริมาตรใช้เวลาประมาณ 40-45 นาที สารละลายดังกล่าวจะช่วยทำให้แมลงไม่กัดกินทำลายหนัง เมื่อครบเวลายกหนังขึ้นมาบีบน้ำพอหมาด ห่อด้วยผ้าขาวบางแล้วนำไปปั่นแห้ง หลังจากนั้นจึงเป่าด้วยเครื่องเป่าผมจนขนนกแห้งสนิท
-ใช้พู่กันจุ่มเอทานอล ทาหนังด้านในให้ทั่ว รวมไปถึงกระดูกและปาก และฉีดเอทานอลเข้าไปที่น่องขา ปลายปีก และปาก เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเน่า ซึ่งเอทานอลจะช่วยให้หนังนกไม่นิ่มเกินไป
ขั้นตอนที่ 5 : ปั้นหุ่นนก
- ในขั้นตอนนี้ใช้เยื่อไผ่ทำเป็นหุ่นนก โดนขั้นแรกต้องพรมเยื่อไผ่ให้ชื้นด้วยน้ำ แต่ไม่เปียกชุ่มนำมาขยำให้เป็นก้อนให้ได้ขนาดของลำตัวตามที่วาดไว้ จากนั้นมัดด้วยเชือกป่านให้แน่นจนได้เป็นรูปทรงตามตัวนก
- เมื่อได้ลำตัวนกแล้ว จากนั้นตัดลวดมาทำเป็นแกนคอ เมื่อได้แกนคอตามต้องการแล้ว จากนั้นจึงนำลวดขนาดเล็กสุดมาพันรอบลวดและพันด้วยกระดาษชำระเพื่อใช้แทนเป็นเนื้อส่วนคอ แล้วใช้เชือกพันให้แน่น และใช้มือดัดคอให้เป็นรูปตัวเอส (S) ตามลักษณะของคอนก
- ส่วนขา ห้แทงลวดเข้าที่ฝ่าเท้า แล้วตัดตามกระดูกขาของนก จากนั้นจึงพันกระดาษชำระรอบกระดูกขาและลวด มัดด้วยเชือกเมื่อได้ตามขนาดที่วาดไว้แล้ว จากนั้นกลับหนังมาหุ้มไว้ ทำเหมือนกันทั้งสองข้าง
- ส่วนปีกให้สอดลวดจากฝั่งด้านในปีกไปที่ปลายปีก งอลวดตามแนวกระดูก มัดลวดติดกับกระดูกปีก เหลือปลายลวดไว้เพื่อใช้ยึดกับลำตัว พันกระดาษชำระรอบต้นแขนกระดูกปีก มัดด้วยเชือกให้ได้ขนาดตามที่วัดไว้ จากนั้นยัดสำลีในช่องระหว่างกระดูกปลายปีก แล้วกลับหนังมาคลุมไว้
ขั้นตอนที่ 6: ยึดส่วนต่างๆ เข้ากับลำตัวและจัดระเบียบ
เมื่ออวัยวะและกล้ามเนื้อต่างๆ ถูกสร้างขึ้นจากวัสดุแล้ว ส่วนต่างๆ จะต้องถูกติดไว้กับลำตัวในจุดที่ถูกต้อง และต้องจัดตำแหน่งและท่าทางให้เป็นไปตามธรรมชาติของนก
- ขั้นตตอนนี้ต้องยัดกะโหลกเข้ากับหุ่น ทำโดยยัดเยื่อไม้แทนที่สมอง จากนั้นจึงแทงลวดที่ยึดติดกับตัวหุ่นเข้าทางช่องไขสันหลัง แล้วหักปลายลวดแทงกลับเข้าไปในกะโหลก
- จากนั้นต้องตกแต่งส่วนหัวด้วยการใส่ดินเหนียวเข้าไปในบริเวณเบ้าตาและพอกดินเหนียวบริเวณกะโหลกบางๆ ปิดทับด้วยกระดาษชำระ และนำตาใส่เข้าไปในตำแหน่ง จากนั้นจึงดึงหนังกลับมาปิดส่วนหัว
- ขั้นต่อไปคือการยึดปีกเข้ากับลำตัว ด้วยการแทงลวดที่ยึดปีกอยู่ให้ทะลุอีกด้านของลำตัว แล้วงอลวดให้เข้ากับลำตัวทำทั้งสองข้าง จากนั้นแทงลวดจากปลายหางทะลุเข้าไปในลำตัว เพื่อยึดส่วนหางนกติดกับตัวนก
- หลังจากนั้นเสริมรูปร่างโดยใช้สำลี แล้วเย็บจากด้านก้นไปด้านหัว จากนั้นจึงจัดท่าทางและขนให้เป็นไปตามลักษณะของตัวนก
- เมื่อได้ตัวนกแล้ว ต้องยึดตัวนกไว้กับแท่นไม้ จากนั้นจึงเสริมแก้มด้วยสำลีและยึดส่วนต่างๆ ด้วยเข็มหมุดกระดาษ และด้าย เพื่อยึดขนนกและป้องกันไม่ให้เปลี่ยนรูป ทิ้งไว้ 2 สัปดาห์ แล้วเอาด้ายกับเข็มหมุดออก ก็จะได้นกที่เสร็จสมบูรณ์
อย่างไรก็ดี ระหว่างการอบรม ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการ อพวช. ได้กล่าวต้อนรับผู้เข้าอบรมทั้งหมด 14 คน ซึ่งเป็นอาจารย์วิทยาศาสตร์และชีววิทยาจากทั่วประเทศ และเผยกับทีมข่าววิทยาศาสตร์ว่า ขณะนี้ทาง อพวช. มีนโยบายรักษาซากสิ่งมีชีวิตไว้ศึกษา ทั้งด้านอนุกรมวิธาน และสภาพแวดล้อมของสิ่งมีชีวิตนั้นๆ จึงได้จัดอบรมครั้งนี้เพื่อให้องค์ความรู้กระจายไปสู่โรงเรียน ชุมชน
“เมื่อคนในชุมชนเจอซากสัตว์ใกล้สูญพันธุ์หรือสัตว์หายาก องค์ความรู้เหล่านี้จะทำให้สิ่งมีชีวิตที่ตายไปแล้วกลับมามีชีวิตอีกครั้ง นอกจากนี้เพื่อสร้างเป็นฐานข้อมูลที่ดีต่อไปด้วย การเผยแพร่องค์ความรู้ครั้งนี้ เราไม่มีนโยบายให้ล่าสัตว์ แต่สัตว์ที่นำมาสตัฟฟ์ให้มีชีวิตเหมือนจริงนั้นต้องเป็นสัตว์ที่ตายโดยธรรมชาติ พร้อมกันนี้ อพวช.ยังร่วมมือกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และองค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์เพื่อนำซากสัตว์ต่างๆ มารักษาสภาพให้เหมือนจริงต่อไป" ดร. พิชัยกล่าว
*** คำเตือน ด้านล่างเป็นภาพประกอบที่รุนแรง ***
เลื่อนลงข้างล่างเพื่อชมภาพประกอบ
v
v
v