xs
xsm
sm
md
lg

“บ้านดิน” ทางเลือกของคน (อยาก) มีบ้าน “ราคาถูก”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บ้านดิน อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ
 
ราคาบ้านในสมัยนี้แพงติดปีก ใครจะคิดสร้างบ้านเองก็ต้องมานั่งคำนวณงบประมาณกันให้วุ่นวาย ค่าวัสดุอุปกรณ์แต่ละอย่างก็แสนแพงประกอบกับงบประมาณที่มีอยู่ก็จำกัด ทำงานมาหลาย 10 ปี สร้างบ้านหลังเดียวเงินหมดตัว หลายคนคงไม่อยากตกอยู่ในสภาพนี้ M-livingจึงมีทางเลือกใหม่สำหรับคนทุนต่ำ “บ้านดิน” สวรรค์ของคนอยากมีบ้าน หลีกเลี่ยงการลงทุนสร้างบ้านราคาสูง โดยนำทรัพยากรรอบตัวเรามาเปลี่ยนเป็นบ้านกันดีกว่า

สุรัช สะราคำ หัวหน้าศูนย์เรียนรู้บ้านดินไทย ซึ่งเป็นตัวแทนเครือข่ายบ้านดินไทยทำภารกิจร่วมกับกลุ่มอาสาสมัครช่วยเหลือสังคม ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกุฏิพระ สร้างห้องสมุด สร้างอาคาร บ้านเรือนต่างๆ ซึ่งปัจจุบันกลุ่มบ้านดินไทยอยู่ที่จังหวัดชัยภูมิแต่มีศูนย์ประสานงานอยู่ในกรุงเทพฯ

“กลุ่มบ้านดินไทยเริ่มแรกเป็นเพียงกลุ่มคนไม่กี่คน ย้ายขึ้นไปทำกิจกรรมที่จังหวัดชัยภูมิ และมีปัญหาเรื่องค่าใช้จ่ายในการลงหลักปักฐานที่จะสร้างอาคารใหม่ๆ เนื่องจากวัสดุมันแพงมาก จึงมองว่าน่าจะมีอะไรที่ไม่แพงมาก และช่วงนั้นก็เป็นช่วงเดียวกันกับที่มีบ้านดินเข้ามาในเมืองไทยปีแรก คือเมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว

ปรากฏว่าพอได้ทำบ้านตัวเองด้วยวิธีการทำบ้านดินแล้ว มันลดต้นทุนได้เยอะ คือสมมติถ้าเป็นบ้านปูน ราคาตกอยู่ที่ 100,000 บาท ส่วนบ้านดินเราจะอยู่ประมาณ 30,000-40,000 บาท เพราะว่าเราไปลงแรงทำบ้านช่วยกัน ดังนั้น ต้นทุนจึงถูกมาก จึงสามารถเซฟค่าใช้จ่ายได้เยอะ จากนั้นเราเลยมาคุยในกลุ่มว่าคนจนก็สามารถมีบ้านดินที่มีราคาถูกได้ เพียงแต่ว่าเราต้องดึงสิ่งที่มีอยู่ในตัวเขาออกมาให้ได้ นั่นก็คือความร่วมมือ แรงงานที่มีอยู่เหลือเฟือ และทรัพยากรที่มีอยู่ซึ่งถูกมาก เราจึงมีโครงการไปช่วยชาวบ้านแถวนั้น”
 

ความพิเศษของบ้านดิน
จากความต้องการช่วยเหลือชาวบ้านยากจน จึงเป็นจุดเริ่มต้นโครงการสร้างบ้านดินให้คนไร้บ้าน “จุดเริ่มของโครงการเพื่อช่วยเหลือคนที่ไม่มีบ้าน หรือคนที่มีบ้านเป็นกระต๊อบเล็กๆ ซึ่งในปีแรก ได้จัดสร้างจำนวน 12 หลัง เราให้ทุน 10,000 บาท/หลัง เพื่อให้ชาวบ้านนำไปซื้อปูน กระเบื้องมุงหลังคา หรือวัสดุต่างๆที่เขาไม่สามารถหาในท้องถิ่นได้ โดยใช้เวลาสร้างบ้าน 1 หลัง ภายในเวลา 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งมีขนาดพื้นที่สร้างบ้าน ประมาณ 4x7เมตร โดยใช้ก้อนดินประมาณ 1,400 ก้อน”

ลักษณะพิเศษบ้านดินที่มีความแตกต่างจากบ้านไม้และบ้านปูนทั่วไป ได้แก่ ใครก็ได้ที่สร้าง ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ คนแก่ โดยที่ไม่ต้องจ้างช่างก่อสร้าง และดินเป็นลักษณะของคุณสมบัติตามธรรมชาติที่พิเศษ สามารถป้องกันความร้อนและความหนาวเย็นได้ เวลาหน้าหนาว พอปิดประตูหน้าต่างแล้ว ความหนาวจากด้านนอกตัวบ้านไม่สามารถผ่านผนังเข้ามาภายในตัวบ้านได้ และความร้อนจากด้านนอกก็เช่นเดียวกันไม่สามารถผ่านผนังดินเข้าไปด้านในได้ ดังนั้นความเป็นฉนวนของตัวมันเองที่เกิดจากดิน จึงทำให้บ้านเย็นอยู่ตลอดเวลา ซึ่งต่างจากบ้านปูน พอเวลาผนังบ้านโดนแดดจากฝั่งหนึ่งความร้อนจะแผ่เข้ามายังอีกฝั่งหนึ่ง ทำให้บ้านร้อนขึ้นได้

“บ้านดิน ต้องเริ่มจากดินดี” บ้านดินเป็นระบบผนังรับแรง คือใช้ตัวดินเป็นตัวรับแรง ซึ่งต่างจากบ้านไม้และบ้านปูนที่เป็นระบบเสารับแรง เพราะฉะนั้นดินเป็นองค์ประกอบสำคัญที่สุดในการสร้างบ้านดิน ซึ่งดินที่สามารถทำบ้านดินได้ดีที่สุดคือ ดินร่วนปนทราย ส่วนใหญ่จังหวัดที่หาดินชนิดนี้ได้จะอยู่ภาคอีสาน โดยเฉพาะจังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ และขอนแก่น ซึ่งในภาคอื่นๆ ของไทยก็สามารถหาได้เช่นเดียวกันแต่อาจไม่มากนัก

เทคนิคการเลือกดินใช้งานอย่างง่ายๆ
1. ใช้จอบขุดดิน ดินที่ดีต้องขุดง่าย ไม่ต้องออกแรงมาก
2. เทน้ำใส่ดิน ดินที่ดีต้องละลายน้ำได้เร็ว ภายใน 1-2 นาที
3. ปั้นดูว่าเป็นก้อนไหม หากปั้นเป็นก้อนได้แสดงว่าใช้ได้
4. ตากแดด หากตากแดดแล้วแห้งแข็ง ไม่เปราะหักง่าย แสดงว่าใช้ได้ดี และดินที่ดีต้องมีคุณสมบัติครบ ทั้ง 4 ข้อ ห้ามขาดข้อใดข้อหนึ่ง

หลายคนอาจเข้าใจว่าดินเหนียวสามารถสร้างบ้านดินได้ดีที่สุด แต่ด้วยคุณสมบัติอย่างหนึ่งของดินเหนียวเมื่อแห้งแล้วเนื้อดินจะแตกหัก ลอกร่อนง่ายในขณะที่สร้างบ้านดิน ดังนั้นการใช้ดินร่วนปนทรายจึงง่ายกว่า เพราะเมื่อฉาบไปแล้วเนื้อดินจะอยู่คงสภาพเดิม จึงทำให้แข็งแรงและทนทานมากกว่า

สิ่งที่พิเศษสุด คือบ้านดินมีอายุการใช้งานในต่างประเทศเป็น 1,000 ปีเลยทีเดียว แต่สำหรับในไทยแล้ว บ้านดินที่สร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 ยังคงมีอยู่ ถ้าคิดเฉลี่ยระยะเวลาคงทน สามารถอยู่ได้นานถึง 100-200 ปี กลายเป็นความมหัศจรรย์ที่ธรรมชาติสร้างสรรค์เลยจริงๆ ซึ่งอายุการใช้งานจะอยู่ได้นานหรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับการดูแลรักษา

“ดิน มันอยู่ได้นานด้วยตัวมันเองอยู่แล้ว เมื่อเรามาทำเป็นก้อนก็ยังอยู่ได้นาน ยกเว้นการเกิดแผ่นดินไหว น้ำท่วม ก็จะทำให้บ้านดินพัง เวลาหมดอายุการใช้งานในดินจึงไม่มี ไม่ต้องทุบเหมือนบ้านปูนที่มีวันเสื่อมสภาพลง แต่ถ้ามีการเซาะกร่อนจากแรงลม แรงฝน ก็สามารถฉาบดินซ่อมแซมเพิ่มเติมได้ (10 ปี/ครั้ง)”
 

วิธีสร้างบ้านดินราคาถูก
ขั้นตอนในการก่อสร้างบ้านดิน อาจจะแตกต่างจากการก่อสร้างบ้านทั่วไป เนื่องจากบ้านดินไม่มีระบบโครงสร้าง บ้านดินใช้ระบบผนังรับแรงหรือกำแพงรับน้ำหนักนั่นเอง เพื่อให้การดำเนินการก่อสร้างกระชับและทำได้รวดเร็ว การก่อสร้างบ้านดินสามารถทำได้ตามขั้นตอนดังนี้

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมพื้นที่สำหรับปลูกบ้าน
พื้นที่สำหรับทำบ้านดิน ควรเป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมไม่ถึง ไม่ใช่ทางน้ำไหลบ่า หากเป็นพื้นที่ถมดินใหม่ควรถมทิ้งไว้ประมาณ 1 ปี หรือผ่านช่วงฤดูฝนสัก 1 ครั้ง
ขั้นตอนที่ 2 การย่ำดิน
เริ่มจากการขุดดินให้ร่วน ผสมแกลบหรือฟาง (หรือวัสดุใกล้เคียงที่หาได้ในพื้นที่) ลงไปอัตราส่วน 1: 1 ย่ำดินให้เข้ากัน สังเกตว่าดินที่เหยียบจะไม่ติดเท้าขึ้นมาและเห็นเป็นรอยเท้าบนเนื้อดินถือว่าดินได้ที่แล้ว
ขั้นตอนที่ 3 การทำก้อนอิฐดิน
เมื่อย่ำดินได้ที่ จากนั้นนำมาเทใส่แบบพิมพ์ไม้ ขนาด 8x16x3นิ้ว ปาดหน้าให้เรียบและยกพิมพ์ขึ้น ดินจะไม่ติดพิมพ์ในกรณีที่แดดดี การตากก้อนอิฐดินใช้เวลาประมาณ 5-7 วัน เมื่อตากได้ประมาณ 2-3 วัน ให้พลิกก้อนอิฐดินขึ้นตั้งทางด้านแนวนอน เมื่อแห้งแล้วจะมีน้ำหนัก8 กก./ก้อน ควรคำนวณว่าบ้านหลังหนึ่งใช้ก้อนดินจำนวนเท่าไหร่ โดยใช้อัตราส่วน1 ตรม. ของผนังใช้ 35 ก้อน ซึ่งขึ้นอยู่กับขนาดของพื้นที่บ้าน
ขั้นตอนที่ 4 การก่อกำแพงบ้าน
ช่วงแรกของการก่อกำแพงบ้านจะเร็ว หากก่อขึ้นสูงการทำงานอาจจะช้าลงเพราะต้องส่งก้อนอิฐดินขึ้นสูง ช่วงนี้อาจติดตั้งวงกบประตูหน้าต่างได้ หรืออาจจะเว้นช่องเอาไว้ติดตั้งในช่วงฉาบ แรงงาน 3 คนสามารถก่ออิฐดินได้วันละ 300 - 500 ก้อน
ขั้นตอนที่ 5การฉาบกำแพงบ้าน
ก่อนฉาบบ้าน ควรทำท่อน้ำดี น้ำเสีย ท่อส้วมให้เรียบร้อยก่อน เพราะจะทำให้ไม่ต้องเสียเวลาเจาะกำแพงหลังจากที่ฉาบเสร็จ และควรฉาบกำแพงบ้าน ก่อนที่จะขึ้นโครงสร้างหลังคา เพราะหลังจากที่ฉาบเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะทำให้กำแพงบ้านมีความแข็งแรงมากขึ้น และยังช่วยให้แดดส่องกำแพงบ้านได้เต็มที่จึงช่วยให้ดินที่ฉาบแห้งเร็วขึ้น
ขั้นตอนที่ 6 การทำหลังคา
เริ่มจากทำโครงสร้างหลังคาจะมีส่วนที่เชื่อมโยงกับกำแพงบ้าน อาจจะทำโครงสร้างหลังคาไปพร้อมกับงานฉาบได้ จากนั้นจึงมุงหลังคาบ้าน ควรมุงหลังจากที่กำแพงบ้านแห้งสนิทดีแล้วจะช่วยให้การดำเนินการเร็วขึ้น หลังจากมุงหลังคาบ้านเสร็จสิ้น ดำเนินการทำโครงสร้างเพดานและติดตั้งเพดานให้เสร็จสิ้น รวมทั้งทาสีเรียบให้เรียบร้อยจะช่วยให้ไม่ต้องย้ายนั่งร้านหลายครั้ง
ขั้นตอนที่ 7 การฉาบสี
หลังจากทำเพดานบ้านเสร็จสิ้น เริ่มต้นทาสีกำแพงบ้าน ควรเริ่มด้านในบ้านก่อนเพราะภายในบ้านจะได้รับแสงแดดน้อย และอากาศถ่ายเทได้ไม่ดีเท่าบริเวณนอกบ้าน จะทำให้สีแห้งช้า เมื่อฉาบสีด้านในบ้านเสร็จเรียบร้อย อาจจะเก็บรายละเอียดบริเวณขอบประตูหน้าต่างอีกครั้งแล้วทำการฉาบสีพื้นบ้านหรือปูกระเบื้องตามต้องการ
ขั้นตอนที่ 8 การเก็บรายละเอียดงาน
หลังจากฉาบสีและเทพื้นเสร็จเรียบร้อยแล้วจึงทำการติดประตูหน้าต่างและทาสี ควรหากระดาษหรือผ้ายางรองพื้นกันสีตกลงพื้น ขั้นตอนสุดท้ายเป็นการติดตั้งระบบไฟฟ้าและสุขภัณฑ์ต่างๆ

ข้อแนะนำในส่วนของหลังคาบ้านดิน สามารถใช้หลังคาเหมือนกับบ้านปูนได้ ไม่ว่าจะเป็นหลังคากระเบื้อง หญ้าฟาง ใบจาก แต่ไม่แนะนำให้มุงหลังคาสังกะสีเพราะมันร้อน แม้กระทั่งการนำดินมาทำหลังคาบ้านก็ทำได้เช่นเดียวกัน จริงๆ แล้วมีต้นทุนที่ถูกมาก แต่ต้องใช้จำนวนคนค่อนข้างเยอะในการทำหลังคา ถ้าเทียบกันในเรื่องต้นทุนแล้ว หลังคากระเบื้องอาจตกอยู่ที่ 20,000-30,000 บาท/หลัง แต่หลังคาดิน ราคาเพียง 5,000 บาท/หลัง แต่ยังไม่รวมค่าแรง ถึงอย่างไรก็ตามหลังคาดินสามารถลดต้นทุนได้มากกว่าหลังคากระเบื้องแน่นอน ในขณะที่กระเบื้องตกราคาแผ่นละ 70 บาท แต่หลังคาดินไม่มีราคาตรงนั้น

สามารถดูรายละเอียดการสร้างบ้านดินเพิ่มเติม ได้ที่บ้านดินไทย ดอทคอม www.baandinthai.com 
 

ร่วมด้วยช่วยกันลดต้นทุนค่าแรง
บ้านดินสามารถสร้างได้ในทุกระดับชนชั้น ไม่ว่าจะร่ำรวยหรือยากจน เนื่องจากมีต้นทุนทางด้านทรัพยากรไม่สูงมาก เพราะหลักๆ บ้านดินจะใช้ดินเป็นองค์ประกอบสำคัญในการสร้างบ้าน ทั้งนี้ไม่รวมต้นทุนเรื่องค่าแรง เพราะการทำบ้านดินง่ายๆ อาศัยคนในครอบครัวมาช่วยกันคนละไม้คนละมือ ใช้เวลาไม่นานบ้านก็จะเสร็จได้ด้วยความร่วมมือของทุกคนในบ้าน

“จริงๆ แล้วบ้านดินในเชิงพาณิชย์มีคนทำแล้วนะ แต่ประสบปัญหาในเรื่องการขาดทุน เนื่องจากว่า ต้นทุนบ้านดินหลักๆ แล้วจะอยู่ในเรื่องค่าแรง คิดเป็น 60-70% ดังนั้นการที่จะไปสู้กับอุตสาหกรรมค่อนข้างยาก เพราะมันเป็นแฮนด์เมกคือใช้คนทำทั้งหมดทุกกระบวนการ โดยไม่มีสิ่งของใดที่มาจากอุตสาหกรรมเลย ก้อนดินที่ใช้ต้องทำด้วยมือเป็นก้อน เป็นก้อน ดังนั้นกว่าที่จะมาเป็นบ้านดินจึงต้องใช้เวลานาน การทำในเชิงพาณิชย์จึงยังสู้ระบบอุตสาหกรรมไม่ได้”

จะเห็นได้ว่าต้นทุนของบ้านดินหลักๆ จะมาจากแรงงานคนโดยเฉพาะ ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานที่ทำบ้านดินน้อยเมื่อเทียบกับความต้องการทำบ้านของคนทั่วไปมากขึ้นกว่าเดิม เมื่อความต้องการมากแต่แรงงานน้อยจึงมีการโก่งค่าแรงถ้าคิดกันในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นถ้าไม่คิดต้นทุนเรื่องค่าแรงงานจะมีราคาที่ถูกกว่าบ้านทั่วไป แต่เมื่อรวมค่าแรงมาเป็นหนึ่งในเงินลงทุนแล้ว จึงทำให้ราคาไม่ต่างกันหรือบางครั้งอาจสูงกว่าเดิมด้วยซ้ำ

การสร้างบ้านดินในกรุงเทพฯ ถึงแม้จะมีแรงงานมากพอและไม่คิดรวมเป็นต้นทุนในเรื่องแรงงาน แต่อย่าลืมไปว่าปัจจัยหนึ่งที่สำคัญไม่แพ้กับเรื่องแรงงาน ก็คือการลงทุนในระบบการขนส่ง เนื่องจากต้องขนดินจากต่างจังหวัดเข้ามา ในขณะที่ต่างจังหวัดขุดดินข้างๆ บ้านก็มาทำเป็นบ้านดินได้แล้ว แต่การสร้างบ้านดินในกรุงเทพฯ ต้องขุดดินจากต่างจังหวัดและขนเข้ามาอีก จึงทำให้การสร้างบ้านหลังหนึ่งมีราคาสูงกว่าในต่างจังหวัดเกือบเท่าตัว

“การลงทุนเรื่องค่าขนส่งเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่แพงมาก มีการคำนวณค่าใช้จ่าย รถคันหนึ่งขนก้อนดินได้ 1,000 ก้อน ประมาณ 12,000 บาท เพราะฉะนั้นการสร้างบ้านดินในกรุงเทพฯ จึงแพงที่ค่าใช้จ่ายตรงส่วนนี้

สำหรับผู้ที่ไม่มีทรัพยากรใดเลยในการสร้างบ้านดิน และจำเป็นต้องซื้ออุปกรณ์ใหม่ทั้งหมด การสร้างบ้านดินก็อาจจะแพงหน่อย ประมาณ 50,000-70,000 บาท/หลัง ซึ่งราคานี้ยังไม่รวมค่าแรง ตอนนี้ราคาในเรื่องค่าวัสดุก่อสร้างแพงมากๆ อย่างไม้หน้าสามราคาสูงขึ้นกว่าเดิมเกือบเท่าตัว

ตอนนี้มีแนวโน้มของผู้ที่สนใจทำบ้านดินเยอะขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่อุปสรรคมีอยู่ในเรื่องเวลา คือการทำงานประจำและว่างในวันเสาร์-อาทิตย์ เพราะฉะนั้นจึงไม่มีเวลาที่จะมาทำเองและต้องจ้างแรงงานทำ ดังนั้นจึงเป็นระบบอุตสาหกรรมไป มันก็จะแพง”

การลดต้นทุนง่ายๆ ในเรื่องค่าแรง ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในครอบครัว โดยการช่วยกันทำก้อนดิน อาจไม่ต้องมาก วันละ10-20 ก้อน เพียงเวลาแค่ 1-2 ชั่วโมง/วัน ประมาณ 1-2 เดือน จะได้ก้อนดิน 1,500 ก้อน และจากนั้นก็รวบรวมญาติสนิท มิตรสหายมาช่วยกันก่อ ไม่เกิน 2 วัน บ้านก็เสร็จเรียบร้อย แค่นี้เราก็จะได้บ้านราคาถูกเพียง 30,000-40,000 บาทเท่านั้น และประหยัดต้นทุนกว่าบ้านทั่วไปถึง 40%



ข้อคิด...ชวนรู้
การทำโครงเหล็กยึดเป็นโครงของตัวบ้าน กลับไม่ได้สร้างความมั่นคงแข็งแรงมากขึ้น เนื่องจากว่าโครงเหล็กจะเป็นตัวกั้นแรงยึดเหนี่ยวของดินที่ก่อเป็นผนังดิน เมื่อก้อนดินผนึกสานรวมกันเป็นปึกแผ่นใหญ่แล้วก็ยิ่งทำให้มีความยึดเหนี่ยวกันมากขึ้น ฉะนั้นเมื่อมีสิ่งใดมากั้นระหว่างก้อนอิฐดินก็จะทำให้ผนังแตกพังง่ายกว่าเดิม
 
 
 
 
 
 
 
 
 

ภาพโดย วรวิทย์ พานิชนันท์
ขอบคุณภาพจากบ้านดินไทย ดอท คอม
รูปทรงบ้านดินในแบบต่างๆ


กุฏิเจ้าอาวาสวัดภูเขาทอง เป็นบ้านดินชนิดหลังคาดิน
ฝีมือตกแต่งภายในบ้านดิน ของ เมคา บันช์ นักสร้างบ้านดิน
การตกแต่งภายในบ้านดิน
ย่ำดินให้เข้ากัน
ทำก้อนอิฐดินโดยใช้แบบพิมพ์
ก่อกำแพงดิน
สุรัช   สะราคำ
กำลังโหลดความคิดเห็น