ภาพสนามหลวงที่อวดโฉมให้เห็นกันใหม่ล่าสุดอย่างเป็นทางการ ก็วันพืชมงคล (13 พฤษภาคม 2554) ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นภาพที่หลังจากสนามหลวงได้ปิดปรับปรุงไปเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553
ระยะเวลาร่วมเกือบ 1 ปีที่สนามหลวงพักผ่อน งดต้อนรับคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน และนกพิราบ เพื่อที่จะฟื้นฟู ปรับปรุงภูมิทัศน์แห่งนี้ให้มีรูปโฉมใหม่ไฉไลกว่าเก่า
หลังจากชุบตัวประแป้งแต่งหน้าใหม่ เร็วๆ นี้ ทางกรุงเทพมหานครก็พร้อมที่จะเปิด “สนามหลวง” อย่างเป็นทางการให้ประชาชนชาวไทยได้ยลโฉมกันเสียที
แต่มากลับมาครั้งนี้ไม่เหมือนเมื่อก่อน เพราะสนามหลวงได้เปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
มิติใหม่สนามหลวง
ทำบุญเอาฤกษ์เอาชัยกันไปแล้วเมื่อต้นเดือนพฤษภาคม 2554 ด้วยพิธีการตักบาตรพระสงฆ์ 229 รูป และพิธีบวงสรวงพระสยามเทวาธิราช และสมเด็จพระบูรพมหากษัติยาธิราชเจ้าเพื่อความสิริมงคลให้แก่สนามหลวง
พร้อมเปิดตัวใหม่อย่างเป็นทางการในเดือนมิถุนายน 2554 ที่จะถึงนี้ ซึ่งการเปิดสนามหลวงครั้งนี้ (หลังจากมีรั้วกั้นมานาน) จะมาพร้อมด้วยการกำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้พื้นที่สนามหลวงอย่างเหมาะสม จะมีการร่วมหารือกับกรมศิลปากรในการออกระเบียบต่างๆ โดยจะขึ้นทะเบียนสนามหลวงเป็นโบราณสถาน และหากมีผู้บุกรุกจะมีโทษจำคุก 10 ปี ปรับ 1 ล้านบาท
ณ ตอนนี้ ทางกรุงเทพมหานครได้ดำเนินการติดตั้งรั้วชั่วคราวเพื่อป้องกันผู้บุกรุก และตั้งศูนย์อำนวยการชั่วคราวและหอกระจายเสียง รวมถึงติดตั้งกล้องวงจรปิดรอบๆ พื้นที่ ไม่เพียงเท่านั้นยังเพิ่มเจ้าหน้าที่ดูแลรักษาความปลอดภัยในช่วงกลางคืน เพราะต่อไปสนามหลวงจะมีเวลาเปิด-ปิด คือ 05.00 - 22.00 น.
ดร. ธีระชน มโนมัยพิบูลย์ รองผู้ว่ากรุงเทพมหานคร กล่าวถึงมิติใหม่ของสนามหลวงที่ตอนนี้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแห่งล่าสุดของประเทศไทยว่า ภาพสนามหลวงวันนี้ต่างจากเดิมมาก ทั้งเรื่องการฟื้นฟูสถานที่ การหาทางออกแก่ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุง เช่น การห้ามนำรถเข้ามาจอด การขนย้ายนกพิราบ ดูแลคนที่เข้ามาค้าขายโดยจัดพื้นที่ให้แถวคลองหลอด แม้กระทั่งพยายามเยียวยากลุ่มคนเร่ร่อน ฯลฯ
“จะเห็นว่ามันสะอาดสะอ้านขึ้นเยอะ ปรับพื้นที่ เป็นสนามหญ้าทั้งหมดจากเดิมบริเวณทิศเหนือจากเดิมที่เป็นบล็อกตัวหนอนสำหรับจอดรถ มีการติดตั้งระบบระบายน้ำเพื่อทำให้น้ำไม่ท่วมเฉอะแฉะ และยังมีการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อนำน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยามาเป็นสปริงเกอร์ฉีดรดต้นให้เขียวชอุ่มตลอด ถนนโดยรอบต้นมะขามก็มีการปูกระเบื้องใหม่หมด ซึ่งทำให้ผู้ที่เข้ามาเดินหรือทำกิจกรรมต่างๆ สะดวกขึ้นและมีการวางม้านั่งริมทาง และวางหอกระจายเสียงด้วย”
สำหรับในเวลากลางวันทุกคนยังคงเห็นสนามหลวงที่เปิดโล่งและมีทัศนียภาพที่งดงามกว่าเดิม พร้อมทั้งเข้ามาพักผ่อนหย่อนใจบน Open Space ที่ใหญ่ถึง 73 ไร่ ได้ตามอัธยาศัย
ส่วนถนนผ่ากลางก็กว้างขวางขึ้นจากเดิม 12 เมตร เป็น 24 เมตร เปิดให้สัญจรไปมาระหว่างฝั่งศาลฎีกาและท่าพระจันทร์นั้น ซึ่งส่วนนี้ เปิด 24 ชั่วโมง มีการติดตั้งกล้องวงจรปิดถึง 42 ตัวเพื่อดูแลความปลอดภัยของประชาชน และมีรั้วชั่วคราวซึ่งจะถอยร่นขึ้นไปจากฟุตบาธประมาณ 2.50 เมตร โดยที่เสาจะติดตั้งหลังต้นมะขามเป็นรั้วแบบพับได้ไว้สำหรับปิดล้อมในเวลากลางคืน
นอกจากนี้ยังมีการจ้างยาม ทั้งในส่วนของทหารผ่านศึก และเจ้าหน้าที่เทศกิจ ประมาณ 100 อัตรา เพื่อดูแลความเป็นระเบียบเรียบร้อย
ดร. ธีระชน กล่าวย้ำว่า ในช่วงแรกจะตรึงความเข้มงวดตรงนี้ไว้เพื่อให้ทุกคนช่วยกันดูแลพื้นที่สาธารณะและยอมรับระเบียบต่างๆ ที่จะเพิ่มเข้ามาให้ได้ก่อน
“กฎระเบียบอยู่ระหว่างการยกร่างฯ ของสำนักสิ่งแวดล้อม และสำนักงานเขตพระนครก็เตรียมประกาศยกร่างฯ เบื้องต้นคงจะเป็นการใช้ในพระราชพิธีและรัฐพิธี กิจกรรมทางวัฒนธรรม เช่น เล่นว่าวจุฬาว่าวปักเป้า, เทศกาลสงกรานต์ ฯลฯ ซึ่งปลายปีนี้ก็มีแผนการว่าจะจัดพิธีตักบาตรพระกว่า 25,588 รูปด้วยก็จะเป็นงานที่ใหญ่ที่สุดที่เคยมีมา”
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการทั้งหมดนั้นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่าย ครั้นจะปล่อยให้กรุงเทพมหานครทำเพียงลำพังก็คงไม่สำเร็จแน่นอน
มองสนามหลวงในอดีต
“สนามหลวงนั้นมีมาพร้อมกับการสร้างกรุง เป็นสนามหน้าพระที่นั่ง เป็นที่รวมคน ในรัชกาลที่ 1, 2, 3, 4 จะมีขนาดเพียงครึ่งเดียวของปัจจุบัน คือส่วนฝั่งธรรมศาสตร์นั้นจะเป็นพื้นที่ของวังหน้า ซึ่งเขาก็ใช้จัดงานพระเมรุกัน แต่ต่อมารัชกาลที่ 5 ก็ยกเลิกตำแหน่งวังหน้าและรื้อวังหน้าออก เหลือไว้เพียงบางส่วน”
เอนก นาวิกมูล ผู้เชี่ยวชาญเรื่องเก่าของไทย เล่าถึงความเป็นมาและความสำคัญโดยย่อของสนามหลวงเมื่อครั้งอดีต
“ความสำคัญอื่นๆ สนามหลวงก็เคยใช้จัดงานใหญ่ๆ อย่าง 100 ปีกรุงเทพฯ ในปี 2425 ซึ่งเป็นงานใหญ่ที่น่าสนใจ จัดแสดงข้าวของจากทั่วประเทศ มีการแสดงยุทธกีฬา การแสดงละครสัตว์ ส่วนงานพระเมรุก็ยังมีเป็นระยะ ซึ่งตรงนี้นับว่าเป็นการแสดงความสามารถด้านการช่างของไทย”
ซึ่งนอกจากจะใช้เป็นพื้นที่ประกอบพระราชพิธีแล้ว ที่นี่ก็ยังมีความหมายกับประชาชนทั่วไปในฐานะของแหล่งจับจ่ายใช้สอยอีกด้วย
“ต่อมาคนก็รู้จักสนามหลวงในฐานะตลาดนัด เป็นความประทับใจของคน กรณีที่เป็นนักเลงหนังสือเขาก็จะไปหาหนังสือที่นั่น เพราะหนังสือเก่าสมัยนั้นมันยังไม่แพงเหมือนปัจจุบัน ที่นั่นมีแผงหนังสือเยอะมาก 30-40 ซุ้ม ผมเองก็เดินซื้อของมาตั้งแต่ปี 2515 แต่มันมีมาตั้งแต่ 2500 แล้วนะ คือเดิมตลาดนัดนั้นมีอยู่ที่วังสราญรมย์ ต่อมาก็ย้ายมาขายบริเวณรอบสนามหลวง แต่ทีนี้มันก็เกิดความรกรุงรังขึ้น เพราะไม่มีระบบดูแลความสะอาด ทางการก็เลยต้องย้ายตลาดนัดออกไป ในปี 2525 โดยย้ายไปที่จตุจักร ก็มีการประท้วงของพ่อค้าแม่ค้าแต่ก็ทยอยย้ายออกไปส่วนพวกแผงหนังสือนี่อยู่ถึงปี 2530 เลยนะ”
แต่ไม่นานมานี้ สนามหลวงก็ได้กลายเป็นแหล่งขายของของบรรดาพ่อค้าแม่ค้าอีกครั้ง และก็ยังเป็นพื้นที่แสดงออกทางการเมืองของคนหลายกลุ่ม นั่นทำให้ กทม. มีความคิดที่จะปรับปรุงสนามหลวงขนานใหญ่ ซึ่งเอนกก็ให้ความเห็นว่า
“การที่กทม. มาปรับปรุงพื้นที่สนามหลวงถือเป็นเรื่องดี เพราะมันคือสนามหน้าพระบรมมหาราชวัง ควรจะสะอาดสะอ้าน เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ ต้องทำให้สมศักดิ์ศรีกับงานราชพิธีต่างๆ”
ในมุมมองคนกรุง
นริศรา สายสงวนสัตย์ พนักงานอิสระ ให้ความเห็นเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ในสนามหลวงว่า ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่โดยส่วนตัวแล้วไม่แน่ใจว่า สุดท้ายปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะได้รับการสะสางอย่างจริงจังและยั่งยืนแค่ไหน เพราะเอาเข้าจริงแล้ว นี่ดูเหมือนจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
"มันเหมือนการทำให้สะอาดสะอ้านเท่านั้นหรือเปล่า คือไม่มีคนเร่ร่อนอยู่ที่สนามหลวง แต่คนเร่ร่อนก็ยังอยู่ที่อื่นอยู่ดี และไม่แน่สุดท้ายพอไม่มีการทำอะไรจริงจัง ก็คงกลับมาอยู่ที่สนามหลวงเหมือนเดิม พูดง่ายๆ ก็คือมันเหมือนเวลาจะจัดงานทีก็เอาต้นไม้มาลง ไม่รู้จะจริงจังแค่ไหน จริงๆ เรื่องนี้เราควรจะไปแก้ปัญหาที่ต้นเหตุดีกว่า เพราะเอาเข้าจริง เราก็ไม่เคยรู้ว่าทำไมคนเร่ร่อนต้องมาอยู่ที่นี่ โดยผู้รับผิดชอบต้องวางแผนให้ชัดเจนว่า ถ้ามีคนเร่ร่อนเข้ามาจะต้องที่ไหน หรือคุยกับองค์กรที่ดูแลว่าจะทำยังไง ไม่เช่นนั้นก็จะกลายเป็นว่า อยากไล่ที่ตรงไหน อยากให้ที่ไหนสะอาด ก็เอากฎหมายมาลงไล่ไปเรื่อยๆ"
จากใจคนเคยนอนสนามหลวง
ในห้วงอารมณ์ของชายเร่ร่อนคนหนึ่งที่ไม่อยากเอ่ยถึงชื่อจริงของตัวเอง ซึ่งเคยใช้บริเวณสนามหลวงเป็นบ้าน เป็นที่หลับนอน บรรยายว่า เขาได้ย้ายที่หลับนอนใหม่มาอาศัยบริเวณใกล้ๆ อย่างคลองหลอด สวนหย่อมทหารอาสา หรือใต้สะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ซึ่งตอนนี้เขาก็ยึดอาชีพเดิมคือเก็บขยะขาย และอาศัยที่นอนในละแวกใกล้เคียงเหมือนเดิม
“แต่ก่อนเคยอาศัยสนามหลวงเป็นที่หาขยะขาย ไม่ต้องไปไหนไกลอยู่แถวๆ นี้ พอเขามาทำสนามหลวง เขาก็ไม่ให้เราเข้าไปนอน ไม่รู้ว่าเขาทำเสร็จแล้วจะให้พวกเราเข้าไปอยู่ได้หรือเปล่า ถ้าไม่ให้อยู่คงอยู่เหมือนเดิมอย่างนี้แหละ ส่วนแม่ค้าที่เคยขายของที่สนามหลวงเดี๋ยวนี้เขาก็ไปขายแถวคลองหลอดแทนแล้ว” ชายคนที่เคยใช้สนามหลวงเป็นบ้านเล่า
ใกล้ๆ กันยังมีชายอีกคนหนึ่งที่นั่งเหม่อลอยอยู่ใกล้ๆ สนามหลวง เมื่อเราเข้าไปถามไถ่ว่ามาอยู่ตรงนี้นานหรือยัง คำตอบที่ได้คือ
“เพิ่งมาไม่เห็นรึไง บอกแล้วว่าไม่ได้นอนๆ ก็มีแต่คนมาถาม ไปไหนก็ไม่ได้ ถามอยู่ได้...รำคาญ” เป็นคำตอบที่ไม่ต้องอธิบายยากว่าชายคนนี้วิตกกังวลในเรื่องที่หลับนอนของตนอยู่เป็นแน่แท้
……….
ไม่ว่าจะปรับปรุงภูมิทัศน์สนามหลวงให้สวยงามและเป็นระเบียบอยู่เสมอเพียงใด แต่หากยังมีกลุ่มคนไร้บ้านคนเร่ร่อนจ้องที่จะใช้เป็นที่หลับนอนพักผ่อนกายาในยามเมื่อยล้า การแก้ปัญหาของกทม. ก็คงถือว่าไม่ประสบความสำเร็จเต็มที่ เพราะฉะนั้นแล้วการจัดการที่ดีควรหาที่ให้คนเหล่านี้มีบ้านนอนเป็นหลักแหล่ง ไม่เช่นนั้นแล้วเขาก็ยังคงจะเอาสนามหลวงเป็นบ้านเหมือนๆ ที่ผ่านมา และเมื่อพูดถึงสนามหลวงก็ยังคงเป็นพื้นที่สำหรับคนไร้บ้านอยู่ดี แบบนั้นก็ไม่เป็นอันดีแน่
>>>>>>>>>>
……….
เรื่อง : ทีมข่าว CLICK
ภาพ : ทีมภาพ CLICK