เปิดบันทึกวิปวุฒิสภา พบมีสอดไส้บันทึกข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ว่าด้วยปัญหาชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารฉบับล่าสุด ให้รัฐสภารับรองในการพิจารณาเจบีซีไทย-เขมร 3 ฉบับ บัวแก้วอ้างหากเจบีซีไม่ผ่านรัฐสภาจะทำให้ไม่สามารถประชุมเจบีซีครั้งใหญ่ที่กำหนดไว้ 7-8 เม.ย.ที่อินโดฯ ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คณะกรรมการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิ) ที่มีนายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นประธาน ได้เปิดเผยผลการประชุมวิปวุฒิที่ได้ประชุมกันเมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมีการพิจารณาวาระการเตรียมการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ โดยได้เชิญนายธัชชยุติ ภักดี รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมให้ข้อมูลด้วย
โดยบันทึกการประชุมวิปวุฒิฉบับนี้ได้ระบุว่า นายธัชชยุติได้ชี้แจงต่อที่ประชุมโดยมีใจความสรุปดังนี้ ประการที่ 1 การประชุมคณะกรรมการเจบีซี ที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้งมีความคืบหน้าในกระบวนการเจรจาเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศกัมพูชา ประการที่ 2 เจบีซีทั้ง 2 ฝ่าย ประกอบด้วยกรรมาธิการจากส่วนราชการต่างๆ เช่น ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายเทคนิคการสำรวจ
ประการที่ 3 การประชุมเจบีซีสมัยการประชุมวิสามัญที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2552 ทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามบันทึกการประชุมในประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ได้แก่ บันทึกการประชุมเจบีซี สมัยวิสามัญ ที่เมืองเสียมราฐ ระหว่างวันที่ 10-12 พ.ย. 2551, บันทึกการประชุมเจบีซี ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3-4 ก.พ. 2552 และบันทึกการประชุมเจบีซีสมัยวิสามัญ ที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 6-7 เม.ย. 2552 ทั้งนี้ การประชุมที่ลงนาม ยังไม่มีผลจนกว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะยืนยันผ่านช่องทางการทูตว่าได้มีการดำเนินการตรากระบวนกฎหมายภายในครบถ้วน นอกจากนั้นฝ่ายไทยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงทำให้บันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับมีผลบังคับใช้
ประการที่ 4 ในการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ครั้ง ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้หารือเกี่ยวกับร่างข้อตกลงชั่วคราวปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร และได้แนวข้อตกลงชั่วคราวล่าสุดไว้ในบันทึกการประชุมเจบีซีสมัยวิสามัญ ที่กรุงพนมเปญ
บันทึกการประชุมยังได้ระบุถึงการจัดทำหลักเขตแดนใหม่ที่ครอบคลุมบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ในประการที่ 5 ที่ระบุว่า “นอกจากความคืบหน้าข้างต้น ยังมีความคืบหน้าอีกหลายประเด็น ได้แก่ ที่ประชุมยืนยันว่าควรดำเนินการตามขั้นตอนที่ 2 ของแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของการสำรวจฯ ด้วยการผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตลอดแนวเขตแดน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทคนิคหารือโดยเร็ว, ที่ประชุมเห็นชอบชุดสำรวจร่วม สำรวจพื้นที่ตอนที่ 5 (หลักเขตแดนที่ 1-23) พร้อมให้ทำคำแนะนำสำหรับการสำรวจพื้นที่ตอนที่ 6 (หลักเขตแดนที่ 1-เขาสัตตะโสม) รวมถึงบริเวณปราสาทพระวิหาร โดยต้องให้แล้วเสร็จก่อนปลายเดือน พ.ค. 2552, ระหว่างรอทำข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณเขาพระวิหาร ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่าควรเริ่มจำรวจและจัดทำหลักเขตในพื้นที่ตอนที่ 6 ทันที”
ในผลการประชุมวิปวุฒิได้ระบุต่อว่า ในการประชุม นายนิคมได้ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารฉบับล่าสุดที่แนบกับบันทึกการประชุมเจบีซี ไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2552 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ และการแนวร่างดังกล่าวนั้น เพื่อต้องการแจ้งถึงพัฒนาการในการเจรจา ไม่ใช่เป็นการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาใช่หรือไม่
โดย นายธัชชยุติชี้แจงว่า การแนบร่างดังกล่าวไม่มีเจตนาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่ต้องการให้รัฐสภารับทราบเกี่ยวกับร่างข้อตกลงชั่วคราวที่จัดทำขึ้นภายหลังเหตุปะทะกันตามแนวบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ทั้งนี้ร่างข้อตกลงยังไม่มีการลงนาม
จากนั้น นายสรุชัย ชัยตระกูลทอง เลขานุการวิปวุฒิ ถามว่ากรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยออกมาชุมนุมเรียกร้องไม่ให้มีการลงนามในหนังสือสัญญาเป็นประเด็นใด โดย นายธัชชยุติชี้แจงว่า ประเด็นที่กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องและคัดค้าน คือ การลงนามในเอ็มโอยู 2543 และแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ระวางดงรัก เพราะแผนที่ดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเอ็นโอยู 2543 และไม่เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันผสมสยาม-อินโดจีน ตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชาอย่างเป็นทางการว่า ไม่ยอมรับแผนที่ระหว่างดงรัก เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 พร้อมออกแถลงการณ์ยืนยันเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554
รวมทั้งยังระบุด้วยว่า หากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับเสร็จ การประชุมกรรมาธิการเจบีซีครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย. 2554
ทั้งนี้ ในรายงานการประชุมไม่ได้เสนอแนะให้ ส.ว.ลงมติรับรองหรือไม่รับรอง โดยระบุในช่วงท้ายของวาระว่า “ที่ประชุมรับทราบ หากมีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ขอความร่วมมือวุฒิสภาเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง และให้อยู่ในดุลพินิจของสมาชิก”