xs
xsm
sm
md
lg

“มาร์ค” ฝัน ขัดแย้งไทย-เขมร ยุติ ก่อนประชุมมรดกโลก หวังยื้อถกขึ้นทะเบียนพระวิหาร

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ
“อภิสิทธิ์” มั่นใจหลังเจรจาผู้แทนยูเนสโก ปัญหาขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา จบก่อนประชุมมรดกโลกเดือนมิถุนายนได้ อ้างเพื่อไม่ให้ปัญหาซ้ำซ้อนอีก ต้องชะลอแผนจัดการบริหารพื้นที่ 4.6 ตร.กม.อ้างตราบใดเขตแดนยังไม่ชัด ดักคอผู้แทนพิเศษยูเนสโกมาไทย ก็ไม่ได้ตั้งใจลงพื้นที่อยู่แล้ว

วันนี้ (25 ก.พ.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล Mr.Koichiro Matsuure ผู้แทนยูเนสโก เข้าหารือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี โดยมี นายกษิต ภิรมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายชวนนท์ อินทรโกมาลย์สุต เลขาธิการ รมว.ต่างประเทศ จากกรณีปัญหาความขัดแย้งชายแดนไทย-กัมพูชา จากนั้นนายกฯ เปิดเผยภายหลังการหารือ ว่า ผู้แทนพิเศษยูเนสโกได้เดินทางมาที่กรุงเทพฯ และจะเดินทางต่อไปที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เพื่อมีโอกาสรับทราบข้อมูล และมุมมองของ 2 ประเทศ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัญหามรดกโลก ประเด็นสำคัญนอกเหนือจากที่ได้พบกับตนเองแล้ว ยังมีโอกาสพบกับ นายกษิต ก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ ผู้แทนยูเนสโกสนับสนุนใช้กลไกทวิภาคี ในการคลี่คลายสถานการณ์ในปัจจุบัน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดความเสียหายต่างๆ ที่เกิดขึ้น และจะกระทบกับเรื่องนี้ทั้งหมด ขณะเดียวกัน ได้รับทราบมุมมองของไทยต่อสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น และแสดงเจตนาว่า ไม่ต้องการที่จะสร้างปัญหาเพิ่มเติมในช่วงที่ยังมีภาวะความตึงเครียด และความไม่แน่นอนอยู่ ฉะนั้น ในภาพรวมถือว่า หลายเรื่องมุมมองค่อนข้างตรงกัน แต่คงต้องรับฟังอีกครั้งเมื่อผู้แทนพิเศษมีโอกาสไปพบปะกับกัมพูชา

ผู้สื่อข่าวถามว่า ผู้แทนยูเนสโกเห็นสอดคล้องกับไทยหรือไม่ ว่า เรื่องเขตแดนต้องจบก่อนการเข้าบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ได้มีการพูดในหลักการของทางมรดกโลก ว่า เวลาที่ไม่มีเขตแดนที่ชัดเจนในการดำเนินการบริหารจัดการพื้นที่ในลักษณะดังกล่าว มันก็ไม่ค่อยจะสอดคล้องกับหลักความเป็นจริง และหลักการทำงานในด้านนี้ ซึ่งเราต้องการให้มีการคลี่คลาย และให้เกิดความชัดเจน ก่อนที่จะประชุมมรดกโลกในเดือนมิถุนายนนี้ นอกจากนี้ เรายังได้แจ้งกับผู้แทนพิเศษยูเนสโก ว่า เราได้เชิญ นายซกอาน รองนายกรัฐมนตรีกัมพูชา เพื่อมาพบและหารือกันในเรื่องนี้แล้ว ซึ่งทางกัมพูชาได้มีการตอบรับ เพียงแต่ยังไม่ได้กำหนดวัน ซึ่งทางยูเนสโกสนับสนุนให้ได้คุยกันโดยเร็ว เพื่อสามารถเป็นอีกทางหนึ่งในการพูดคุยไม่ให้ปัญหาลุกลามไปถึงเดือนมิถุนายน อย่างไรก็ตาม ก่อนที่จะประชุมมรดกโลก คงต้องช่วยกันทำงานหลายฝ่าย แต่คิดว่ามีทางออก

นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า การประชุมของคณะกรรมการมรดกโลกในเดือนมิถุนายนนี้ มีวาระการประชุมไม่รู้กี่ร้อยเรื่อง ถือเป็นเรื่องการประชุมปกติของเขา แต่เฉพาะเรื่องการขึ้นปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลก คงจะหาข้อยุติให้ได้ก่อน แต่ขณะนี้ทางออกที่ตนพูดยังไม่อยากเจาะจงลงไป ว่า จะต้องเป็นอย่างไร เพราะดีที่สุด คือ สามารถทำให้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่า จะเดินอย่างไร แต่ถ้าเป้าหมายตรงกันในเบื้องต้น คือ ไม่ควรมีการไปเพิ่มปัญหาความซ้ำซ้อน ความตึงเครียดกับสถานการณ์ที่มีในปัจจุบัน ซึ่งมาจากกระบวนการทำงานด้านทวิภาคียังไม่แล้วเสร็จ

เมื่อถามว่า เป้าหมายของเรา คือ การให้มรดกโลกชะลอการพิจารณาแผนบริหารจัดการรอบปราสาทพระวิหารก่อนใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า สำหรับเราถือว่า หากการพิจารณาแผนเกิดขึ้น ก็จะย้อนกลับไปสู่ปัญหาเดิม เมื่อถามต่อว่า มั่นใจหรือไม่เวทีมรดกโลกจะชะลอการพิจารณาเรื่องดังกล่าวได้ นายกฯ กล่าวว่า มั่นใจว่า ผลประโยชน์ร่วมของทุกฝ่าย คือ ไม่สร้างปัญหาความขัดแย้ง และความรุนแรงเพิ่มขึ้น ซึ่งการหาข้อยุติตรงนี้มีหลายเวที เราไม่ได้เจาะจง ทั้งนี้ ความก้าวหน้าการจะทำให้กลไกเจบีซีเดิน จะช่วยลดปัญหาด้านอื่นๆ ได้ และเชื่อว่า ทุกฝ่ายขณะนี้ต้องการเห็นปัญหาคลี่คลาย มากกว่าที่จะไปซ้ำเติมปัญหา ฉะนั้น แนวทางคงจะต้องช่วยกันหาข้อยุติก่อนเดือนมิถุนายน

ผู้สื่อข่าวถามว่า ทางยูเนสโกมีข้อแนะนำอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ไม่ จริงๆ แล้ว ผู้แทนพิเศษยูเนสโกต้องการมาสอบถามข้อมูล และมุมมองต่างๆ และแลกเปลี่ยนกัน ซึ่งก็ได้มีการพูดกันค่อยข้างที่จะครอบคลุม และยูเนสโกสนับสนุนกลไกทวิภาคีต่างๆ ซึ่งเราต้องรอให้เขามีโอกาสคุยกับกัมพูชาก่อน และเราอย่าเพิ่งไปพูดอะไรเพิ่มเติม ดีที่สุดคือ ต้องช่วยลดปัญหาก่อน การพูดอาจถูกตีความ ขยายความ นำไปสู่ปัญหาที่ซับซ้อนขึ้นมา เมื่อถามว่า นายกฯได้สะท้อนในสิ่งที่ระบุว่า ยูเนสโกเป็นตัวสร้างปมปัญหา และกดดันทำให้เกิดปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ได้พูดไปชัดเจน ซึ่งท่าทีของเขาก็รับฟัง และคิดว่า เขาเข้าใจ เพราะตนเองได้เล่าให้ฟัง เปรียบเทียบตั้งแต่ก่อนปี 51 มาจนถึงปัจจุบัน

เมื่อถามว่า ทางผู้แทนพิเศษยูเนสโก จะลงพื้นที่ 4.6 ตร.กม.หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวต่อว่า เราคุยในหลักการว่า การจะมีแผนบริหารจัดการในพื้นที่ ซึ่งยังไม่มีความชัดเจนเรื่องเขตแดน มันขัดกับหลักความเป็นจริง และขัดกับมรดกโลกใช้ ซึ่งเขาไม่มีความตั้งใจจะมาทำอย่างนั้น และเขาก็ทราบถึงความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ คือ เขาบอกว่าไม่มีแผนที่จะไป
กำลังโหลดความคิดเห็น