“มาร์ค” ชี้ เรื่องดี “สุวิทย์” แจงมรดกโลก สั่งเดินสายต่อ ยังไม่ชัดจะส่งผู้แทนมาดูพระวิหารอีกหรือไม่ เชื่อ ยูเนสโกเริ่มเห็นปัญหา งง “ฮุนเซน” จี้ลงนามหยุดยิงเวทีอาเซียน เชื่อ อาเซียนคงไม่จุ้นทวิภาคี ส่ง “ธวัชชัย” เจรจาในพื้นที่ ชี้ ผู้นำเขมรพูดชัดอยากคุยเจบีซี บอกพวกพูดลงนามยุติปะทะมัดมือชกไทยคิดไกลเกิน
วันนี้ (17 ก.พ.) ที่รัฐสภา นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลัง นายสุวิทย์ คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รายงานผลการชี้แจงต่อคณะกรรมการมรดกโลกที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ถึงกรณีแนวทางแผนบริหารจัดการบริเวณโดยรอบปราสาทพระวิหาร และการปะทะระหว่างบริเวณแนวชายแดน ว่า เป็นการรายงานให้ทราบว่าได้มีโอกาสพบกับผู้บริหารยูเนสโก และมรดกโลกหลายท่าน ถือเป็นโอกาสดีที่ได้ชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริงต่างๆ และในภาพรวมขณะนี้ความตื่นตัว และความเข้าใจในปัญหา โดยเฉพาะมุมมองของฝ่ายไทย ซึ่งให้ข้อเท็จจริงตรงไปตรงมา ถึงสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ขณะนี้ความเข้าใจดีขึ้น อย่างไรก็ตาม จะต้องทำงานต่อ เพราะต้องเดินสายชี้แจงต่อเนื่องไปยังบรรดากรรมการมรดกโลกที่มีอยู่หลายประเทศ
เมื่อถามว่า หลังสุด นายสุวิทย์ ไปชี้แจงคิดว่าทางยูเนสโกยังจะส่งผู้แทนพิเศษเข้ามาตรวจสอบพื้นที่โดยรอบปราสาทพระวิหารอยู่อีกหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ความคิดเรื่องการมีผู้แทนพิเศษ ยังเป็นความคิดที่ยังไม่มีความชัดเจนว่าขอบเขตของการทำงานคืออะไร แต่หากจะมีกรณีนี้คงจะต้องฟังทั้งฝ่ายเรา และฝ่ายกัมพูชาด้วย แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบความชัดเจน แต่ถ้ามาต้องการรับทราบข้อมูลเฉยๆ เราไม่มีปัญหา แต่เราไม่ต้องการให้ไปดำเนินการอะไรที่จะไปกระทบกับความละเอียดอ่อนของสถานการณ์ในพื้นที่ ซึ่งจะเป็นอันตราย และตรงนี้ได้บอกกับยูเนสโกไปแล้ว ซึ่งอยู่ในช่วงที่เขาพยายามจะหาทางออกอยู่ว่า การเดินไปของตัวมรดกโลกอยากจะเดินอย่างไร
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่เขาจะเลื่อนการพิจารณาเรื่องนี้ให้เร็วขึ้น นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้เขามีความตื่นตัวพอสมควร พยายามจะหาทางออกในเรื่องนี้ ซึ่งเชื่อว่า เขาเห็นปัญหาชัดเจน ส่วนเขาจะมองว่า ตัวเองเป็นต้นตอแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง แต่เขาคงปฏิเสธไม่ได้แล้วว่า ความตึงเคียดในพื้นที่เกี่ยวพันกับเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่ตรงนั้น สำหรับข้อเสนอที่สมเด็จฯ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชา เสนอให้มีการลงนามหยุดยิงร่วมกันในวันเวทีอาเซียนวันที่ 22 ก.พ.นั้น ยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นฝ่ายยิงก่อนอยู่แล้ว และยังไม่ทราบว่าคืออะไร เพราะขณะนี้เรายืนยันมาตลอดว่าไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่ม เพียงแต่ตอบโต้เวลาที่เกิดการปะทะกันขึ้นมาเท่านั้นเอง ส่วนการพิจารณาของอาเซียนก็ต้องไปฟังในวันที่ 22 ก.พ.ว่าคิดอย่างไร
ส่วนท่าทีของสมเด็จฯ ฮุน เซน พร้อมที่จะเข้าสู่การเจรจาระดับทวิภาคี แต่ต้องการให้อาเซียนเป็นพยานนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คิดว่าไม่ได้ต่างอะไรจากที่อาเซียนแสดงท่าทีก่อนหน้านี้ว่า เรื่องการเจรจาเป็นเรื่องของ 2 ฝ่าย แต่ถ้าต้องการให้อำนวยความสะดวก สนับสนุนให้เกิดการคุยกันได้ อาเซียนก็ทำบทบาทนี้ แต่อาเซียนคงไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่จะต้องพูดคุยกัน อย่างไรก็ตามเวลานี้ไม่ทราบว่า ข้อเสนอเป็นลักษณะไหน อาจเป็นเรื่องของการมีพยานหรืออะไรก็ไม่ทราบ แต่ก็ยังเป็นเรื่องของ 2 ฝ่ายที่จะต้องพูดคุยกัน ซึ่งไทยพร้อม และยินดีรับฟังว่า อาเซียนอยากมาสนับสนุนในลักษณะไหนมากกว่า แต่อาเซียนคงไม่เข้ามาแทรกแซงในสิ่งที่ 2 ฝ่ายจะต้องคุยกัน
เมื่อถามว่า การเข้ามาในลักษณะพยานจะถูกมองว่ารับให้ประเทศที่สามเข้ามา นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงไม่ใช่ จะต้องมีความชัดเจนเหมือนปัญหาเรื่องผู้แทนพิเศษ ขอบเขตต้องชัด ถ้ามีประเทศที่สามจะอยู่ในฐานะอะไร ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงก็พูดถึงการพูดคุยระหว่าง 2 ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง อาเซียนเองก็บอกว่า ตัวเนื้อหาสาระที่จะพูดกันเป็นเรื่องของสองฝ่าย หากฝ่ายหนึ่งไม่ยอมมาที่โต๊ะ เรียกร้องว่า ต้องมีอีกคน ให้มาที่โต๊ะก็คงไม่เป็นปัญหา แต่คนที่จะช่วยสนับสนุนให้มาคุยกันคงไม่เข้ามาเกี่ยวข้องกับเนื้อหาสาระของการเจรจา และในส่วนของไทยรับได้ถ้าประเทศที่สามจะเข้ามาเกี่ยวข้องในฐานะที่ช่วยให้ 2 ฝ่ายคุยกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า เวลานี้ข้อมูลที่ทั้งไทยและกัมพูชาให้กับชาติอื่นๆ ตรงกันข้ามกันอย่างสิ้นเชิง คิดว่าน้ำหนักไหนที่จะทำให้อาเซียนฟัง นายกฯ กล่าวว่า คิดว่าอาเซียนจะไม่ลงลึกเรื่องของเนื้อหาสาระ สิ่งที่เขาต้องการคือทำอย่างไรประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันไม่มีความขัดแย้ง ถึงขั้นเกิดการปะทะ หรือการใช้อาวุธความรุนแรงต่อกัน ฉะนั้นคิดว่า ความห่วงใยของอาเซียนมีเพียงเท่านี้ หากเขาจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ 2 ฝ่ายบรรลุเป้าหมาย ตรงนี้เขาก็ทำ ขอบเขตเขาอยู่ตรงนั้น
เมื่อถามว่า แม้จะมีการคุยกันมาในเวทียูเอ็นเอสซี แต่ทางกัมพูชาก็ยังละเมิด นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตรงนี้เป็นสิ่งที่ควรจะมาพูดคุยกัน 2 ฝ่ายให้จบ เพราะจริงๆ ในระดับพื้นที่ก็ต้องมีการประสานงานกัน และในระดับของนโยบายก็จะพูดคุยกันได้ ส่วนกรณีที่แม่ทัพภาคที่ 2 เตรียมที่จะไปเจรจาในพื้นที่นั้น ถือเป็นเรื่องแนวปฏิบัติในพื้นที่ สำหรับเหตุปะทะกันตามแนวชายแดนที่ยังเกิดขึ้นอยู่ ทางผู้บัญชาการทหารบกได้วิเคราะห์ให้ทราบแล้วถึงปัญหาในพื้นที่ และทางแม่ทัพไปดำเนินการอยู่ เมื่อถามว่า ทางกัมพูชายังไม่ยอมหยุดที่จะขยายผลใช่หรือไม่ นายกฯ กล่าวว่า ไม่เชิง อาจเป็นผลพวง ผลกระทบที่ตามมาจากก่อนหน้านี้ เพราะลักษณะไม่ได้ใช้อาวุธหนักเป็นหลัก เป็นการปะทะ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การคุยกันจะต้องเป็นเฉพาะผู้นำใช่หรือไม่ เพราะท่าทีของสมเด็จฯ ฮุน เซน และนายฮอร์ นัม ฮอง รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา ต่างกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า สิ่งที่สมเด็จฯ ฮุน เซน พูดวันนี้เป็นการยอมรับแล้วว่า ต้องหวนกลับมาในส่วนของเจบีซี อันนั้นมันทวิภาคีชัดเจนอยู่แล้ว ส่วนจะทำอย่างไรให้สามารถบรรลุข้อตกลงในลักษณะที่จะนำไปสู่ไม่มีการปะทะอีก ตรงนั้นเป็นเรื่องที่ต้องมาคิดกัน เมื่อถามว่า ห่วงกันว่า ถ้ามีการลงนามหยุดยิงอาจเป็นการมัดมือไทย นายกฯ กล่าวว่า ขณะนี้ไปไกลเกินไป ยังไม่มีใครไปยกร่างว่า จะเซ็นสัญญาอะไรทั้งสิ้น เพียงแต่หลักการประเทศไทยยืนยันมาแต่ต้นว่า ไม่เป็นฝ่ายยิงก่อน ซึ่งเหมือนกับทุกประเทศ เมื่อใดที่ถูกรุกรานก็ต้องตอบโต้ สิทธิในการปกป้องอธิปไตย ไม่มีใครมาบังคับเราได้