xs
xsm
sm
md
lg

“ฮุนเซน” ง้อไทยเสนอ 4 ข้อลงนามหยุดยิง เล็งดึง ปธ.อาเซียนสักขีพยาน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


สื่อนอกรายงาน “ฮุนเซน” เตรียมเสนอ 4 ข้อ ให้ไทยลงนามข้อตกลงหยุดยิงถาวรในเวทีประชุมอาเซียน ชงประธานอาเซียนช่วยลงนามสักขีพยาน แต่ตั้งแง่ตีกินบอกไทยจะไม่ยอมรับข้อเสนอในบางข้อ เพราะกลัวประเทศที่ 3 บอกไม่ต้องการดินแดนใคร แค่อยากรักษามรดกของบรรพบุรุษเท่านั้น ขณะที่ “นรชิต” เผย UNSC ยังตามสถานการณ์ 2 ประเทศ อาจเรียกเข้าแจงอีกรอบหลังยังมีปะทะกัน 2 วันติด

สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า วันนี้ (17 ก.พ.) สมเด็จฮุน เซน นายกรัฐมนตรีประเทศกัมพูชา ได้เปิดแถลงข่าวที่ทำเนียบรัฐบาล ในกรุงพนมเปญ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยนักว่า ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศสมาคมอาเซียน ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์นี้ กัมพูชาจะขอให้ไทย ลงนามข้อตกลงหยุดยิงถาวร โดยมีรัฐมนตรีต่างประเทศหรือประธานอาเซียน เป็นสักขีพยาน

ขณะเดียวกัน นายกฯ กัมพูชา ได้ยื่นข้อเสนอ 4 ข้อ สำหรับการทำความตกลงหยุดยิง ได้แก่ 1. กัมพูชาและไทย เห็นพ้องยุติการสู้รบอย่างถาวร จะไม่มีการขัดกันด้วยอาวุธกันอีกต่อไป 2.ห้ามเคลื่อนย้ายกองกำลัง ให้ทั้งสองฝ่ายคงกองกำลังในจุดเดิม เพื่อรอการแสวงหาข้อยุติเกี่ยวกับการวัดและปักปันเขตแดน 3. กัมพูชาและไทย จะส่งเสริมให้ผู้บัญชาการกองทัพของสองประเทศ เปิดการเจรจาปรับปรุงความร่วมมือ เพื่อทำให้สถานการณ์กลับไปยังสภาพก่อนวันที่ 15 กรกฎาคม 2551 และข้อ 4. กัมพูชาจะขอให้ประเทศอาเซียนช่วยควบคุมการหยุดยิง เพื่อรับประกันว่าข้อตกลงหยุดยิงจะถูกปฏิบัติใช้อย่างมีประสิทธิภาพ

นายกฯ กัมพูชา กล่าวว่า เชื่อว่า ไทยจะไม่เห็นด้วยกับข้อ 4 ซึ่งหากเป็นเช่นนั้น กัมพูชาก็จะยอมให้กองกำลังจากชาติอาเซียน เข้าไปประจำในดินแดนของกัมพูชา เพื่อสังเกตการณ์และเป็นหลักประกันการหยุดยิง เขากล่าวด้วยว่า ได้ส่งร่างข้อตกลงหยุดยิงที่ประกอบด้วย 4 ข้อเสนอดังกล่าว ไปให้กับนายกรัฐมนตรีอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะของไทย ผ่านทางนายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรีที่ขณะนี้เดินทางมากัมพูชาเพื่อเปิดงานแสดงสินค้าไทยแล้ว พร้อมย้ำอีกครั้งว่า การเจรจาแบบหลายฝ่ายจะนำมาใช้เฉพาะกรณีพิพาทชายแดนเท่านั้น โดยการประชุมทั้งหมดแม้แต่คณะกรรมาธิการร่วมปักปันเขตแดน หรือ เจซีบี จะต้องมีประธานอาเซียนหรือผู้แทนอาเซียนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ซึ่งไทยไม่ควรหวาดกลัวกับประเทศที่สาม แต่ในประเด็นอื่นๆ ที่นอกเหนือจากกรณีพิพาทชายแดนและปราสาทพระวิหาร เช่น การค้า การท่องเที่ยว วัฒนธรรม จะกระทำแบบทวิภาคี

สมเด็จฮุน เซน กล่าวเรียกร้องว่า ไทยกับกัมพูชาไม่ควรผลักดันสถานการณ์ไปสู่จุดเผชิญหน้ากันทุกภาคส่วน ควรจำกัดข้อพิพาทไม่ให้ลุกลามไปยังด้านอื่นๆ แต่ในเรื่องปราสาทเขาพระวิหารนั้น กัมพูชาไม่สามารถก้าวถอยหลังได้ นี่เป็นมรดกตกทอดจากบรรพบุรุษของเรา ตนเพียงต้องการรักษาและปกป้องไว้ให้ลูกหลาน เราไม่ต้องการดินแดนของใคร กัมพูชายินดีต้อนรับผู้สังเกตการณ์ทุกรูปแบบจากอาเซียน ผู้สังเกตการณ์อาจเป็นพลเรือน เป็นทหาร หรือตำรวจ เป็นหมู่คณะจากอาเซียน หรือให้แต่ละประเทศส่งผู้สังเกตการณ์ไปยังพื้นที่พิพาทก็ย่อมได้
ทั้งนี้ นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี รองนายกรัฐมนตรี กล่าวภายหลังการเข้าพบ สมเด็จฮุนเซน ในระหว่างการเดินทางเปิดการแสดงสินค้าไทย-กัมพูชา พร้อมด้วยนายอลงกรณ์ พลบุตร รมช.พาณิชย์ ว่า การพบกันเป็นไปด้วยดี โดยนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้เสนอให้อาเซียน ส่งคนกลางเข้ามาร่วมการเจรจาทวิภาคี ซึ่งอาจจะเป็น นายมาร์ตี้ นาตาเลกาว่า รัฐมนตรีต่างประเทศ อินโดนีเซียในฐานะประธานอาเซียนก็ได้

นอกจากนั้น นายกฯกัมพูชา ยังบอกว่าด้วย ปัญหาระหว่างไทยและกัมพูชา ขณะนี้ ไม่มีเหตุผลที่จะทะเลาะกัน ควรจะมีการประชุมเพื่อหาหลักหมุดเพื่อแก้ไขพื้นที่ขัดแย้ง และอยากให้กัมพูชาและไทยกลับมาเป็นพี่น้องกันเหมือนเดิม นอกจากนี้ ยังได้ฝากถึง นายอภิสิทธิ์เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ว่าไม่อยากให้ทำสงครามคำพูดต่อกัน ซึ่งตนตอบไปว่ารัฐบาลไทยระวังอยู่แล้วแต่กลุ่มอื่นไม่สามารถห้ามไม่ได้

ขณะที่ นายนรชิต สิงหเสนีย์ เอกอัคราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การสหประชาชาติ ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เปิดเผยถึงท่าทีของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ภายหลังตัวแทนจากประเทศไทยและกัมพูชาเข้าชี้แจงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นว่า เรื่องดังกล่าวยังคงมีการติดตามสถานการณ์จากยูเอ็นเอสซีอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าสถานการณ์ไม่ดีขึ้น อาจเป็นไปได้ว่ายูเอ็นเอสซีจะมีการเรียกคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่ายเข้าพบเพื่อพิจารณาเพิ่มเติมอีกครั้ง ซึ่งอาจมีการแสดงท่าทีที่ชัดเจนมากขึ้นจาก UNSC ด้วย ซึ่งไม่เป็นสิ่งที่ดีทั้งสำหรับประเทศไทยและกัมพูชา

นายนรชิตกล่าวว่า การเข้าพบยูเอ็นเอสซีของผู้แทนทั้ง 2 ประเทศที่ผ่านมานั้น ไม่มีเรื่องของการกำหนดแนวชายแดนมาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด เนื่องจากไม่ใช่หน้าที่และบทบาทของยูเอ็นเอสซี ที่จะไปตัดสินปัญหาเรื่องชายแดนของประเทศใดๆ ซึ่งผู้ที่ระบุว่าไทยเสียเปรียบที่ไม่เอ่ยเรื่องของแนวชายแดน ในการเข้าชี้แจงต่อยูเอ็นเอสซีนั้น ถือว่าไม่ทราบข้อเท็จจริง และไม่รู้ภารกิจหน้าที่ของยูเอ็นเอสซี



กำลังโหลดความคิดเห็น