ผ่าประเด็นร้อน
แม้ว่ารัฐบาลไทยที่นำโดยนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ปากบอกว่าไม่เสียเปรียบกัมพูชา และยังยืนยันถึงประโยชน์ของข้อตกลงระหว่างรัฐบาลไทย-กัมพูชาว่าด้วยการปักปันเขตแดนทางบก 2543 (เอ็มโอยู 43) ที่จะกดดันให้กัมพูชาเข้ามาสู่เวทีเจรจาแบบทวิภาคี ป้องกันสงคราม และที่สำคัญบอกว่าสามารถป้องกันไม่ให้ประเทศที่ 3 หรือองค์การระหว่างประเทศอื่นๆ เข้ามาแทรกแซงได้ แต่ในความเป็นจริงสิ่งที่รัฐบาลและนายกรัฐมนตรีพูดถึงอยู่นั้นกำลังออกมาในทางตรงกันข้าม
สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ เวลานี้สถานการณ์ความขัดแย้งตามแนวชายแดนกำลังถูกลากเข้าสู่องค์การระหว่างประเทศ นั่นคือที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ จะมีการประชุมกันในวันนี้ (14 กุมภาพันธ์) โดยมีฝ่ายไทยและกัมพูชาเข้าร่วม และทางองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้แต่งตั้งตัวแทนและเตรียมเดินทางเข้ามาตรวจสอบความเสียหายในปราสาทพระวิหารในเร็วๆ นี้
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า ทุกอย่างกำลังเดินไปตามเกมของฝ่ายรัฐบาลกัมพูชาที่นำโดยฮุนเซน กำหนดขึ้นมาทั้งสิ้น ขณะที่ฝ่ายไทยได้แต่ “เดินตาม” แก้ไขไปวันๆ อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาแบบขัดกันในสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ขณะเดียวกัน สิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นชัดแจ้งก็คือ เอ็มโอยู 43 ที่นายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ ยืนยันเหมือนเป็นคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ สามารถนำไปสู่การเจรจาทั้งสองฝ่ายและป้องกันการปะทะและการแทรกแซงขององค์กรระหว่างประเทศหรือประเทศที่สามนั้นประสบความล้มเหลวโดยสิ้นเชิง
เพราะคำประกาศของผู้นำกัมพูชาคือ ฮุนเซนเน้นย้ำมาหลายครั้งว่าจะไม่การเจรจาแบบทวิภาคีกับไทยอีกต่อไป นอกเสียจากมีการนำเรื่องเข้าสู่การหารือในที่ประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเท่านั้น ซึ่งในที่สุดก็จะมีการประชุมกันในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ดังกล่าว ซึ่งฝ่ายไทยก็ส่ง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศกษิต ภิรมย์ ที่ด่า จีน รัสเซีย ฝรั่งเศสอย่างรุนแรง ไปร่วม ขณะเดียวกันก็ได้ล้มโต๊ะเจรจาในกรอบของคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) ในปลายเดือนนี้เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ หากสังเกตให้ดีจะพบว่า เกมของฝ่ายกัมพูชากำลังเดินไปอย่างได้ผลอีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อผู้อำนวยองค์การยูเนสโกได้แต่งตั้งตัวแทนคือ “มัตสึอุระ โคอิชิโร” ชาวญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอดีตผู้อำนวยการยูเนสโกที่เคยสนับสนุนให้กัมพูชาขึ้นทะเบียนปราสาทพระวิหารเป็นมรดกโลกโดยผนวกพื้นที่โดยรอบที่เป็นพื้นที่ของไทยเข้าไปเป็น “พื้นที่บริหารจัดการ” มาแล้วนั่นเอง
การที่ฝ่ายกัมพูชาสามารถดึงเอาองค์กรระหว่างประเทศเข้ามาตรวจสอบ และ “แทรกแซง” กับปัญหาพิพาทดังกล่าว นั่นย่อมหมายความว่าเขาได้ “ล้ำหน้า” ฝ่ายไทยไปไกลลิบ และที่สำคัญเป็นการเล่นเกมผลประโยชน์ระหว่างประเทศ โดยล่อให้ประเทศมหาอำนาจที่มีอิทธิพลในยูเอ็นเข้ามาสนับสนุน ขณะที่ฝ่ายไทยยังกอดเอ็มโอยู 43 เพียงฝ่ายเดียวอย่างเหนียวแน่น พร้อมทั้งหลับหูหลับตาใช้คำพูดหลอกตัวเองและชาวบ้านว่านี่คือความสำเร็จว่าสามารถป้องกันเขตแดนได้อย่างเต็มที่ ทั้งที่ตลอดแนวฝ่ายกัมพูชารุกล้ำเข้ามาตั้งถิ่นฐานอย่างถาวร โดยที่ฝ่ายไทยไม่โต้แย้งประกาศว่าพื้นที่ 4.6 ตารางกิโลเมตรเลยแม้แต่ครั้งเดียว เพราะอย่างมากก็แค่พูดว่าพื้นที่ “ทับซ้อน” เท่านั้น
อย่างไรก็ดี สิ่งที่ต้องจับตากันอยู่ในเวลานี้ก็คือ การแสดงท่าทีคัดค้านจากฝ่ายไทยต่อกรณีที่ยูเนสโกส่งตัวแทนเข้ามาตรวจสอบปราสาทพระวิหาร โดยอ้างถึงความตึงเครียดนั้นจะได้ผลแค่ไหน เพราะถ้าผลออกมาว่าแม้ยูเนสโกจะรับฟังข้อท้วงติง แต่ยังเดินหน้าลงพื้นที่ตรวจสอบนั่นก็หมายความว่าไทย “จบเห่” แน่ ยิ่งเป็นการสะท้อนให้เห็นว่าได้ยอมรับการขึ้นทะเบียนได้ถูกต้องสมบูรณ์แบบโดยได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ซึ่งในที่นี้ย่อมหมายรวมถึงพื้นที่โดยรอบที่ถูกผนวกเข้าไปด้วย และเชื่อว่าด้วยสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้เห็นแนวโน้มออกมาในรูปนั้นเสียด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นล้วนเป็นผลมาจากความดื้อรั้นของนายกรัฐมนตรี อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เพียงเพื่อต้องการเอาชนะ และต้องการกลบเกลื่อนความผิดพลาดของพรรคประชาธิปัตย์ในอดีตจึงต้อง “ตะแบง” เดินหน้าถลำลึกลงไปเรื่อยๆ แต่ขณะเดียวกันก็ได้สร้างความเสียหายให้กับบ้านเมือง ที่ต้องเสียอธิปไตย ต้องตกเป็นเบี้ยล่างของฝ่ายกัมพูชา ที่สามารถ “เล่นเกม” ดึงเอามหาอำนาจมาร่วมกดดันไทยจนเสียเปรียบ ซึ่งหากย้อนกลับไปมันก็ไม่ต่างจากยุคอดีตที่ไทยถูก “รุมกินโต๊ะ” ถูกบังคับให้แบ่งผลประโยชน์ ผิดกันแต่ว่าครั้งก่อนเราไม่มีทางเลือกมากนัก แต่คราวนี้เราโชคร้ายที่มีผู้นำอ่อนแอไร้อำนาจ แต่ต้องการนั่งเก้าอี้ต่อไปให้นานที่สุดเท่านั้นเอง!!