นักวิชาการนิด้า ใช้หลักฐานทางวิชาการชำแหละ “อภิสิทธิ์” ขาดวุฒิภาวะผู้นำ 7 ประการ ทั้ง “ขาดวิสัยทัศน์” ลอกแบบประชานิยมแม้ว ทำให้ประเทศย่อยยับเหมือนประเทศละตินอเมริกา “โกหกประชาชน” ชักศึกเข้าบ้าน ยกอธิปไตยให้เขมร “บกพร่องทางจริยธรรม” หวังใช้เวทีรัฐสภาเป็นเครื่องระบายอารมณ์ มอมเมาประชาชน ด้วยการลดแลกแจกแถม ทำลายปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ด้าน “เทพมนตรี” แฉซ้ำบันทึกวิปวุฒิฯ สอดไส้บันทึกข้อตกลงชั่วคราวไทย-กัมพูชา ให้รัฐสภารับรองในการพิจารณาเจบีซี ไทย-เขมร 3 ฉบับ ในวันพรุ่งนี้ แต่เชื่อขอเปิดประชุมลับปิดหูปิดตา ปชช.
คลิกที่นี่ เพื่อฟัง การเสวนา "รวมพลัง ปกป้องแผ่นดิน"
วันนี้ (24 มี.ค.) ที่สะพานมัฆวานรังสรรค์ รศ.พิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองคณบดีคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ได้กล่าวบนเวทีเสนาราชอาณาจักรไทยกำลังจะเสียดินแดน ถึงความล้มเหลวในการบริหารราชการ ภายใต้การนำของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ 7 ประการ ว่า ผู้นำที่ดีจะต้องมีคุณสมบัติอย่างไร และขัดแย้งกับผู้นำโดยสิ้นเชิงดังนี้ 1.ผู้นำที่ดีวิสัยทัศน์ที่ก้าวไกล ต้องเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น แต่นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ลอกเลียนนโยบายประชานิยมของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร มาจากประเทศแถบอเมริกาใต้ มอมเมาประชาชน จนทำให้ประเทศชาติย่อยยับ 2.ผู้นำที่ดีต้องรักษาอธิปไตยชาติและพลเรือนไทย แต่ นายอภิสิทธิ์ รักษาผลประโยชน์ของพวกพ้อง ยกทรัพย์สินทั้งทางบกและทะเลให้ต่างชาติ สมคบเขมรจับกุม นายวีระ และ น.ส.ราตรี ให้ต้องติดคุก ทั้งนี้ เพราะรัฐบาลนี้ไม่เคารพสิทธิความเป็นพลเรือนคนไทย 3.ผู้นำที่ดีต้องซื่อสัตย์ไม่หลอกลวงประชาชน แต่ นายอภิสิทธิ์ ตลบแตลงรายวัน ทำตัวเหมือน “ลิงหลอกเจ้า” สุดท้ายก็ไม่สามารถชนะปัญหามวลชนที่รู้เท่าทันได้ 4.ผู้นำที่ดีต้องมีความกล้าหาญในการตัดสินใจ ฝ่าภัยให้กับประชาชน แต่ นายอภิสิทธิ์ ชอบซื้อเวลาด้วยการตั้งคณะกรรมการและโยนบาป เพื่อปัดความรับผิดชอบ เช่น กรณีเอ็มโอยู 43 ซึ่งทำผิดพลาดมาในอดีต ไม่ต่างจากการชักศึกเข้าบ้าน จนทำให้ไทยต้องเพลี่ยงพล้ำ จนใกล้จะเสียอธิปไตย แต่ยังดื้อดึงดัน ไม่ยอมยกเลิกเพื่อรักษาหน้าของพรรค ช่วยเหลือเสื้อแดงที่เป็นภัยต่อชาติบ้านเมือง
5.ผู้นำที่ดีต้องพัฒนาคุณภาพ-คุณธรรมของประชาชน แต่ นายอภิสิทธิ์ กลับทำลายระบบนิติรัฐ มอมเมาประชาชนโดยลดแลกแจกแถม ล้วนขัดแย้งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ตามพระราชดำรัสพระเจ้าอยู่หัว บ่อนทำลายปัญญาการศึกษาตั้งแต่ปี 42 สร้างระบบปัญญาการศึกษาแบบห่วยๆ 6.ผู้นำที่ดีต้องมีประสิทธิภาพในการบริหาร แต่วันนี้การพูดในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีก็ไม่มีใครฟัง ได้แต่ยืนพล่ามอยู่บนโพเดียม ดีแต่สร้างภาพเล่นกับสื่อไปวันๆ แต่ทำงานไม่ไป 7.ผู้นำที่ดีต้องมีเมตตา-จริยธรรม เป็นที่ตั้ง แต่นักการเมืองยุคนี้กลับใช้รัฐสภาอันทรงเกียรติ เป็นเวทีระบายอารมณ์ และไม่เป็นตัวอย่างที่ดีของคนในสังคมและเยาวชนของชาติ
ด้าน นายเทพมนตรี ลิมปพยอม นักวิชาการอิสระ เชื่อว่า ในวันพรุ่งนี้ รัฐสภาจะขอใช้มติเปิดประชุมลับพิจารณาการประชุมกรรมาธิการร่วมเขตแดนไทย-กัมพูชา ทั้ง 3 ฉบับ เพื่อปิดหูปิดตาประชาชน พร้อมได้เปิดเผยบันทึกของคณะกรรมการวิสามัญกิจการวุฒิสภา (วิปวุฒิฯ) เมื่อวันที่ 16 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อบรรจุวาระการเตรียมการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการพิจารณาศึกษาบันทึกการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย-กัมพูชา (เจบีซี) 3 ฉบับ โดยได้เชิญ นายธัชชยุติ ภักดี รองอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมให้ข้อมูลด้วย
โดยบันทึกการประชุมวิปวุฒิฉบับนี้ ได้ระบุว่า นายธัชชยุติ ได้ชี้แจงต่อที่ประชุมโดยมีใจความสรุปดังนี้ ประการที่ 1 การประชุมคณะกรรมการเจบีซี ที่ผ่านมาทั้ง 3 ครั้ง มีความคืบหน้าในกระบวนการเจรจาเรื่องเขตแดนระหว่างประเทศไทย และประเทศกัมพูชา ประการที่ 2 เจบีซีทั้ง 2 ฝ่าย ประกอบด้วย กรรมาธิการจากส่วนราชการต่างๆ เช่น ฝ่ายความมั่นคง ฝ่ายกฎหมายและฝ่ายเทคนิคการสำรวจ
ประการที่ 3 การประชุมเจบีซีสมัยการประชุมวิสามัญที่กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2552 ทั้ง 2 ฝ่ายได้ลงนามบันทึกการประชุมในประเด็นที่ไม่สามารถตกลงกันได้ ได้แก่ บันทึกการประชุมเจบีซี สมัยวิสามัญ ที่เมืองเสียมราฐ ระหว่างวันที่ 10-12 พ.ย.2551, บันทึกการประชุมเจบีซี ครั้งที่ 4 ที่กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 3-4 ก.พ.2552 และบันทึกการประชุมเจบีซีสมัยวิสามัญ ที่กรุงพนมเปญ ระหว่างวันที่ 6-7 เม.ย.2552 ทั้งนี้ การประชุมที่ลงนาม ยังไม่มีผลจนกว่าทั้ง 2 ฝ่ายจะยืนยันผ่านช่องทางการทูต ว่า ได้มีการดำเนินการตามกระบวนกฎหมายภายในครบถ้วน นอกจากนั้น ฝ่ายไทยต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภา จึงทำให้บันทึกการประชุมทั้ง 3 ฉบับ มีผลบังคับใช้
ประการที่ 4 ในการประชุมเจบีซีทั้ง 3 ครั้ง ฝ่ายไทยและกัมพูชาได้หารือเกี่ยวกับร่างข้อตกลงชั่วคราวปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณปราสาทพระวิหาร และได้แนวข้อตกลงชั่วคราวล่าสุดไว้ในบันทึกการประชุมเจบีซีสมัยวิสามัญ ที่กรุงพนมเปญ
บันทึกการประชุมยังได้ระบุถึงการจัดทำหลักเขตแดนใหม่ที่ครอบคลุมบริเวณพื้นที่ปราสาทพระวิหาร ในประการที่ 5 ที่ระบุว่า “นอกจากความคืบหน้าข้างต้น ยังมีความคืบหน้าอีกหลายประเด็น ได้แก่ ที่ประชุมยืนยันว่า ควรดำเนินการตามขั้นตอนที่ 2 ของแผนแม่บทและข้อกำหนดอำนาจหน้าที่ของการสำรวจฯ ด้วยการผลิตแผนที่ภาพถ่ายทางอากาศตลอดแนวเขตแดน โดยที่ประชุมได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่เทคนิคหารือโดยเร็ว, ที่ประชุมเห็นชอบชุดสำรวจร่วม สำรวจพื้นที่ตอนที่ 5 (หลักเขตแดนที่ 1-23) พร้อมให้ทำคำแนะนำสำหรับการสำรวจพื้นที่ตอนที่ 6 (หลักเขตแดนที่ 1-เขาสัตตะโสม) รวมถึงบริเวณปราสาทพระวิหาร โดยต้องให้แล้วเสร็จก่อนปลายเดือน พ.ค.2552, ระหว่างรอทำข้อตกลงชั่วคราวเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา บริเวณเขาพระวิหาร ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นว่าควรเริ่มจำรวจและจัดทำหลักเขตในพื้นที่ตอนที่ 6 ทันที”
ในผลการประชุมวิปวุฒิฯ ได้ระบุต่อว่า ในการประชุม นายนิคม ได้ตั้งข้อสังเกตว่า ร่างข้อตกลงชั่วคราวว่าด้วยปัญหาชายแดนบริเวณปราสาทพระวิหารฉบับล่าสุด ที่แนบกับบันทึกการประชุมเจบีซี ไทย-กัมพูชา เมื่อวันที่ 6 เม.ย.2552 มีสถานะเป็นหนังสือสัญญาตามรัฐธรรมนูญ และการแนวร่างดังกล่าวนั้น เพื่อต้องการแจ้งถึงพัฒนาการในการเจรจา ไม่ใช่เป็นการขอความเห็นชอบจากรัฐสภาใช่หรือไม่
โดย นายธัชชยุติ ชี้แจงว่า การแนบร่างดังกล่าวไม่มีเจตนาให้รัฐสภาให้ความเห็นชอบ แต่ต้องการให้รัฐสภารับทราบเกี่ยวกับร่างข้อตกลงชั่วคราวที่จัดทำขึ้นภายหลังเหตุปะทะกันตามแนวบริเวณปราสาทเขาพระวิหาร ทั้งนี้ร่างข้อตกลงยังไม่มีการลงนาม
จากนั้น นายสรุชัย ชัยตระกูลทอง เลขานุการวิปวุฒิฯ ถามว่า กรณีที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ออกมาชุมนุมเรียกร้องไม่ให้มีการลงนามในหนังสือสัญญาเป็นประเด็นใด โดย นายธัชชยุติ ชี้แจงว่า ประเด็นที่กลุ่มพันธมิตรฯ เรียกร้องและคัดค้าน คือ การลงนามในเอ็มโอยู 2543 และแผนที่มาตราส่วน 1 ต่อ 200,000 ระวางดงรัก เพราะแผนที่ดังกล่าวไม่เป็นไปตามเงื่อนไขเอ็นโอยู 2543 และไม่เป็นผลงานของคณะกรรมการปักปันผสมสยาม-อินโดจีน ตามคำวินิจฉัยของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศทำหนังสือถึงรัฐบาลกัมพูชาอย่างเป็นทางการ ว่า ไม่ยอมรับแผนที่ระหว่างดงรัก เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2551 พร้อมออกแถลงการณ์ยืนยันเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2554
รวมทั้งยังระบุด้วยว่า หากที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาพิจารณาบันทึกการประชุมเจบีซี 3 ฉบับเสร็จ การประชุมกรรมาธิการเจบีซีครั้งต่อไปจะเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 เม.ย.2554
ทั้งนี้ ในรายงานการประชุมไม่ได้เสนอแนะให้ ส.ว.ลงมติรับรองหรือไม่รับรอง โดยระบุในช่วงท้ายของวาระว่า “ที่ประชุมรับทราบ หากมีการนัดประชุมร่วมรัฐสภาเพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว ขอความร่วมมือวุฒิสภาเข้าร่วมประชุมโดยพร้อมเพรียง และให้อยู่ในดุลพินิจของสมาชิก”