xs
xsm
sm
md
lg

คืนชีวิตให้ซากสัตว์ด้วยเทคนิคสตัฟฟ์เหมือนจริงจากฟินแลนด์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“กวาง” หนึ่งในผลงานที่ได้นำมาจัดแสดงในนิทรรศการ “Taxidermy…คืนชีวิตให้ซากสัตว์
หากมีสัตว์ล้มตายลง เมื่อปล่อยทิ้งไว้ก็จะเน่าสลายตามกลไกตามธรรมชาติ มนุษย์จึงคิดต้นที่จะเก็บตัวอย่างไว้เพื่อจะศึกษา วิจัย หรือนำมาจัดแสดง ทั้งการดองเอาไว้ในขวดโหล รูปปั้น ภาพถ่าย ตลอดจนวิธีการสตั๊ฟฟ์ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดว่าวิธีการเหล่านั้นยังไม่ใกล้เคียงความจริงตามธรรมชาติ ทั้งท่วงท่า รูปทรงสัดส่วนต่างๆ ทั้งการเก็บรักษาไม่ยั่งยืนอีกด้วย

ปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขด้วยเทคนิคการสตัฟฟ์ ซากสัตว์แบบใหม่ ซึ่งทางพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ได้นำมาใช้ และเปิดเป็นนิทรรศการ “Taxidermy…คืนชีวิตให้ซากสัตว์” โดยมีการจัดแสดงผลงานสตัฟฟ์สัตว์ประเภทต่างๆ ที่ให้ความรู้สึกเหมือนจริงตามธรรมชาติ อาทิ นก ปลา หนู กวาง เป็นต้น

นายมานพ อิสสะรีย์ รองผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฯ ให้ข้อมูลทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ว่า วิธีการสตัฟฟ์สัตว์ด้วยเทคนิคสมัยใหม่นั้นจะทำให้สัตว์ที่ตายแล้วมีรูปกายเหมือนมีชีวิตจริง ทั้งสัดส่วน ท่วงท่า พฤติกรรม ถือเป็นงานละเอียดอ่อนที่ไม่เพียงแต่แสดงถึงฝีมือและทักษะทางศิลปะเท่านั้น แต่ต้องมีความรู้ทางธรรมชาติวิทยาที่ดีด้วย

ซากสัตว์ที่ถูกคงสภาพด้วยเทคนิคใหม่นี้ต้องเก็บรักษาไว้ในอุณหภูมิที่เหมาะสม คืออุณหภูมิประมาณ 25-28 องศาเซลเซียส และ กรรมวิธีในการใช้สารเคมีเพื่อรักษาและฟอกหนังของสัตว์ให้คงสภาพได้ตลอดไปนั้น ยังส่งผลต่อร่างกายน้อยกว่า เมื่อเทียบกับวิธีการสตัฟฟ์สัตว์แบบเก่าที่ใช้สารเคมีอันส่งผลเสียต่อสุขภาพสูง อย่างเช่น สารบอแรกช์ หรือว่าฟอร์มาลีน เป็นต้น

“เมื่อ 10-20 ปีก่อนไทยเคยมีผู้มีฝีมือและความสามารถในการสตัฟฟ์สัตว์ แต่เมื่อคนเหล่านี้เกษียณอายุไป ก็ไม่มีการสืบทอดต่อ อีกทั้ง อุปกรณ์ยังไม่ทันสมัยและไม่เอื้อต่อการสานต่อวิธีการเหล่านั้น จึงทำให้วิธีการคงสภาพสัตว์ด้วยการสตัฟฟ์นั้นไม่ก้าวหน้าเทียบเท่าต่างชาติได้” นายมานพ อธิบาย

ด้าน ดร.สมชัย บุศราวิช ผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา เผยด้วยว่า สำหรับวิธีการสตัฟฟ์ซากสัตว์แบบเก่านั้นให้ความรู้สึกไม่เหมือนจริง รูปร่างสัตว์แข็งทื่อไม่เป็นธรรมชาติ และ ยังไม่สามารถเก็บรักษาอย่างยั่งยืนได้ เนื่องจากมีมดและแมลงต่างๆ มากัดแทะซากสัตว์ อีกทั้งพวกหนังสัตว์สตัฟฟ์ที่เก็บไว้นานจะมีราขึ้นด้วย

สำหรับการสตัฟฟ์สัตว์ให้เหมือนจริงนั้น นายวัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการจากพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ได้อธิบายให้ทีมข่าววิทยาศาสตร์ ASTV-ผู้จัดการออนไลน์ฟังว่า หากเป็นการสตัฟฟ์ปลานั้นจะต้องวัดสัดส่วนของปลาอย่างละเอียด หลังจากนั้นจึงเลาะเอาผิวหนังภายนอกเก็บไว้ รวมถึงครีบ หาง และรยางค์อื่นๆ แล้วนำมาแช่น้ำยารักษาและน้ำยาฟอกหนัง ก่อนที่จะหุ้มหนังกับหุ่นที่ทำจากโพลียูรีเทน ซึ่งมีลักษณะคล้ายโฟม หรือวัสดุอื่นๆ ที่คล้ายกัน เส้นใยสังเคราะห์โพลีเอสเตอร์และเส้นใยไฟเบอร์กลาส เพื่อให้หุ่นมีความแข็งแรง แล้วจึงตกแต่งให้เหมือนจริงอีกครั้งหนึ่ง

“ถ้าเป็นสัตว์จำพวกนก การลอกหนังเพื่อขึ้นรูปต้องระมัดระวังมาก เพราะหากขนหลุดร่วงจะทำให้ความสวยงามลดลง แล้วใช้ฝอยไม้ไผ่แทนเนื้อ หรือใช้ไม้เนื้ออ่อนเพื่อให้เป็นรูปทรง ประกอบกับดัดลวดเพื่อให้สามารถดัดปีกและหางให้ได้ท่วงท่าทีที่ต้องการ หากเป็นตัว “กวาง” กระบวนการทำให้มีรูปร่างเหมือนจริงมากที่สุดต้องใช้เวลานานถึง 1 เดือน เริ่มแรกต้องวัดขนาดสัดส่วนของกวางให้ละเอียด หลังจากนั้นหล่อแบบตัวและหัวของสัตว์ ลอกหนังออกมาแช่น้ำยารักษาและน้ำยาฟอกหนัง จากนั้นสร้างหุ่น ขึ้นรูป แล้วนำหนังที่ลอกไว้มาหุ้มเพื่อให้สมจริงที่สุด” นายวัชระอธิบาย

การใช้พาราฟีนเป็นอีกวิธีสำหรับการรักษาตัวอย่างสัตว์ ซึ่งมักใช้ในสัตว์ที่ไม่มีขน โดยเฉพาะกับสัตว์เลื้อยคลาน และสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อาทิ กบ คางคก ตุ๊กแก เป็นต้น วิธีการคือใช้อาศัยหลักการแทนที่น้ำในเซลล์ของสิ่งมีชีวิตด้วยพาราฟิน จะทำให้สัตว์แข็งตัวเหมือนของจริง แต่เทคนิคนี้จะต้องใช้เวลาประมาณ 2 อาทิตย์จึงจะสำเร็จได้

นายมานพ เล่าว่า ภายในนิทรรศการได้จัดแสดงตัวอย่างสัตว์ต่างๆ ทั้งสัตว์ปีก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก ขนาดกลางและขนาดใหญ่ โดยจัดท่วงท่าใกล้เคียงการดำรงชีวิตในธรรมชาติมากที่สุด เช่น จำลองสภาพแวดล้อมด้วยกองขยะอันโสโครกซึ่งเป็นที่อยู่ชั้นยอดของ “หนู” เป็นต้น หรือ กรณี “นกปากห่าง” ได้จำลองสภาพแวดล้อมเป็นทุ่งนา มีหอยโข่ง และหอยเชอร์รี่เป็นองค์ประกอบ เพื่อบ่งบอกถึงแหล่งหากิน เป็นต้น

นอกจากนี้ยังจัดแสดงเครื่องมือในการสตัฟสัตว์ ได้แก่ สายวัด ปากคีบ มีดผ่าตัด มีดสกินหนังปลา เครื่องมือวัดขนาด เครื่องมือปั้น เครื่องมือตัดกระดูก ปากคีบ อุปกรณ์ดึงหนัง และเครื่องดูดไขมันด้วย ซึ่ง นายมานพ บอกว่าประโยชน์ที่ได้จากการชมนิทรรศการครั้งนี้ นอกจากจะได้ศึกษาเรื่องราวทางธรรมชาติวิทยาแล้ว ยังทำให้ทุกคนเกิดความตระหนักและหวงแหนความเป็นธรรมชาติที่มีอย่างหลากหลายด้วย

สำหรับการต่อยอดหลังจากนี้นั้น ดร.สมชัย กล่าวว่า การดำเนินงานนั้นยังต้องใช้เวลาในการผลิตและการสะสมจำนวนชิ้นงานให้มากยิ่งขึ้น เพื่อนำมาจัดแสดงเป็นตัวอย่างในการศึกษา และจัดแสดงนิทรรศการในรูปแบบพาโรนามา โดยอิงถิ่นที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติจริงของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น ถือเป็นมิติใหม่ของแนวทางการจัดนิทรรศการด้านธรรมชาติวิทยาของประเทศไทยในอนาคต

อย่างไรก็ดี นายมานพ ได้กล่าวรว่างานด้านการศึกษาวิจัยด้านธรรมชาติวิทยาและการเก็บรักษาวัสดุตัวอย่างด้านธรรมชาติวิทยานั้นมีความสำคัญ และทาง อพวช.จะทำให้มีความพร้อมทางด้านมากขึ้น ทั้งขีดความสามารถของบุคลากร เครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ และพร้อมจะถ่ายทอดความรู้ เทคนิควิธีการ และการให้บริการต่างๆ เพื่อเป็นฐานสำคัญต่อการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพในประเทศอีกทางหนึ่ง

สำหรับผลงานที่นำมาจัดแสดงในนิทรรศการทั้งหมดนั้น นายมานพบอกว่า มาจากโครงการที่ทางอพวช.จัดก่อนหน้า คือโครงการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติเกี่ยวกับเทคนิคใหม่ด้านการสตัฟฟ์สัตว์เพื่อการจัดการแสดง ซึ่งได้ อีริค แกรนควิสต์ (Mr.Eirik Granqvist) ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟินแลนด์ มาเป็นวิทยากรสอนเรื่องเทคนิค วิธีการต่างๆ ที่ใช้ในระดับสากล เมื่อวันที่ 1 มี.ค. - 7 พ.ค. 54 ที่ผ่านมา

โครงการอบรมดังกล่าว มีผู้เข้าร่วมอบรมเชิงปฏิบัติการจาก 9 หน่วยงาน คือ พิพิธภัณฑ์ทางธรรมชาติวิทยา อพวช., สวนสัตว์เปิดเขาเขียว, องค์การสวนสัตว์, ม.มหิดล, ม.ขอนแก่น, ม.สงขลานครินทร์, ม.บูรพา, กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง, สยามโอเชี่ยนเวิลด์ และ มหาวิทยาลัยแห่งชาติของมาเลเซีย (National University of Malaysia)

ผู้สนใจชมนิทรรศการชุด “Taxidermy…คืนชีวิตให้ซากสัตว์” นี้ สามารถเข้าชมได้ตั้งแต่วันนี้ถึง 20 ส.ค. 54 ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อพวช. เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี สอบถามข้อมูล โทร 02-577-9999 ต่อ 1513
 คางคก ซึ่งเป็นผลงานจากการสตัฟฟ์สัตว์เหมือนจริง
นกปากห่าง
นกเงือกปากย่น
อุปกรณ์ที่ใช้ในขั้นตอนการสตัฟฟ์สัตว์ให้เหมือนจริง ได้แก่ สายวัด ปากคีบ มีดผ่าตัด มีดสกินหนังปลา เครื่องมือวัดขนาด เครื่องมือปั้น เครื่องมือตัดกระดูก และปากคีบ
วัสดุแทนเนื้อ ทำมาจากเยื่อไผ่ โดยใช้ลวดและด้ายมาทำให้เป็นรูปทรงตามต้องการ
เครื่องดูดไขมัน อุปกรณ์หนึ่งที่ใช้ในขั้นตอนการสตัฟฟ์สัตว์ให้เหมือนจริง
นายมานพ อิสสะรีย์
นายวัชระ สงวนสมบัติ นักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา อธิบายถึงวิธีการรักษาตัวอย่างสัตว์ด้วยพาราฟิลีน มักใช้ในสัตว์ที่ไม่มีขน โดยเฉพาะกับสัตว์เลี้อยคลาน ครึ่งบกครึ่งน้ำ อาทิ กบ คางคก ตุ๊กแก เป็นต้น
ดร.สมชัย บุศราวิช บอกว่า วิธีการสตัฟฟ์แบบเก่านั้น ให้ความรู้สึกที่ไม่เหมือนจริง รูปร่างแข็งทื่อไม่เป็นธรรมชาติ ทั้งยังไม่สามารถเก็บรักษาได้ไม่นาน
อีริค แกรนควิสต์ ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศฟินแลนด์  ซึ่งเป็นวิทยากรสอนเทคนิคด้านการสตัฟฟ์สัตว์เพื่อการจัดการแสดง
เหยี่ยวแดง
กำลังโหลดความคิดเห็น