มอบ “ผ้าเบรกไร้ใยหิน” นำร่องแท็กซี่ทั่วกรุงทดลองใช้ 500 คัน หลังประสบความสำเร็จในการนำร่องกับรถสองแถวเมืองพัทยา ชี้ใยหินเป็นอันตรายสุขภาพ เสี่ยงมะเร็ง หลายประเทศห้ามใช้ ด้านแท็กซี่เปิดใช้เลือกผ้าเบรกไม่ได้คำนึงถึงเรื่อง “ใยหิน”
นวัตกรรม “ผ้าเบรกไร้ใยหิน” เป็นเทคโนโลยีที่ บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด ได้รับการสนับสนุนจาก โครงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทย (ไอแท็ป:ITAP) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) ซึ่งได้จัดมอบผ้าเบรกดังกล่าวให้แท็กซี่จำนวน 500 คัน ภายใต้โครงการ “กรีน แท็กซี บาย คอมแพ็ค เบรก” (Green Taxi by Compact Brakes) เพื่อรณรงค์ให้ผู้ใช้รถหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดมลพิษทางอากาศ
นายพีระ อิสระพิทักษ์กุล ผู้จัดการฝ่ายขายในประเทศไทย บริษัท คอมแพ็ค อินเตอร์เนชั่นแนล (1994) จำกัด กล่าวว่า “ผ้าเบรกไร้ใยหิน” นั้นเป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำมาจากเส้นใยธรรมชาติ 100% ไม่ใช้โลหะหนัก แต่มีคุณสมบัติเดียวกับวัสดุที่ใช้ทำเสื้อเกราะกันกระสุน สามารถระบายความร้อนได้ดี ไม่เกิดฝุ่นดำติดล้อ ไม่เกิดเสียงดังรบกวนเวลาเบรก หรือก่อให้เกิดการสึกหรอของจานเบรก ทั้งยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
“นวัตกรรมในครั้งนี้ได้พัฒนาการออกแบบให้เหมาะสำหรับสภาพการใช้งานของรถแท็กซี่ ที่ต้องสัญจรบนท้องถนนที่รถติดขัด และต้องเบรกบ่อยครั้ง นอกจากการใช้งานที่ได้ประสิทธิภาพแล้ว ยังมีราคาเท่าเทียมกับผ้าเบรกใยหินอีกด้วย” นายพีระ แจกแจง
ด้าน นายพงศักษ์ วงศ์อินทร์ หัวหน้าศูนย์วิทยุสหกรณ์แท็กซี่สยาม จำกัด กล่าวว่า การใช้ผ้าเบรกของสหกรณ์แท็กซี่นั้นไม่ได้สนใจว่าใช้ใยหิน หรือไม่ใช้ใยหิน แต่สิ่งที่คำนึงนั่นคือเรื่องของประสิทธิภาพการใช้งาน นอกจากใช้แล้วไม่มีเสียงดังเวลาเบรก ยังต้องมีความคงทนต่อการใช้งาน และมีราคาที่ไม่สูงมากด้วย ตรงนี้ถือเป็นหัวใจหลักของการเลือกซื้อ
“สำหรับผ้าเบรกไร้ใยหินที่ได้รับมอบในครั้งนี้ หากใช้แล้วไม่มีฝุ่นละออง ไม่ก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ ก็รู้สึกดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” นายพงศักษ์ กล่าว
สำหรับผลกระทบต่อสุขภาพจากผ้าเบรกใยหินที่นิยมใช้ในปัจจุบันนั้น ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา ผช.ผอ.สวทช. ชี้แจงว่า ผ้าเบรกที่ทำมาจากแร่ใยหินนั้น แม้จะมีคุณสมบัติกันความร้อนได้ดี แต่เมื่อใช้แล้วจะเกิดฝุ่นละอองที่เป็นสีดำ เมื่อร่างกายสูดดมเข้าไปในร่างกายปริมาณมาก จะทำให้เป็นมะเร็งตามมาอีกด้วย ปัจจุบันหลายประเทศทั้ง ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ยุโรป หรือแม้แต่สหรัฐฯ ต้องออกกฏหมายห้ามใช้สินค้าหรือชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีส่วนผสมของสารที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จนนำมาสู่การใช้ผ้าเบรกไร้ใยหินอย่างแพร่หลาย
"สำหรับประเทศไทยยังไม่มีกฏหมายบังคับใช้ แต่ได้มีการรณรงค์ให้ผู้ขับขี่หันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเรื่อยมา เพื่อทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น" ดร. สมชาย กล่าว
นายพีระ บอกด้วยว่า ภายหลังการจัดโครงการ "กรีน พัทยา บาย คอมแพ็ค" (Green Pattaya by Compact) ที่ได้รณรงค์ให้รถสองแถวเมืองพัทยาหันมาใช้ผ้าเบรกไร้ใยหินนั้นได้ผลตอบรับที่ดีมาก จึงได้ขยายโครงการมาสู่เมืองหลวงของประเทศ โดยเริ่มจากรถแท็กซี่ก่อน หากผู้บริโภคให้การตอบรับที่ดี ก็จะขยายโครงการไปสู่รถเมล์ต่อไป
“โครงการดังกล่าวที่จัดขึ้นมานั้นเพื่อเป็นการรณรงค์ให้ประชาชนหันมาใช้ผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อปลูกจิตสำนึกในการรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะส่งผลดีต่อชุมชน สิ่งแวดล้อม และเป็นแนวทางสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนต่อไปในอนาคต” นายพีระ กล่าวทิ้งท้าย
สำหรับโครงการ “กรีน แท็กซี บาย คอมแพ็ค เบรก” (Green Taxi by Compact Brakes) นั้นได้จัดขึ้น เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 54 ณ ลานวิกตอรี พอยท์ (Victory Point) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ กรุงเทพฯ โดยนอกจากทีมข่าววิทยาศาสตร์-ASTV ผู้จัดการออนไลน์ที่ร่วมทำข่าวแล้ว ยังมีสื่อมวลชนและตัวแทนจากผู้ขับรถแท็กซี่ร่วมงานเป็นจำนวนมาก