xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนดูเหตุการณ์สำคัญ “ยุคกระสวยอวกาศ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หลังการลงจอดของ “แอตแลนติส” ถือเป็นการสิ้นสุดภารกิจยานขนส่งอวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่มายาวนานถึง 3 ทศวรรษ ด้วยสถิติการเดินทาง 135 เที่ยว คิดเป็นระยะทางกว่า 860 ล้านกิโลเมตร หรือไกลกว่าระยะทางจากดวงอาทิตย์ไปดาวพฤหัสบดี ย้อนดูเหตุการณ์สำคัญๆ ที่รวบรวมโดยบีบีซีนิวส์ก่อนปิดฉาก “ยุคกระสวยอวกาศ”
ภาพการทดสอบยานเอนเตอร์ไพรส์ครั้งแรก ซึ่งบรรทุกไปบนโบอิง 747 (บีบีซีนิวส์)
12 ส.ค.1977
1.เที่ยวบินทดสอบ
แนวคิดเรื่องกระสวยอวกาศมีมายาวนานก่อนที่เราจะส่งคนไปลงบนดวงจันทร์ได้เสียอีก และก่อนเริ่มต้นยุคกระสวยอวกาศ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้เริ่มเที่ยวบินทดสอบแนวคิดกระสวยอวกาศ โดยส่งยานเอนเตอร์ไพรส์ (Enterprise) ติดหลังเครื่องบินบรรทุกกระสวยอวกาศโบอิง 747 (Boeing 747 Shuttle Carrier Aircraft) ขึ้นไปทดสอบการบินระดับชั้นบรรยากาศ ณ ฐานทัพอากาศเอ็ดเวิร์ดส์ (Edwards Air Force Base) ในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐฯ
จอห์น ยัง (ซ้าย) และ โรเบิร์ต คริพเพน (ขวา) ลูกเรือของกระสวยอวกาศเที่ยวบินแรก (นาซา)
12 เม.ย.1981
2.เที่ยวบินแรก
ยานโคลัมเบีย (Columbia) เป็นกระสวยอวกาศลำแรกที่ทะยานฟ้า โดยมีลูกเรือประจำเที่ยวบินที่ 1 นี้ 2 คน คือ จอห์น ยัง (John Young) แะ บ็อบ คริพเพน (Bob Crippen)
ภาำพการเดินอวกาศครั้งแรกในโครงการกระสวยอวกาศ (บีบีซีนิวส์)
4 เม.ย.1983
3.เดินอวกาศครั้งแรก
การเดินอวกาศ (spacewalk) เริ่มขึ้นครั้งแรกในการส่งยานชาเลนเจอร์ (Challenger) ซึ่งเป็นกระสวยอวกาศลำที่ 2 ของนาซา และเป็นปฏิบัติการที่เกิดขึ้นในการส่งกระสวยอวกาศครั้งที่ 6
แซลลี ไรด์ มนุษย์อวกาศคนแรกหญิงของสหรัฐฯ (บีบีซีนิวส์)
18 มิ.ย.1983
4.มนุษย์อวกาศหญิงอเมริกันคนแรก
แซลลี ไรด์ (Sally Ride) เป็นหญิงอเมริกันคนแรกที่ได้เดินทางไปอวกาศ เธอเป็นนักฟิสิกส์และได้เดินทางไปพร้อมกับยานชาเลนเจอร์ในเที่ยวบินที่ 7 ของกระสวยอวกาศนาซา
ภาพการเดินอวกาศโดยไม่มีสายยึดโยงครั้งแรก (บีบีซีนิวส์)
7 ก.พ.1984
5.เดินอวกาศโดยไม่มีสายโยง
บรูซ แมคแคนด์เลสส์ (Bruce McCandless) ได้ทดลองเดินอวกาศโดยไม่มีสายโยงระหว่างการทดสอบอุปกรณ์เคลื่อนที่บังคับโดยมนุษย์ (Manned Maneuvering Unit) ซึ่งช่วยให้มนุษย์เดินอวกาศได้โดยไม่ต้องมีอุปกรณ์ยึดโยง เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นหลังส่งยานชาเลนเจอร์ทะยานฟ้าเมื่อ 3 ก.พ.1984 และปฏิบัติการครั้งนั้นทำให้ได้ภาพมนุษย์ลอยล่องอยู่ในอวกาศที่ปราศจากสายยึดโยงอยู่เหนือดาวเคราะห์สีน้ำเงิน
โศกนาฏกรรมชาเลนเจอร์ (บีบีซีนิวส์)
28 ม.ค.1986
6.โศกนาฏกรรมชาเลนเจอร์
ยานชาเลนเจอร์ระเบิดระหว่างทะยานฟ้าได้เพียง 72 วินาที ทำให้ลูกเรือทั้ง 7 คนเสียชีวิตทั้งหมด ซึ่งรวมถึง คริสตา แม็คออลิฟฟ์ (Christa McAuliffe) ครูและพลเรือนคนแรกของสหรัฐฯ ที่จะได้เดินทางสู่อวกาศ
ดิสคัฟเวอรีรับภารกิจนาซากลับมาบินหลังโศกนาฏกรรมชาเลนเจอร์
29 ก.ย.1988
7.นาซากลับมาบิน
หลังโศกนาฏกรรมยานระเบิดนาซาได้ว่างเว้นการส่งกระสวยอวกาศนานกว่า 2 ปี และยานดิสคัฟเวอรีได้รับหน้าที่ให้กลับมาบินเป็นเที่ยวแรกหลังการสูญเสีย และนักบินอวกาศได้กลับมาสวมชุด “ฟักทอง” สีส้มบาดตาอีกครั้ง
ยานแมกเจลแลน
4 พ.ค.1989
8.ส่ง “แมคเจลแลน” ยานสำรวจดาวศุกร์
เป็นครั้งแรกที่ปฏิบัติการสำรวจดาวเคราะห์ถูกส่งขึ้นไปพร้อมกระสวยอวกาศ โดยยานแมคเจลแลน (Magellan) ซึ่งมีภารกิจทำแผนที่พื้นผิวดาวศุกร์ถูกส่งขึ้นไปพร้อมยานแอตแลนติส (Atlantis)
กล้องฮับเบิลที่มีบทบาทต่อการค้นพบทางดาราศาสตร์
24 เม.ย.1990
9.ส่งกล้อง “ฮับเบิล” เข้าวงโคจร
ยานดิสคัฟเวอรีรับหน้าที่ขนส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) เข้าสู่วงโคจร ภารกิจสำคัญที่นำไปสู่การค้นพบปรากฏการณ์ต่างๆ บนฟากฟ้า

2 ธ.ค.1993
10.ซ่อมบำรุง “ฮับเบิล” ครั้งแรก
ปฏิบัติการครั้งสำคัญในการซ่อมบำรุง “ฮับเบิล” ครั้งนี้รับหน้าที่โดยยานเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) กระสวยอวกาศน้องเล็กของนาซา โดยเอนเดฟเวอร์ได้ขนอุปกรณ์ปรับแก้ความคมชัดขึ้นไปติดตั้งให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศ และกลายเป็นอีกภารกิจเด่นของกระสวยอวกาศลำนี้

27 มิ.ย.1995
11.เชื่อมต่อสถานีอวกาศ “มีร์”
แอตแลนติสเป็นกระสวยอวกาศของนาซาลำแรกที่เชื่อมต่อสถานีอวกาศมีร์ (Mir) และประสบการณ์จากการไปเยือนสถานีอวกาศรัสเซีย 11 ครั้ง ได้ปูทางสู่การสร้างสถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) ที่เกิดจากความร่วมมือของหลายชาติ
 จอห์น เกลนน์
29 ต.ค.1998
12.ส่งมนุษย์อวกาศอายุมากสุดสู่วงโคจร
จอห์น เกลนน์ (John Glenn) เป็นมนุษย์อวกาศชาวอเมริกันคนแรกที่ขึ้นสู่วงโคจรเมื่อปี 1962 และในปี 1998 เขาได้เดินทางไปพร้อมกับยานดิสคัฟเวอรีขณะอายุ 77 ปี ทำให้เขากลายเป็นมนุษย์ที่มีอายุมากที่สุดในอวกาศ ไม่เป็นเพียงเท่านั้นเขายังเป็นคนเดียวที่เดินทางไปอวกาศทั้งในโครงการเมอร์คิวรี (Mercury) และโครงการกระสวยอวกาศของนาซา

4 ธ.ค.1998
13.เยือนสถานีอวกาศนานาชาติ
รัสเซียเริ่มโครงการสถานีอวกาศนานาชาติซึ่งต้องใช้เวลามากกว่า 10 ปีจึงจะแล้วเสร็จ โดยนาซาได้ส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศ 37 ครั้ง โดยครั้งแรกเป็นภารกิจของเอนเดฟเวอร์ที่ขนส่งโมดูลยูนิตี (Unity) ชิ้นส่วนแรกของสหรัฐฯ ขึ้นไปติดตั้ง

1 ก.พ.2003
14.โศกนาฏกรรมโคลัมเบีย
นาซาต้องสูญเสียกระสวยอวกาศอีกครั้งเมื่อยานโคลัมเบียระเบิดระหว่างกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลก โดยแผ่นฉนวนกันความร้อนของถังเชื้อเพลิงภายนอกได้สร้างความเสียหายที่ปีกซ้ายของยาน และทำให้ก๊าซร้อนระที่เกิดจากการเสียดสีชั้นบรรยากาศได้แทรกเข้าไปในรูโหว่ที่เกิดขึ้นและระเบิดกระสวยอวกาศออกเป็นชิ้นๆ

14 ม.ค.2004
15.จุดเริ่มต้นปิดฉาก “กระสวยอวกาศ”
จอร์จ ดับเบิลยู บุช (George W Bush) ประกาศให้ปลดระวางกระสวยอวกาศภายในปี 2010 และให้เริ่มต้นโครงการคอนสเตลเลชัน (Constellation) เพื่อพัฒนาระบบขนส่งอวกาศนำมนุษย์กลับไปเยือนดวงจันทร์อีกครั้ง แต่โครงการนี้ก็ถูกยกเลิกไปโดยประธานาธิบดีผู้รับช่วงต่อ

26 ก.ค.2005
16.กลับมาบิน (อีกครั้ง)
หลังจากโศกนาฏกรรมโคลัมเบียนาซาได้หยุดการส่งกระสวยอวกาศไปหลายปี จากนั้นได้ตัดสินใจส่งกระสวยอวกาศอีกครั้งโดยมียานดิสคัฟเวอรีรับภารกิจเที่ยวบินแรกหลังจากหยุดไปนาน โดยนาซาได้เพิ่มมาตรการในการตรวจสอบความเสียหายระหว่างถูกยิงจากฐานปล่อย รวมถึงคำแนะนำในการกลับตัวยานเมื่อไปถึงสถานีอวกาศ เพื่อบันทึกภาพถ่ายสำหรับตรวจสอบความเสียหายฉนวนกันความร้อนของตัวยาน

8 ส.ค.2007
17.ครูคนแรกในอวกาศ
บาร์บารา มอร์แกน (Barbara Morgan) เป็นนักบินอวกาศตัวรอง เมื่อครั้ง คริสตา แมคออลิฟฟ์ (Christa McAuliffe) คุณครูคนแรกที่ได้รับเลือกให้เดินทางไปอวกาศพร้อมกับยานชาเลนเจอร์ มอร์แกนซึ่งเข้ารับการฝึกจากนาซาเพื่อเป็นผู้เชี่ยวชาญพิเศษ ต้องรอถึง 21 ปีจึงได้สานฝันการเป็นครูคนแรกที่เดินทางสู่อวกาศ โดยเดินทางไปพร้อมกับยานเอนเดฟเวอร์

7 ก.พ.2008
18.ขนแล็บอวกาศขนาดใหญ่ไปติดตั้งบนสถานีอวกาศ
แอตแลนติสขนส่ง “โคลัมบัส” (Columbus) แล็บอวกาศของยุโรปที่หนักถึง 12.8 ตันขึ้นไปติดตั้งบนสถานีอวกาศ
ดิสคัฟเวอรีปิดฉากภารกิจก่อนกระสวยลำอื่น
24 ก.พ.2011
19.เที่ยวบินสุดท้าย “ดิสคัฟเวอรี”
ดิสคัฟเวอรีได้รับการยกย่องให้เป็น “จ่าฝูง” ของกระสวยอวกาศทั้งหมด และยังเป็นกระสวยอวกาศที่รับหน้าที่ “กลับมาบิน” ทั้งหลังโศกนาฏกรรมชาเลนเจอร์และโคลัมเบีย ดิสคัฟเวอรีปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 39 เที่ยวบิน และเป็นกระสวยอวกาศที่ปฏิบัติภารกิจมากกว่ากระสวยอวกาศลำอื่นๆ
ภาพเอนเดฟเวอร์เชื่อมต่อสถานีอวกาศในภารกิจสุดท้าย
16 พ.ค.2011
20.เที่ยวบินสุดท้าย “เอนเดฟเวอร์”
เอนเดฟเวอร์ทะยานฟ้าครั้งสุดท้ายหลังนาซายืดเวลาปลดระวางกระสวยอวกาศจากปี 2010 ออกมาเป็น 2011 โดยในเที่ยวสุดท้ายเอนเดฟเวอร์ได้นำกล้องศึกษาสเปกตรัมเอเอ็มเอส (AMS: Alpha Magnetic Spectrometer) มูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ที่พัฒนาขึ้นโดยเซิร์น (CERN) ขึ้นไปค้นหาศึกษา "ปฏิสสาร" (antimatter) และ "พลังงานมืด" (dark energy) ในเอกภพ
แอตแลนติสปฏิบัติภารกิจเป็นลำสุดท้าย ปิดฉาก ยุคกระสวยอวกาศ หลังจากลงจอดในวันที่ 21 ก.ค.2011
8 ก.ค.2011
21.นาซาส่งกระสวยอวกาศครั้งสุดท้าย
หลังทยอยปลดระวางกระสวยอวกาศนาซาได้ส่ง “แอตแลนติส” ทะยานฟ้าครั้งสุดท้ายเมื่อ 8 ก.ค. และเป็นเที่ยวบินสุดท้ายของ “ฝูงบินกระสวยอวกาศ” โดยมีภารกิจขนส่งเสบียงไปยังสถานีอวกาศ และลำเลียงของเสียและอุปกรณ์ที่เสียหายกลับมายังโลก เมื่อกระสวยลำนี้ลงจอดหรือแลนดิงสู่พื้นโลกก็เป็นการรูดม่านปิดฉาก “ยุคกระสวยอวกาศ” ในเที่ยวบินที่ 135
กำลังโหลดความคิดเห็น