xs
xsm
sm
md
lg

ฟ้าผ่าฐานปล่อยแต่นาซายังเดินหน้าส่ง “กระสวยอวกาศ” ลำสุดท้าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ภาพจากวิดีโอของนาซาเผยปรากฏการณ์ฟ้าผ่าบริเวณฐานปล่อยจรวด (นาซา)

ชมคลิปฟ้าผ่าบริเวณฐานปล่อยจรวดที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (คลิปจากนาซา)

องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) รายงานว่าพบฟ้าผ่า 2 ครั้งบริเวณฐานปล่อยจรวด 39เอ (39A) ที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) สหรัฐฯ ซึ่งเป็นจุดส่งแอตแลนติส (Atlantis) กระสวยอวกาศลำสุดท้ายก่อนปลดระวาง ตามกำหนดเวลา 22.26 น.ของวันที่ 8 ก.ค.2011 ตามเวลาประเทศไทย

ฟ้าผ่าทั้ง 2 ครั้งเกิดขึ้นเวลา 23.31 น.ของวันที่ 7 ก.ค.ตามเวลาประเทศไทย โดยฟ้าได้ผ่าลงแทงก์เก็บน้ำที่อยู่ห่างจากฐานปล่อยจรวดออกไป 157 เมตร และฟ้าผ่าอีกครั้งเกิดขึ้นในเวลา 23.40 น.ในวันเดียวกัน ซึ่งสายฟ้าได้ฟาดลงบริเวณชายหาดที่อยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือของฐานปล่อยจรวด แต่จากการตรวจสอบของเจ้าหน้าที่ไม่พบปัญหาใดๆ ต่อระบบส่งกระสวยอวกาศ นาซาจึงยังคงเดินหน้ายิงจรวดต่อไป โดยมีสภาพอากาศเอื้ออำนวยเพียง 30%

สำหรับการส่งกระสวยอวกาศครั้งสุดท้ายของนาซาก่อนปิดตำนานส่งยานอวกาศที่เวียนกลับมาใช้ใหม่ได้นี้ เป็นการส่งกระสวยอวกาศเที่ยวที่ 135 และเป็นการปฏิบัติภารกิจเที่ยวที่ 33 ของยานแอตแลนติส ซึ่งครั้งนี้มีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจนาน 12 วัน โดยมีเป้าหมายการเดินทางอยู่ที่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS)

ข้อมูลจากสเปซไฟล์ทนาว (SpaceFlightNow) ระบุว่า เที่ยวบินเอสทีเอส-135 (STS-135) ของนาซามีช่วงเวลาปล่อยจรวดได้เพียง 10 นาที เมื่อโลกหมุนเข้าไปในตำแหน่งที่ฐานปล่อยจรวดอยู่ในระนาบเดียวกับวงโคจรของสถานีอวกาศ โดยเวลาที่เหมาะสมเรียกว่า “เวลาในระนาบ” (in-plane) แต่หากนาซาไม่สามารถส่งกระสวยอวกาศได้ในคืนวันศุกร์นี้บีบีซีนิวส์รายงานว่า นาซาจะพยายามปล่อยจรวดอีกครั้งในวันอาทิตย์ที่ 10 ก.ค. นี้

เจฟฟ์ สปอลดิง (Jeff Spaulding) ผู้อำนวยการฝ่ายการทดสอบของนาซากล่าวว่า หากต้องเลื่อนยิงจรวดในช่วงเวลาจวนๆ ปล่อยตามกำหนด นาซาต้องให้เวลาลูกเรือและทีมของเรากลับไปพักผ่อน 48 ชั่วโมงงก่อนกลับมาทำงานใหม่อีกครั้ง ขณะเดียวกันก็เป็นความท้าทายอย่างยิ่งในการบอกให้มหาชนซึ่งคาดว่ามีมากถึง 5-7 แสนรายที่เฝ้ารอชมการส่งกระสวยอวกาศครั้งสุดท้ายกลับบ้านไปก่อน

ทั้งนี้ นาซามีช่วงเวลาที่ส่งกระสวยอวกาศได้ระหว่างวันที่ 8-10 ก.ค.นี้ หากไม่สามารถส่งได้ในช่วงนี้ต้องรอจนถึงวันที่ 16 ก.ค. เพราะในช่วงวันที่ 11-15 ก.ค.เป็นคิวของการส่งจรวดเดลตา 4 (Delta 4) จรวดพาณิชย์ซึ่งในกิจการของเอกชน

สำหรับลูกเรือที่จะเดินทางไปในเที่ยวสุดท้ายของแอตแลนติสนี้มีเพียง 4 คน ทั้งนี้ เพื่อเตรียมพร้อมในกรณีที่เกิดความเสียหายกับกระสวยอวกาศจนไม่สามารถกลับโลกได้ ลูกเรือจะได้โดยสารยานโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซียกลับโลก โดยลูกเรือในเที่ยวบินนี้เป็นชาย 3 คน และ หญิง 1 คน ได้แก่ คริส เฟอร์กูสัน (Chris Ferguson) ผู้บังคับการประจำเที่ยวบิน ดัก ฮัวร์เลย์ (Doug Hurley) นักบินประจำเที่ยว และผู้เชี่ยวชาญประจำเที่ยวบิน แซนดรา แมกนัส (Sandra Magnus) และ เรกซ์ วอเลม (Rex Walheim)



คลิปอธิบายความสำคัญของสภาพอากาศต่อการส่งกระสวยอวกาศ (นาซา)


แอตแลนติสจอดรอที่ฐานปล่อยจรวดรอเวลาปล่อย (รอยเตอร์)
สภาพอากาศที่ดูเหมือนไม่เป็นใจเหนือฐานปล่อยจรวด (รอยเตอร์)
ลูกเรือกระสวยอวกาศเที่ยวสุดท้าย (ซ้ายไปขวา) เรกซ์ วอเลม, ดัก ฮัวร์เลย์, คริส เฟอร์กูสัน และ แซนดรา แมกนัส (นาซา/สเปซไฟล์ทนาว)
กำลังโหลดความคิดเห็น