xs
xsm
sm
md
lg

“แอตแลนติส” แลนดิงปิดฉาก “ยุคกระสวยอวกาศ” ท่ามกลางความมืด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แอตแลนติสลงจอดท่ามกลางความมืด
“แอตแลนติส” ลงจอดท่ามกลางความมืดปิดฉาก “ยุดกระสวยอวกาศ” อย่างสวยงาม พร้อมกับการสิ้นสุดสัญญาว่าจ้างพนักงานในโครงการ 3,000 ราย แต่ต้องใช้เวลาอีก 2 ปี ปิดภารกิจทุกอย่างที่ดำเนินมานานกว่า 3 ทศวรรษ

ยานแอตแลนติส (Atlantis) กระสวยอวกาศที่ปฏิบัติหน้าที่เป็นลำสุดท้ายขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ลงจอดที่ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ฟลอริดา สหรัฐฯ เวลา 16.56 น.ของวันที่ 21 ก.ค.54 ตามเวลาประเทศไทย หลังปฏิบัติภารกิจนาน 13 วันในอวกาศ

ภารกิจสุดท้ายของแอตแลนติสคือการขนเสบียงขึ้นสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) พร้อมทั้งนำโมดูลราฟเฟลโล (Raffaello) ซึ่งใช้บนส่งเสบียงและติดตั้งชั่วคราวบนสถานีอวกาศกลับมายังโลก ซึ่งโมดูลดังกล่าวได้จุของที่ไม่เป็นที่ต้องการบนสถานีอวกาศราว 2.5 ตันกลับมายังโลกด้วย

การแลนดิงของยานแอตแลนติสครั้งนี้ยังเป็นการสิ้นสุดโครงการกระสวยอวกาศของนาซาที่ดำเนินมายาวนาน 30 ปี และในวันที่กระสวยลำสุดท้ายลงจอดนี้ยังเป็นวันสุดสัญญาว่าจ้างการทำงานของพนักงาน 3,000 ราย หาก แต่บีบีซีนิวส์รายงานว่า ต้องใช้เวลาอีกเดือนกว่าที่จะปิดโครงการได้อย่างเป็นทางการ และต้องใช้เวลาอีก 2 ปีเพื่อจบกิจกรรมทุกอย่างในโครงการนี้ ซึ่งรวมถึงการเก็บรวบรวมข้อมูลทางวิศวกรรมของกระสวยอวกาศ

นาซามีฝูงกระสวยอวกาศที่ใช้งานทั้งหมด 5 ลำ แต่ระเบิดระหว่างปฏิบัติภารกิจไป 2 ลำ คือ ยานชาเลนเจอร์ที่ระเบิดระหว่างทะยานขึ้นฟ้าได้เพียง 72 วินาที เมื่อปี 1986 และ ยานโคลัมเบียที่ระเบิดหลังกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกเมื่อปี 2003 เหลือกระสวยอวกาศให้ใช้งานต่อคือ แอตแลนติสและกระสวยอวกาศอีก 2 ลำที่ปลดระวางไปก่อนหน้านี้แล้วคือยานดิสคัฟเวอรี (Discovery) และยานเอนเดฟเวอร์ (Endeavour)

ในเที่ยวบินสุดท้ายของโครงการกระสวยอวกาศนาซานี้ แอตแลนติสได้ทำสถิติปฏิบัติภารกิจทั้งหมด 33 เที่ยวบิน ใช้เวลาอยู่ในอวกาศ 307 วัน โดยโคจรรอบโลก 4,848 รอบ รวมระยะทาง 202,673,974 กิโลเมตร หลังจากนี้แอตแลนติสจะถูกนำไปจัดแสดงที่ศูนย์เยี่ยมชมของศูนย์อวกาศเคนเนดี ส่วนดิสคัฟเวอรีจะถูกส่งไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศสมิทโซเนียน (Smithsonian Air & Space Museum) ในวอชิงตัน ดี.ซี. และเอนเดฟเวอร์จะถูกส่งไปจัดแสดงที่ศูนย์วิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย (California Science Center) ในลอสแองเจลิส

เมื่อไม่มีกระสวยอวกาศปฏิบัติการแล้วนาซาจะพึ่งพายานโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซียเพื่อขนส่งเสบียงและลูกเรือไปสถานีอวกาศหลังจากนี้อีกหลายปี จนกว่าเอกชนจะแข่งขันกันสร้างยานขนส่งอวกาศแล้วเสร็จ ซึ่งคาดว่าจะไม่เร็วไปกว่าปี 2015 ทั้งนี้ เอกชนที่สามารถขนส่งมนุษย์อวกาศได้เป็นรายแรกจะได้รับรางวัลเป็นธงชาติสหรัฐฯ ซึ่งนำขึ้นสู่อวกาศในเที่ยวบินแรกของกระสวยอวกาศ แล้วได้นำขึ้นสู่อวกาศอีกครั้งในภารกิจสุดท้ายของแอตแลนติสและขณะนี้ธงชาติดังกล่าวถูกเก็บไว้ที่สถานีอวกาศ
ด้านหลังยานแอตแลนติส
บรรยากาศในห้องควบคุม

ลูกเรือ 4 คนสุดท้าย (ชุดน้ำเงิน) แสดงตัวต่อสื่อหลังจากลงจอดอย่างปลอดภัย /center>




แอตแลนติสขณะลงจอด (Ben Cooper/Spaceflight Now)




แอตแลนติสขณะลงจอด (Ben Cooper/Spaceflight Now)




แอตแลนติสขณะลงจอด (Ben Cooper/Spaceflight Now)




แอตแลนติสขณะลงจอด (Ben Cooper/Spaceflight Now)




ภาพแอตแลนติสขณะกลับสู่พื้นโลก บันทึกโดยลูกเรือบนสถานีอวกาศนานาชาติ (เอพี/นาซา)




ลำเลียงแอตแลนติสไปเก็บ (เอพี)




ใกล้จะลงจอด (เอเอฟพี)




แอตแลนติสถูกนำกลับเข้าโรงเก็บ สิ้นสุดภารกิจกระสวยอวกาศ 30 ปี (เอเอฟพี)




แผนภาพแสดงการทำงานของกระสวยอวกาศแต่ละลำ ยานเอนเตอร์ไพรส์ (Enterprise) กระสวยอวกาศต้นแบบทดลองบินครั้งแรกเมื่อ 12 ส.ค.1977 โดยขี่บนหลังโบอิง 747 ยานชาเลนเจอร์ (Challenger) ปฏิบัติภารกิจ 10 เที่ยวบินและระเบิดระหว่างทะยานฟ้าเมื่อ 28 ม.ค.1983 ยานโคลัมเบีย (Columbia) ปฏิบัติภารกิจ 28 เที่ยวบินและระเบิดระหว่างกลับสู่บรรยากาศโลก 1 ก.พ.2003 ยานดิสคัฟเวอรี (Discovery) ปฏิบัติภารกิจ 39 เที่ยวบิน โดยสิ้นสุดเมื่อ 9 มี.ค.2011 เอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ปฏิบัติภารกิจ 25 เที่ยวบิน โดยสิ้นสุดภารกิจเมื่อ 16 พ.ค.2011 และแอตแลนติสรับหน้าที่กระสวยอวกาศลำสุดท้ายของนาซาปฏิบัติภารกิจ 33 เที่ยวบิน โดยสิ้นสุดภารกิจเมื่อ 8 ก.ค.2011
กำลังโหลดความคิดเห็น