xs
xsm
sm
md
lg

ปิดฉาก “ยุคกระสวยอวกาศ”

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แอตแลนติสทะยานฟ้าครั้งสุดท้ายปิดฉาก “ยุคกระสวยอวกาศ” (AFP)
การส่งกระสวยอวกาศครั้งสุดท้ายของนาซาผ่านไปได้ด้วยดี และเมื่อยาน “แอตแลนติส” แลนดิงกลับสู่โลกจะเป็นการปิดฉาก “ยุคกระสวยอวกาศ” ที่ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ และเป็นการเปิดตำนานการสำรวจอวกาศก้าวใหม่ที่ภาคเอกชนจะเข้ามามีส่วนร่วม

ทั้งนี้ องค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ได้ประกาศยุติการดำเนินโครงการกระสวยอวกาศภายในปี 2011 นี้ และได้ทยอยปลดระวางกระสวยอวกาศที่เหลืออยู่ไปก่อนหน้านี้แล้ว 2 ลำ คือ ยานดิสคัฟเวอรี (Discovery) และยานเอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ส่วนกระสวยอวกาศลำสุดท้ายที่นาซาได้ส่งขึ้นไปคือยานแอตแลนติส (Atlantis)

ส่งกระสวยอวกาศลำสุดท้าย
แอตแลนติสทะยานจากฐานปล่อยจรวด 39 เอ (39A) ของศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center) ในแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา เมื่อคืนวันที่ 8 ก.ค.2011 ตามเวลาประเทศไทย โดยมีภารกิจมุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศนานาชาติ (International Space Station: ISS) พร้อมกับลำเลียงลูกเรือ 4 คนและสัมภาระหนัก 3,600 กิโลกรัม ซึ่งรวมถึงเสบียงที่เพียงพอสำหรับใช้ชีวิตในอวกาศนาน 1 ปีขึ้นไปด้วย

หลังจากนั้นกระสวยอวกาศเที่ยวสุดท้ายของนาซาจะนำปั้มแอมโมเนียที่ใช้การไม่ได้จากสถานีอวกาศกลับมา และลงจอดที่ศูนย์อวกาศเคนเนดีในวันที่ 20 ก.ค.เมื่อครบกำหนดภารกิจ 12 วันบนอวกาศ แต่เอพีรายงานว่าเป็นไปได้ที่ภารกิจจะถูกยืดออกไปเป็น 13 วัน และทันทีที่แอตแลนติสสัมผัสรันเวย์ก็จะเป็นการปิดฉากโครงการกระสวยอวกาศอย่างสมบูรณ์ และคาดว่าเมื่อโครงการนี้สิ้นสุดจะสูญการจ้างไปกว่า 8,000 ตำแหน่ง

“เรายังไม่ยุติโครงการยานอวกาศที่ขับเคลื่อนโดยมนุษย์ เรากำลังทบทวนตัวเองต่อก้าวที่จำเป็นและยากลำบากในวันนี้ เพื่อรับรองความเหนือกว่าของอเมริกาในการสำรวจอวกาศโดยมนุษย์ในอีกหลายปีข้างหน้าที่จะมาถึง” ชารล์ส โบลเดน (Charles Bolden) ผู้อำนวยการนาซาแถลง และย้อนรำลึกถึงการสูญเสียเพื่อนดีๆ ไปในอุบัติเหตุกระสวยอวกาศระเบิด

หลังจากนี้ นาซาต้องพึ่งพายาน “โซยุซ” (Soyuz) แคปซูลอวกาศ 3 ที่นั่งของรัสเซียเพื่อมุ่งหน้าสู่สถานีอวกาศ โดยมีค่าใช้จ่ายตกที่นั่งละกว่า 1,500 ล้านบาท จนกว่าบริษัทเอกชนจะแข่งขันกันสร้างแคปซูลอวกาศที่มีประสิทธิภาพดีกว่ากระสวยอวกาศสำเร็จ และสามารถขนส่งมนุษย์อวกาศขึ้นสู่อวกาศอีกครั้ง ซึ่งคาดว่าไม่น่าจะเร็วกว่าปี 2015

ปลายทางกระสวยอวกาศอยู่ที่พิพิธภัณฑ์
ทั้งนี้ นาซามีกระสวยอวกาศที่ใช้ปฏิบัติภารกิจในอวกาศทั้งหมด 5 ลำ แต่ระเบิดไป 2 ลำ คือ ยานชาเลนเจอร์ (Challenger) ที่ระเบิดหลังทะยานขึ้นฟ้าได้เพียง 73 วินาทีในปี 1986 และยานโคลัมเบีย (Columbia) ที่ระเบิด หลังกลับสู่โลกเมื่อปี 2003 โดยมีผู้เสียชีวิตจาก 2 เหตุการณ์รวม 14 คน ซึ่งเอเอฟพีรายงานว่าเหตุขัดข้องทางเทคนิคและปัญหาด้านวัฒนธรรมความปลอดภัยในคนงานของนาซาถูกกล่าวโทษให้เป็นต้นตอของอุบัติเหตุ

สำหรับกระสวยอวกาศ 3 ลำที่เหลืออยู่เมื่อถูกปลดระวางแล้วจะถูกส่งไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ทั่วสหรัฐฯ โดยยานดิสคัฟเวอรีจะถูกส่งไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศสมิทโซเนียน (Smithsonian Air & Space Museum) ในวอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนยานเอนเดฟเวอร์กระสวยอวกาศน้องเล็กที่ถูกสร้างมาทดแทนยานชาเลนเจอร์จะถูกส่งไปจัดแสดงที่ศูนย์วิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย (California Science Center) ในลอสแองเจลิส ขณะที่ยานแอตแลนติสไม่ต้องไปไกลเพราะจะถูกจัดแสดงไว้ที่ศูนย์เยี่ยมชมของศูนย์อวกาศเคนเนดี ซึ่งเอพีระบุว่ากระสวยอวกาศกลายเป็นของจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ที่แพงกว่าภาพวาดใดๆ

นอกจากนี้นาซายังสร้างยานเอนเตอร์ไพรส์ (Enterprise) ขึ้นมาเป็นลำแรกในโครงการกระสวยอวกาศเพื่อทำการพิสูจน์ว่าแนวคิดกระสวยอวกาศนั้นใช้งานได้จริง และมีการขับยานลำนี้ทดสอบการบินและลงจอดทั้งหมด 16 ครั้ง ปัจจุบันกระสวยลำนี้จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์การบินและอวกาศสมิทโซเนียน เมื่อยานดิสคัฟเวอรีถูกนำไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์เดียวกัน ยานเอนเตอร์ไพรส์จะถูกส่งไปจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์อินเตอร์พิดซี แอร์ แอนด์สเปซ (Intrepid Sea, Air & Space Museum) ในนิวยอร์ก

3 ทศวรรษแห่งการทะยานฟ้า
โครงการกระสวยอวกาศนี้เอพีระบุว่า เริ่มต้นจากแนวคิดแผนสำรวจอวกาศตามลำดับ 3 ขั้น ซึ่งมีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่ดาวอังคาร โดย จอร์จ มูลเลอร์ (George Mueller) อดีตผู้บริหารระดับสูงของนาซาผู้ได้รับการขนานนามให้เป็นบิดาของโครงการกระสวยอวกาศกล่าวว่า นาซาจำเป็นต้องมีสถานีอวกาศที่เป็นจุดเริ่มต้นในการเดินทางไปถึงดาวอังคาร และการจะไปให้ถึงสถานีอวกาศนั้นนาซาต้องมีกระสวยอวกาศที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่อย่างสมบูรณ์

หากแต่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ อนุมัติให้สร้างเฉพาะกระสวยอวกาศเมื่อปี 1971 และต้องรอจนกระทั่งในปี 1998 จึงได้เริ่มสร้างสถานีอวกาศขึ้น แต่มูลเลอร์กล่าวว่าสิ่งที่แย่ที่สุดคือแผนในการทำให้ทุกชิ้นส่วนของกระสวยอวกาศสามารถนำกลับมาใช้ได้ใหม่ต้องหยุดชะงัก งบประมาณในการสร้างกระสวยอวกาศถูกหั่นลงตามคำสั่งจากทำเนียบขาว นั่นหมายถึงถังเชื้อเพลิงและจรวดบูสเตอร์จะถูกทิ้งลงทะเล หลังจากปล่อยขึ้นสู่ท้องฟ้า ซึ่งแม้ว่าจะประหยัดเงินได้ในช่วงแรก แต่กลายเป็นว่าได้เพิ่มค่าใช้จ่ายมหาศาลในการส่งกระสวยอวกาศแต่ละครั้ง

ปฏิบัติการส่งกระสวยอวกาศขึ้นสู่ฟ้าครั้งแรกในการส่งยานโคลัมเบียเมื่อวันที่ 12 เม.ย.1981 หลังจากรัสเซียได้ส่งมนุษย์คนแรกขึ้นสู่อวกาศแล้วถึง 20 ปี ทั้งนี้ นาซาได้ส่งกระสวยอวกาศทั้งหมด 135 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนี้มีภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ 37 ครั้ง โดยปฏิบัติการในโครงการกระสวยอวกาศได้ช่วยให้เกิดการค้นพบสำคัญๆ หลายครั้ง รวมทั้งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือในโครงการอวกาศระหว่างประเทศด้วย

เฉพาะยานแอตแลนติสซึ่งปฏิบัติภารกิจเป็นลำสุดท้ายในโครงการกระสวยอวกาศได้รับหน้าที่สำคัญมากมาย อาทิ ในยุคที่สหรัฐฯ และรัสเซียหันมาให้ความร่วมมือกันทางด้านอวกาศ กระสวยอวกาศลำนี้ได้เดินทางขึ้นไปยังสถานีอวกาศมีร์ (Mir) ถึง7 ครั้ง เพื่อลำเลียงเสบียงและขนส่งมนุษย์อวกาศของสหรัฐฯ ขึ้นไปปฏิบัติหน้าที่บนสถานีอวกาศ

เมื่อมาถึงโครงการสถานีอวกาศนานาชาติยานแอตแลนติสมีส่วนช่วยในการต่อเติมชิ้นส่วนสำคัญๆ หลายส่วน ทั้งโมดูลห้องปฏิบัติการของสหรัฐฯ ยุโรปและรัสเซีย รวมถึงติดตั้งอุปกรณ์ใหม่ให้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble Space Telescope) ในปฏิบัติการปรับปรุงและซ่อมบำรุงครั้งสุดท้าย ซึ่งนำไปสู่การค้นพบปรากฏการณ์ต่างๆ ในอวกาศ

ปิดฉากความล้มเหลว
อย่างไรก็ดี อาจกล่าวได้ว่าการยุติโครงการกระสวยอวกาศนี้คือการยุติโครงการอวกาศที่ล้มเหลวของสหรัฐฯ เพราะโครงการอวกาศที่เคยเสนอต่ออเมริกาว่าจะเป็นโครงการที่ปลอดภัยและราคาถูก กลับกลายเป็นโครงการที่อันตรายและมีค่าใช้จ่ายบานปลายไปจากที่เสนอไว้มากกว่าเท่าตัว โดยเบื้องต้นนาซาคำนวณค่าใช้จ่ายในโครงการไว้ประมาณ 2.7 ล้านล้านบาท แต่ค่าใช้จ่ายจริงกลับพุ่งสูงขึ้นไปมากกว่า 5.8 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ จากการวิเคราะห์ของเอพีพบว่าสหรัฐฯ ใช้จ่ายในโครงการนี้มากกว่าค่าใช้จ่ายในการสำรวจดวงจันทร์ โครงการระเบิดปรมาณู และโครงการขุดคลองปานามารวมกันเสียอีก และจำนวนเที่ยวบินสูงสุดที่โครงการนี้ทำได้คือ 9 เที่ยวใน 1 ปี ซึ่งห่างจากที่ตั้งเป้าไว้ปีละ 50 เที่ยวไปมากโข และการโคจรรอบโลก 20,830 รอบก็เป็นการวนอยู่บนเส้นทางและเป้าหมายเดิมๆ นอกจากนี้ยังสูญเสียกระสวยอวกาศไปในโศกนาฏกรรมถึง 2 ลำ ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบระยะทางกับจำนวนชีวิตที่ต้องสูญเสียแล้ว กระสวยอวกาศมีความเสี่ยงมากกว่าเครื่องบินโดยสาร 138 เท่า

ยานอวกาศในอนาคต
สำหรับยานสำรวจอวกาศต่อไปในอนาคตของนาซานั้นยังอยู่ระหว่างการพัฒนาของเอกชน โดยยาน “ดรีม เชสเซอร์” (Dream Chaser) ที่มีลักษณะคล้ายกระสวยอวกาศย่อส่วนของเซียร์รา เนวาดา คอร์ป (Sierra Nevada Corp.) เป็นหนึ่งในยานอวกาศที่อาจจะได้ขนส่งมนุษย์ขึ้นสู่อวกาศ โดยนาซาได้ให้งบกว่า 2,400 ล้านบาทแก่เอกชนรายนี้เพื่อพัฒนายานขนส่งอวกาศต่อไป ซึ่งปีหน้าจะมีการทดสอบส่งยานอวกาศของเอกชนรายนี้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ

นอกจากนี้ยังมีเอกชนอีก 3 รายที่ร่วมแข่งขันการพัฒนายานขนส่งอวกาศและได้รับทุนสนับสนุนจากนาซา คือ บลูออริจินออฟเคนท์ (Blue Origin of Kent) สเปซ เอกซ์พลอเรชัน เทคโนโลยี (Space Exploration Technologies) หรือสเปซเอกซ์ (SpaceX) และ โบอิง (Boeing) โดยสเปซเอกซ์เป็นเอกชนรายเดียวที่ได้ทดสอบส่งยานอวกาศขึ้นสู่วงโคจร ทั้งนี้ นาซาคาดหวังว่าเอกชนเหล่านี้จะพร้อมดำเนินโครงการขนส่งอวกาศในปี 2015

อ่านเพิ่มเติม

- โคลัมเบีย: กระสวยอวกาศทะยานสู่ฟ้าลำแรกของนาซา
- ดิสคัฟเวอรี: กระสวยอวกาศแห่งความหวังของนาซา

- ชาเลนเจอร์: กระสวยอวกาศที่ไม่อาจท้าทายแรงระเบิด
- แอตแลนติส: จากท่องวิจัยในมหาสมุทรสู่การค้นอวกาศ

- เอนเดเวอร์: ยานที่สั่งให้ทำภารกิจทดแทนชาเลนเจอร์
- เอนเตอร์ไพรส์: กระสวยทดสอบแนวคิดเดียวกับซีรีส์ “ไซ-ไฟ” เรื่องดัง

นักท่องเที่ยวถ่ายรูปหน้ายานแอตแลนติสซึ่งจอดรอที่ฐานปล่อยจรวดก่อนทะยานฟ้า (AFP)
มนุษย์อวกาศชุดสุดท้ายของกระสวยอวกาศ (AFP)
ศกนาฏกรรมยานชาเลนเจอร์ระเบิด
ภาพร่างยานดรากอนของสเปซเอกซ์ที่อาจจะเป็นยานขนส่งอวกาศรุ่นต่อไป (AFP)
ส่งกระสวยอวกาศขึ้นไปซ่อมบำรุงฮับเบิลครั้งแรกเมื่อปี 1993 (NASA)
ภาพมุมสูงขณะแอตแลนติสทะยานฟ้า (นาซา)
ยานแอตแลนติสจอดรอที่ฐานปล่อยจรวดก่อนทะยานฟ้า (AFP)
กำลังโหลดความคิดเห็น