xs
xsm
sm
md
lg

“แอตแลนติส” กระสวยอวกาศลำสุดท้ายทะยานฟ้าแล้ว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

แอตแลนติสทะยานฟ้า (ภาพจากวิดีโอ LiveStream ของสเปซไฟล์ทนาว)
กระสวยอวกาศลำสุดท้ายของนาซาทะยานฟ้าแล้ว ท่ามกลางสภาพอากาศที่เป็นใจ แม้พยากรณ์อากาศระบุว่าอากาศเอื้ออำนวยแค่ 30% เท่านั้น และเกิดเหตุขัดข้องในการนับถอยหลังอยู่ชั่วอึดใจก่อน “แอตแลนติส” จะทะยานฟ้าขึ้นไปอย่างสวยงาม

แอตแลนติส (Atlantis) ทะยานฟ้าจากฐานปล่อยจรวด 39 เอ (39A) ณ ศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Station) เวลา 22.29 น. วันที่ 8 ก.ค.2011 ตามเวลาประเทศไทย แม้พยากรณ์อวกาศจะระบุว่าสภาพอากาศเอื้ออำนวยเพียง 30% ก็ตาม และเป็นการส่งกระสวยอวกาศลำสุดท้ายขององค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) หลังจากดำเนินการมายาวนานร่วม 30 ปี

อย่างไรก็ดีระหว่างนับถอยหลังเพื่อส่งกระสวยอวกาศนั้น นาฬิกานับถอยหลังได้หยุดเดินที่เวลา 31 วินาทีอยู่ครู่หนึ่ง ซึ่งเป็นความผิดพลาดทางเทคนิคเล็กน้อย หลังแก้ปัญหาในเวลาไม่กี่วินาทีการนับถอยหลังได้เริ่มต้นอีกครั้ง

ทั้งนี้ ข้อมูลจากสเปซไฟล์ทนาว (SpaceFlightNow) ระบุว่า หลังจากยิงจรวดแล้วแอตแลนติสจะไต่ฟ้าขึ้นสู่อวกาศในเวลา 8 นาทีครึ่ง หลังจากนั้นอีกครึ่งชั่วโมงเครื่องยนต์แฝดจะจุดระเบิดเพื่อนำกระสวยอวกาศขึ้นไปยังตำแหน่งที่เหมาะสม และกระสวยอวกาศจะเชื่อมต่อกับสถานีอวกาศนานาชาติในวันอาทิตย์ที่ 10 ก.ค.2011 นี้

สำหรับลูกเรือเที่ยวสุดท้ายของแอตแลนติสเที่ยวบินนี้เป็นชาย 3 คน และ หญิง 1 คน ได้แก่ คริส เฟอร์กูสัน (Chris Ferguson) ผู้บังคับการประจำเที่ยวบิน ดัก ฮัวร์เลย์ (Doug Hurley) นักบินประจำเที่ยว และผู้เชี่ยวชาญประจำเที่ยวบิน แซนดรา แมกนัส (Sandra Magnus) และ เรกซ์ วอเลม (Rex Walheim)

ลูกเรือที่ร่วมเดินทางไปกับเที่ยวบินสุดท้ายของกระสวยอวกาศมีเพียง 4 คน เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดของยานโซยุซ (Soyuz) ของรัสเซีย ที่พวกเขาอาจต้องโดยสารกลับสู่พื้นโลกในกรณีที่ยานแอตแลนติสเสียหายและเสี่ยงอันตรายที่จะนำกลับ โดยการส่งกระสวยครั้งสุดท้ายของนาซานี้ ไม่มีกระสวยอวกาศสำรองที่จะรับหน้าที่นำลูกเรือกลับในกรณีฉุกเฉิน เนื่องจากกระสวยอวกาศ 2 คือ ดิสคัฟเวอรี (Discovery) และ เอนเดฟเวอร์ (Endeavour) ได้ปลดระวางไปก่อนหน้านี้แล้ว

เที่ยวบินนี้เป็นเที่ยวบินที่ 33 ของแอตแลนติส และเป็นเที่ยวบินที่ 135 ในการส่งกระสวยอวกาศของสหรัฐ โดยมีระยะเวลาปฏิบัติภารกิจ 12 วัน ซึ่งภารกิจหลักคือการขนส่งเสบียงและอะไหล่สำหรับสถานีอวกาศเป็นน้ำหนักรวม 4,318 กิโลกรัม และหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจแล้วกระสวยลำนี้และลำอื่นๆ จะถูกส่งไปจัดแสดงยังพิพิธภัณฑ์ทั่วสหรัฐฯ ส่วนแอตแลนติสจะจัดแสดงอยู่ที่ศูนย์เยี่ยมชมของศูนย์อวกาศเคนเนดี ซึ่งเป็นการปิดฉาก 3 ทศวรรษของยุคกระสวยอวกาศ และเป็นการเริ่มต้นสำรวจอวกาศด้วยเทคโนโลยีใหม่

หลังจากนี้ รอยเตอร์ระบุว่า นาซาต้องพึ่งพายานโซยุซของรัสเซียเพื่อส่งคนขึ้นไปสถานีอวกาศ โดยมีค่าใช้จ่ายมากกว่า 1,500 ล้านบาทต่อที่นั่ง และจะเป็นเช่นนี้ไปจนกว่าบริษัทเอกชนซึ่งมีสัญญากับองค์การอวกาศสหรัฐฯ จะสร้างยานอวกาศพาณิชย์สำเร็จ ซึ่งคาดว่าจะไม่เร็วไปกว่าปี 2015

ทั้งนี้มี 3 บริษัทที่ร่วมกันพัฒนายานขนส่งอวกาศคือ โบอิง (Boeing) สเปซเอกซ์โพลเรชันเทคโนโลยี (Space Exploration) หรือสเปซเอกซ์ (SpaceX) และ เซียรา เนวาดาคอร์ป (Sierra Nevada Corp) โดยโบอิงและสเปซเอกซ์นำเสนอยานอวกาศรูปแบบแคปซูลที่กลับสู่โลกโดยอาศัยร่มชูชีพ ไม่ใช่การร่อนลงจอดเหมือนกระสวยอวกาศ ส่วนเซียราเนวาดาคอร์ปออกแบบยานอวกาศที่มีปีกคล้ายกระสวยอวกาศชื่อ “ดรีม เชสเซอร์” (Dream Chaser) ทั้งหมดออกแบบให้สามารถบรรทุกนักบินอวกาศได้มากถึง 7 คนหรือขนส่งลูกเรือพร้อมทั้งเสบียงได้




แอตแลนติสทะยานจากฐานปล่อยจรวด (ภาพจาก LiveStream ของสเปซด็อมคอม)




แอตแลนติสทะยานจากฐานปล่อยจรวดของศูนย์อวกาศเคนเนดี แหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา สหรัฐฯ (ภาพจาก LiveStream ของสเปซด็อมคอม)




นาฬิกานับถอยหลังหยุดเดินที่เวลา 31 วินาที




จรวดจุดเครื่องยนต์ก่อนทะยานฟ้า (ภาพจาก LiveStream ของสเปซด็อมคอม)




ผู้คนจับจองพื้นที่เฝ้าชมการส่งกระสวยอวกาศครั้งสุดท้าย (เอพี)




เสื้อยืดที่ระลึกกระสวยอวกาศชุดสุดท้าย (เอพี)




ครอบครัวนี้ฝากข้อความถึงสมาชิกที่ไม่ได้มาร่วมชมการส่งกระสวยอวกาศครั้งสุดท้าย (Getty Image)
กำลังโหลดความคิดเห็น